xs
xsm
sm
md
lg

UNGCNT ชี้ภาคธุรกิจร่วมขับเคลื่อน SDG ดันไทยครองที่ 1 อาเซียน 5 ปีซ้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact) ย้ำผลคะแนน SDG Index ปีนี้ไทยได้ 74.7 คะแนน ครองอันดับ 1 ในอาเซียน ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 เป็นผลจากภาครัฐและเอกชนธุรกิจร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นรูปธรรม ทั้งกำหนดเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศ เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการพัฒนาประเทศในทุกระดับ ชี้ภาคธุรกิจเป็นผู้นำร่วมขับเคลื่อน SDGs ข้อ 4 6 7 12
 

นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand) เปิดเผยว่า SDGs Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ได้เผยแพร่ “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน” ประจำปี 2566 (Sustainable Development Report) ซึ่งถือว่าเป็นการรายงานผลที่ให้ข้อมูลสถานการณ์ SDGs ที่เป็นปัจจุบันที่สุดอย่างต่อเนื่อง และเป็นการจัดอันดับผลการดำเนินงานด้าน SDGs ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก โดยเปิดเผยการจัดอันดับ SDG Index ระดับโลกในปีนี้ ซึ่งมีประเทศที่ถูกจัดอันดับทั้งสิ้น 166 ประเทศ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่อันดับ 43 ของโลก ขยับดีขึ้น 1 อันดับจากปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 44 ได้คะแนนรวม 74.7 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเพียง 0.6 คะแนน อย่างไรก็ดี ยังถือว่าสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ซึ่งอยู่ที่ 67.2 คะแนน หากเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน พบว่าประเทศไทยยังครองอันดับ 1 เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน (2562 – 2566) ตามมาด้วย เวียดนาม (อันดับ 55) สิงคโปร์ (อันดับ 64) อินโดนีเซีย (อันดับ 75) มาเลเซีย (อันดับ 78)  ฟิลิปปินส์ (อันดับ 98) บรูไนดารุซซาลาม (อันดับ 102) กัมพูชา (อันดับ 103) ลาว (อันดับ 115) และเมียนมา (อันดับ 125)
 

ทั้งนี้ หากพิจารณาสถานะรายเป้าหมายเทียบของไทยในปีนี้กับปี 2565 มีข้อค้นพบที่น่าสนใจ คือ ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเป้าหมาย คือ SDG4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) เป้าหมายที่มีสถานะท้าทาย  มีทั้งสิ้น 10 เป้าหมายเท่ากับปี 2565 ได้แก่ SDG5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) SDG6 (น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล) SDG7 (พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้) SDG8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) SDG9 (โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม) SDG10 (ลดความเหลื่อมล้ำ) SDG11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) SDG12 (การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน) SDG13 (การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) และ SDG17 (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) และเป้าหมายที่มีสถานะท้าทายมาก มีทั้งสิ้น 5 เป้าหมายเท่ากับปี 2565 ได้แก่ SDG2 (ขจัดความหิวโหย) SDG3 (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) SDG14 (ทรัพยากรทางทะเล) SDG15 (ระบบนิเวศบนบก) และSDG16 (สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง)

นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand)
ผู้อำนวยการ UNGCNT ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยกำหนดให้ความยั่งยืนเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศ และเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ20 ปี และแผนการพัฒนาประเทศในทุกระดับ จากการทำงานร่วมกับองค์กรสมาชิก UNGCNT มากกว่า 100 องค์กรธุรกิจ ยังมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าภาคธุรกิจเองก็มีบทบาทสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ และ SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น

-SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ การให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา โดยมีความร่วมมือกับภาครัฐและสถานศึกษา โดยเฉพาะในพื้นที่ดำเนินธุรกิจ และมีการส่งพนักงานกลับมาช่วยบ้านเกิดของตนในลักษณะผู้จัดการโครงการต่างๆ เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาในชุมชนท้องถิ่นของเขา ต่อยอดคุณภาพชีวิตควบคู่กับพัฒนาธุรกิจ

-SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล การใช้ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์และอ้างอิงธรรมชาติมาแก้ไขปัญหา มีเครื่องมือเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชน จัดทำโครงการศึกษาระบบธนาคารน้ำใต้ดินมาใช้ในธุรกิจเกษตรกรรมที่มีชาวไร่ชาวนากว่า 20,000 ครัวเรือนได้ประโยชน์จากการบริหารจัดการน้ำมาใช้ในยามน้ำแล้ง

-SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ การสร้างความยั่งยืนจากการใช้พลังงานในการประกอบกิจการขององค์กรที่ใช้ต้นทางพลังงานจากแสงแดด พลังงานลม พลังงานจากน้ำ จนสามารถลดการพึ่งพาถ่านหิน มีหลายธุรกิจที่เลือกออกจากถ่านหินได้ 100% แล้ว และหลายธุรกิจที่ตั้งเป้าหมายที่จะใช้พลังงานทางเลือก (Renewable Energy) เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

-SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน การได้ประยุกต์ BCG (Bio-Circular-Green Economy) มาจับคู่กับ SDGs โดยนำหลักคิดการออกแบบหมุนเวียนมาเป็นหลักการในการออกแบบธุรกิจใหม่ที่ลดการพึ่งพาวัตถุดิบใหม่ลงกว่า 20% ลดการใช้พลาสติกและเคมี รวมถึงการปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิต การออกแบบที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปฏิเสธการใช้บรรจุภัณฑ์มีผลต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างขยะได้ถึง 80%

ทั้งนี้ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs ประกอบด้วย 3 ใจความสำคัญ คือ Sustainable (มีความยั่งยืน) Inclusive (ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง) Resilience (ตั้งรับปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง) และสิ่งที่ลืมไม่ได้ โดยเฉพาะในบริบทของสังคมไทยก็คือ SDGs ที่ตั้งอยู่ในหลักการสิทธิมนุษยชนสากล โดย SDGs ไม่ใช่แค่เป้าหมาย แต่เป็นเครื่องมือการพัฒนาที่ใช้ร่วมกันได้ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม และใช้ร่วมกันทั่วโลก ตั้งแต่ระดับระดับท้องถิ่น จนถึงระดับนานาชาติ ดังเช่น สมาชิก UN Global Compact ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจชั้นนำด้านเกษตร อาหาร พลังงาน การเงิน เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม มากกว่า 125 องค์กร ที่มีเป้าหมายเดียวกันในการขับเคลื่อน SDGs ตลอดมา ไม่ว่าจะเป็น การประกาศเจตนารมณ์ร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายใน ค.ศ. 2050 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน ค.ศ. 2070 และการหาทางออกเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเร่งมาตรการเพื่อ ปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปกป้องคุ้มครองพื้นที่บนบกและทะเล ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่ภายในปี 2030


กำลังโหลดความคิดเห็น