xs
xsm
sm
md
lg

ปัจจัยความสำเร็จแก้จนจีน ทำเช่นไร ? / สังศิต พิริยะรังสรรค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





โลกตื่นตะลึงกับความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศจีนว่าทำได้อย่างไร? 
มีปัจจัยอะไรที่นำไปสู่ความสำเร็จ ? นั่นทำให้โลกตะวันตกขยี้ตาต่อความสำเร็จนี้ ..?!

คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้เดินทางไปศึกษาดูงาน “การแก้ปัญหาความยากจนที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงและมณฑลยูนนาน” ตั้งแต่วันที่ 21 - 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ก่อนการเดินทาง คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้ความรู้ ข้อมูลสำคัญต่อคณะที่จะเดินทาง ได้รับรู้เบื้องต้นว่า "ในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้นำของประเทศได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความยากจน โดยในปี ค.ศ. 2020 ครบรอบ 100 ปี ของสาธารณรัฐประชาชนจีน พวกเขาได้ประกาศความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนในประเทศได้สำเร็จ โดยมีประชากรชาวจีนจำนวน 800 ล้านคนพ้นสถานะความยากจน”

เพื่อให้มีการสะสมความรู้เรื่องเกี่ยวกับประเทศจีนให้มากยิ่งขึ้น หลังกลับจากจีนแล้ว คณะกรรมาธิการฯ ยังได้เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาสน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนมาให้ความรู้และข้อมูลเพิ่มเติมในที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

1. กระชับอำนาจ "เศรษฐกิจจีน" ในวาระที่ 3 ของการบริหารและปกครองสาธารณรัฐประชาชนจีน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้จัดระเบียบด้านเศรษฐกิจ เน้นเสถียรภาพและความสมดุลด้วยการกระชับอำนาจ จัดระเบียบบริษัทเอกชนที่หาผลกำไรเกินควรจากสังคม จัดระเบียบพฤติกรรมคนในสังคม ลดอิทธิพลสื่อออนไลน์ ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา ตลอดจนกระตุ้นให้ผู้มีรายได้สูงช่วยเหลือสังคม ซึ่งรัฐบาลใช้นโยบายการเมืองนำเศรษฐกิจ (Neo- Authoritarianism) มุ่งเน้นประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและการเปิดตลาดแบบเสรี ตลอดจนสนับสนุนผู้ประกอบการเอกชน ซึ่งจะมีบุคลากรของรัฐบาลคอยกำกับดูแลอยู่ในกลไกภาคธุรกิจทั้งหลายด้วย

สำหรับการดำเนินงานข้างต้นได้ต้องอาศัยระบบการเมืองที่เข้มแข็งเป็นเอกภาพ มีการรวมศูนย์อำนาจจึงจะสามารถผลักดันการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจด้วยระบบดังกล่าวได้สำเร็จ ทำให้ในปี ค.ศ. 2023 เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี ภายหลังจากผ่านพ้นช่วงวิกฤตของการเกิดโรคระบาดจากไวรัสโคโรน่า รัฐบาลจีนได้ดำเนินการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ มุ่งเน้นความมั่นคง ไม่มุ่งเน้นการเติบโตเพียงอย่างเดียว ด้วยการใช้โมเดล “สีโนมิกส์” (Xinomics) 14 ข้อ และที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความยากจนที่สำคัญได้แก่

1 ) ด้านการขจัดความยากจนและสร้างสังคมพอกินพอใช้รอบด้านหรือสังคมเสี่ยวคัง (Xiao Kang)

2) ด้านการพัฒนาชนบทให้เป็นเมือง (Urbanization)

3) ด้านการกระตุ้นให้ประชาชนได้ประกอบอาชีพมีรายได้ ไม่รอคอยการช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว ไม่มุ่งเน้นรัฐสวัสดิการแบบประเทศยุโรปตะวันตก

