DITTO เดินหน้า "โครงการป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต" ระบุชุมชนป่าชายเลนเข้าร่วมอีกกว่า 6 หมื่นไร่ เผยยอดรวมพื้นที่โครงการฯ ได้ตามเป้า 1 แสนไร่ พร้อมใช้งบฯ กว่า 10 ล้าน สนับสนุนทุนดูแลชุมชนละ 2 แสนบาท รวม 53 ชุมชน
นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการปลูกป่าเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต บริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยโดยมี DITTO ถือหุ้น 100% เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ปลูกและดูแลรักษาป่าชายเลนเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต ระยะเวลา 30 ปี
ล่าสุดบริษัทได้รับสิทธิ์ดูแลพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มอีกจำนวน 62,781.72 ไร่ จาก 39 ชุมชนในพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัด นครศรีธรรมราช สตูล ตรัง กระบี่ พังงา ระนอง สุราษฏร์ธานีและชุมพร จากเดิม DITTO มีพื้นที่ปลูกป่าชายแลนทั้งในส่วนของทางบริษัทได้รับสิทธิ์โดยตรงและร่วมกับชุมชน รวมทั้งสิ้น 48,166.75 ไร่ โดยในส่วนที่ได้รับสิทธิ์ในนามสยามทีซีเทคโนโลยี นั้นเป็นป่าชายเลนที่ต้องปลูกใหม่จำนวน 21,658.19 ไร่ และได้รับสิทธิ์ดูแลป่าชายเลนซึ่งมีสภาพป่าอยู่แล้วร่วมกับชุมชน อีก14 ชุมชนในจังหวัดกระบี่และจังหวัดพังงา จำนวน 26,508-2-22 ไร่
ดังนั้น เมื่อรวมกับพื้นที่ป่าชุมชนที่เข้าร่วมโครงการใหม่ อีกจำนวน 62,781.72 ไร่ ทำให้ DITTO ได้รับสิทธิ์ดูแลพื้นที่ป่าชายแลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต รวมทั้งสิ้น 110,948.47 ไร่ ซึ่งบรรลุตามเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ 1 แสนไร่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในการเข้าร่วมโครงการของชุมชนนั้น ทาง DITTO ได้ให้การสนับสนุนในด้านงบประมาณและเทคโนโลยีในการบริหารจัดการและดูแลรักษาป่าเพื่อให้ป่ามีความสมบูรณ์และยังจะให้การสนับสนุนชุมชนในด้านอื่นๆอีกด้วย เมื่อเร็วๆ นี้ ทางผู้บริหารของ DITTO ได้มอบทุนให้กับชุมชนที่เข้าร่วมโครงการรุ่นแรก 14 ชุมชนๆ ละ 2 แสนบาท รวมเป็นเงิน 2.8 ล้านบาท
นายฐกร กล่าวอีกว่า เนื่องจากในวันที่ 26 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันสากลเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลน ทางผู้บริหาร DITTO ได้เข้าร่วมงานพร้อมทั้งมอบทุนให้กับชุมชนที่เข้าร่วมโครงการใหม่ อีก 39 ชุมชนๆ ละ 2 แสนบาท รวมเป็นเงิน 7.8 ล้านบาท รวมเงินสนับสนุนให้กับชุมชนที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 53 ชุมชนเป็นเงิน กว่า 10 ล้านบาท เพื่อให้ชุมชนนำไปใช้ในกิจกรรมดูแลรักษาป่าต่อไป
“สำหรับความคืบหน้าโครงการนั้น ขณะนี้บริษัทได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. แล้ว และในระหว่างนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำเอกสารต่างๆ เพื่อเข้าร่วมโครงการ Premium T-VER ซึ่งเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานขั้นสูงสุดของประเทศไทย”
นายฐกร กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องเตรียมการปลูก มีความคืบหน้าไปมาก โดยได้ทยอยนำกล้าที่เพาะไว้ไปปลูกในพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติแล้วทั้ง 17 จังหวัด ส่วนความคืบหน้าในการออกโทเคน เพื่อเป็นเครื่องมือในการระดมทุนนำมาใช้กับโครงการปลูกป่าและดูแลรักษาป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตนั้น ทาง DITTO ได้เซ็นสัญญาแต่งตั้งบริษัท โทเคน เอ็กซ์ ในเครือ เอสซีบี เป็นผู้ดำเนินการ ขณะนี้ มีผู้สนใจติดต่อสอบถามเข้ามาจำนวนมาก คาดว่าต้นปี 2567 จะเปิดให้ผู้สนใจจะเข้ามาลงทุนในเหรียญโทเคนได้
“หลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คาดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการนำร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเสนอเข้า ครม.พิจารณาและนำเสนอต่อรัฐสภาออกเป็นกฏหมายบังคับใช้ต่อไป เพื่อรองรับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศระดับประเทศและระดับนานาชาติ พร้อมทั้งรองรับการตั้งกำแพงภาษีของประเทศผู้นำเข้า เช่น CBAM ของสหภาพยุโรป ที่จะส่งผลกระทบกับผู้ส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศดังกล่าวให้สามารถปรับตัวได้ทันสถานการณ์” นายฐกร กล่าว
ทั้งนี้ ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับภาคีชุมชนชายฝั่งเครือข่ายพันธมิตรและจังหวัดกระบี่ จัดกิจกรรม ”วันสากลเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลนหรือ”วันป่าชายเลนโลก ประจำปี พ.ศ.2566” โดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นบุคลที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันการแก้ปัญหาโลกร้อนและเป็นผู้ให้ความสำคัญเรื่องป่าชายเลน มาเป็นประธานในพิธี และนายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยนายนายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาการแทนอธิบดี และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานในครั้งนี้