2. ถอดบทเรียน "แก้จนแบบจีน" : ด้วยแนวทาง 2D 3M รัฐบาลจีนได้ดำเนินการแก้ปัญหาความยากจนด้วยการทำให้ประชาชนในชนบทที่ยากจนจำนวน 98.99 ล้านคนของประเทศ ให้มีรายได้อยู่ที่ 2.30 ดอลล่าห์สหรัฐต่อวัน ซึ่งสูงกว่าเส้นความยากจนต่ำสุดที่ธนาคารโลกได้กำหนดไว้ได้สำเร็จ โดยการขับเคลื่อนนโยบายแก้จนแบบตรงจุด ภายใต้แนวคิด "2 ไม่กังวล 3 หลักประกัน"

"2 ไม่กังวล"คือ ไม่กังวลเรื่องอาหาร และไม่กังวลเรื่องเครื่องนุ่งห่ม

ส่วน "3 หลักประกัน" ได้แก่ 1) มีหลักประกันในที่อยู่อาศัย 2) มีหลักประกันด้านสุขภาพ และ 3) มีหลักประกันด้านการศึกษา

สำหรับนโยบายตามแนวทาง 2D 3Mในการแก้ปัญหาความยากจนของจีน มีความหมายดังนี้

1) Direction คือ ผู้นำลงมือทำจริงจังและมีทิศทางชัดเจน

2) Data คือ สำรวจข้อมูลทั่วประเทศอย่างถูกต้องแม่นยำและวิเคราะห์ฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ

ส่วน 3 M หมายถึง 1) Man คือ มอบหมายบุคลากรไปแก้ปัญหาอย่างมุ่งมั่น มีความเป็นเอกภาพของระบบ และสามารถตรวจชี้วัดผลงานได้จริง 2) Money คือ ทุ่มงบประมาณไปแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและโปร่งใส และ 3) Materials คือการจัดสรรทรัพยากรจากทุกภาคส่วนไปร่วมกันแก้ปัญหา ไม่ใช่เพียงแค่ภาครัฐ

ระบบแก้จนของจีนได้ดำเนินการจัดตั้งสภาแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลและเยียวยาขจัดความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม แก้ปัญหาความยากจนตามสภาพความเป็นจริงของปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งปรับให้เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น จากการดำเนินการแก้ปัญหาความยากจนของจังหวัด ทำให้ประเทศไทยได้เรียนรู้ว่าการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ฐานข้อมูลที่แม่นยำ การแก้ปัญหาให้ตรงจุด และการมีเอกภาพของระบบทำให้การแก้ปัญหาความยากจนเป็นไปได้

ถึงแม้ว่าการขจัดความยากจนของจีนทั่วทั้งประเทศจะประสบความสำเร็จแล้ว แต่รัฐบาลจีนยังคงดำเนินการพัฒนา และจับตาเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้มีครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งในประเทศจีนกลับมายากจนอีกครั้ง ด้วยการนำโมเดลสิโนมิกส์ (Xinomics) ซึ่งในรูปแบบโมเดลดังกล่าวนี้มีจุดเด่น คือมุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำ ผลักดันแนวคิด ”ความรุ่งเรืองร่วมกัน” เพื่อลดช่องว่างทางรายได้ ภายใต้คำจำกัดความที่กล่าวว่า "จากยุค ใครรวยได้รวยก่อน สู่ยุค รวยแล้วต้องแบ่งปัน" ทำให้สังคมของจังหวัดเกิดปรากฎการณ์กลุ่มทุนภาคเอกชน และภาคธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มีรายได้ และผู้ประกอบการจำนวนมากหันช่วยเหลือสังคมเพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน และเป็นการแสดงออกถึงการรักชาติของกลุ่มคนจีน


3. ผู้นำแบบสีจิ้นผิง : กรณีศึกษา

- การปรับโครงสร้างบริหาร/การกระชับอำนาจ

- การปลูกฝังความรักชาติ

- วิธีการจัดการข่าวปลอม สื่อออนไลน์ต่างๆ

จากการศึกษาพบว่าการที่ประเทศจีนมีการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ภายใต้ผู้นำประเทศ คือ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งมีแนวคิดสังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์ความเป็นชนชาติจีนอย่างชัดเจน แนวคิดดังกล่าวนี้ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชาชนจีน

โดยสีจิ้นผิงได้มีการปฏิรูปกลไกระบบราชการ ด้วยการรวมศูนย์อำนาจเพื่อกำกับดูแลเอง ในการปลูกฝังความรักชาติให้แก่ประชาชน ในยุครัฐบาลสีจิ้นผิงมีการปลุกกระแสความรักชาติ ซึ่งรัฐบาลจีนไม่สร้างความสับสนให้แก่ประชาชน เพราะสื่อไม่นำเสนอข่าวที่ทำให้เกิดวิกฤติความศรัทธา และประชาชนจีนต้องไม่แตกแยกกันเอง ตลอดจนตัวสีจิ้นผิงเองเป็นผู้นำที่มีทัศนคติที่เชื่อในความยิ่งใหญ่ของจีน ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกันกับประชาชนคนจีนที่มองว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของโลกมาแต่ครั้งโบราณ ดังนั้นสีจึงมีความชอบธรรมที่จะขับเคลื่อนประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และประเทศจีนให้ยิ่งใหญ่และเติบโตต่อไปได้

การที่ประเทศจีนสามารถ “ขจัดความยากจน” ออกจากสังคมจีนได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ณ เวลานี้ได้ ผมเห็นว่า

ประการแรก เป็นเพราะพวกเขามีภูมิปัญญาและมีความกล้าหาญเป็นอย่างมาก

พวกเขากล้าแตกหักกับประเพณีในการคิดเรื่อง ทฤษฎีการแก้ความยากจนแบบตะวันตกที่ครอบงำโลกมาเป็นเวลาช้านานแล้ว แต่ก็ไม่สามารถแก้ความยากจนให้ตกไปได้จริง รัฐบาลในโลกจำนวนมากยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางความคิดในเรื่องการแก้ความยากจนของตะวันตก และยังคงวนเวียนอยู่กับการหาทางออกไม่ได้

ชาวจีนได้สลัดมายาคติเรื่องทฤษฎีแก้ความยากจนของตะวันตกออกไป และสร้างทฤษฎีแก้ปัญหาความยากจนของตนเองขึ้นได้เป็นผลสำเร็จ

จากการศึกษาผมพบว่าคนจีนได้สร้างทฤษฎีใหม่ และโมเดลแก้จนจำนวนมาก และยังสร้างสรรค์นวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านสังคมอีกจำนวนมากมายขึ้นมาในระหว่างการต่อสู้กับปัญหาความยากจน ทฤษฎี โมเดล และนวัตกรรมเหล่านี้นับเป็นคุณูปการไม่เพียงต่อชาวจีนจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติโดยส่วนรวมอีกด้วย

สิ่งที่ชาวจีนคิดและลงมือปฏิบัติในการแก้ปัญหาความยากจน เป็นการตอบปัญหาจำนวนมากในทางทฤษฎี ที่นักวิชาการตะวันตกไม่สามารถหาคำตอบได้มาช้านานแล้ว

มีคำกล่าวของคนจีนที่ว่า “คิดหนึ่งส่วน แต่ทำเก้าส่วน” นั่นคือปรัชญาเบื้องหลังในการทำงานของพวกเขา นั่นคือปรัชญาที่เน้นการปฎิบัติ เป็นปรัชญาที่ทำได้จริง แต่ปรัชญาของจีนนั้นเป็นปรัชญาที่ไม่เพียงแต่อธิบายโลกและสังคมได้เท่านั้น แต่มันยังสามารถเปลี่ยนแปลงโลกและสังคมให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ด้วย ปรัชญาของพวกเขาจึงแตกต่างจากสำนักปรัชญาของตะวันตกส่วนใหญ่ที่มิได้เน้นการปฏิบัติแต่อย่างใด

ประการที่สอง มีคำกล่าวของชาวจีนที่ใช้ในการค้นคว้าหาความรู้ว่า “ค้นหาสัจจะจากความเป็นจริง” 

คำกล่าวนี้มีความหมายว่า ในการแก้ปัญหาให้เริ่มต้นจากความเป็นจริง ไม่ใช่เริ่มต้นจากแนวคิดหรือทฤษฎีหรือจากตำรับตำราที่เขียนเอาไว้ จากหลักคิดแบบนี้ทำให้พวกเขาสามารถสร้างทฤษฎีและโมเดลในการแก้ปัญหาความยากจนในแต่ละพื้นที่ๆ มีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันได้สำเร็จ

สภาพทางภูมิศาสตร์ที่เกิดจากการคมนาคมที่ไม่สะดวก เงื่อนไขและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ไม่ดี สภาพแวดล้อมที่หนาวจัด สภาพแวดล้อมที่มีพายุทะเลทรายเป็นประจำ สภาพแวดล้อมที่มีแต่ภูเขาและไม่มีพื้นที่สำหรับทำการเกษตร สภาพแวดล้อมของประชาชนที่รอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาล คอยแต่เรียกร้องความต้องการจากรัฐบาลโดยไม่พยายามพึ่งตนเอง สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันเหล่านี้ หากใช้แนวคิดทฤษฎีแบบตะวันตกที่เป็นมาตรฐานเดียว แต่ใช้ครอบคลุมกับสภาพความเป็นจริงที่แตกต่างกันอย่างหลากหลาย ย่อมจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ตกไปได้

สภาพทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันอย่างหลากหลาย ได้สร้างแบบจำลองจำนวนมากขึ้นมาในการแก้ปัญหาความยากจน ตั้งแต่รูปแบบของการร่วมมือกันระหว่างภาคธุรกิจเอกชนกับสหกรณ์และเกษตรกรที่ยากจน รูปแบบการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล ธุรกิจเอกชน ธุรกิจเทคโนโลยี และเกษตรกร หรือรูปแบบของพรรคคอมมิวนิสต์ในระดับสาขา กับธุรกิจเอกชน สหกรณ์และเกษตรกรที่ยากจน เป็นต้น โมเดลที่แตกต่างกันอย่างหลากหลาย แต่กลับประสบความสำเร็จได้ในแต่ละพื้นที่ ชี้ให้เห็นว่าการแก้ปัญหาความยากจนของแต่ละพื้นที่นั้น “ต้องเริ่มต้นจากความเป็นจริง” ของพื้นที่นั้นๆ และจำเป็นต้องอาศัยพลังทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองใดบ้างในการกำหนดกลยุทธ์เพื่อเอาชนะความยากจนในพื้นที่นั้น และ

ประการที่สาม การมีทรัพยากรบุคคลที่ทุ่มเทเสียสละเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง 

ผมพบว่าการแก้ปัญหาความยากจนของจีนนั้น ได้ใช้ทั้งเครื่องมือทางเศรษฐกิจ การตลาด กลไกทางสังคม ทางวัฒนธรรม และทางอุดมการณ์

บุคลากรของจีนทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนต่างถูกหลอมรวมด้วยความคิดและจิตสำนึกรักชาติและรักประชาชนอย่างลึกซึ้ง

การหลอมรวมของสังคมแบบนี้ช่วยให้สังคมของจีนมีบุคลากรที่มีจิตใจที่ดีงามอยู่เป็นจำนวนมากมาย ที่พร้อมจะเสียสละตนเองเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติและประชาชน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและพฤติสร้างอารยธรรมใหม่ของโลกขึ้นมา การมีบุคลากรแบบนี้เป็นจำนวนมากในประเทศ เป็นข้อได้เปรียบของประเทศจีนอย่างเห็นได้ชัด

บทความโดย สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา


กำลังโหลดความคิดเห็น