xs
xsm
sm
md
lg

ทีเอ็มบีธนชาต-ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หนุนธุรกิจไทย “เรียนรู้-ปรับตัว-สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ซ้ายสุด) นายยงยุทธ เสฎฐวิวรรธน์ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป และนายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ทีเอ็มบีธนชาต (คนกลาง)
เมื่อเร็วๆ นี้ ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี จัดเสวนาพิเศษ Empower Business towards Environmental Sustainability เพื่อตอกย้ำทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงความสำคัญและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเร่งปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดรับกับ ESG โดยมี บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ร่วมพูดคุยถึงวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และการปรับตัวเพื่อก้าวสู่ความเป็น Blue Finance

สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่นับวันจะส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้น ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้ทั่วโลกผนึกกำลังร่วมกันหาสมดุล เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน โดยมี ESG เป็นตัวขับเคลื่อน นำมาสู่กติกาใหม่ของโลกในหลายด้าน


นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า “ESG คือ วิธีการบริหารธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งมีมานานแล้ว โดยในอดีตอยู่ในรูปแบบของการขอความร่วมมือ แต่ปัจจุบันเริ่มมีไม้แข็งจากกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มาบังคับใช้ หากไม่ปฏิบัติตามก็อาจจะทำการค้าขายกับประเทศที่ออกกฎไม่ได้ โดยยุโรปถือเป็นแนวหน้าออกมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) สินค้ากลุ่มแรก เช่น เหล็ก อลูมิเนียม ปุ๋ย และซีเมนต์ และสหรัฐฯ ที่เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยก็กำลังพิจารณากฎหมายที่มีแนวคิดเดียวกับ CBAM คาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2567 ส่วนประเทศไทยก็มีการออกมาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย (Thailand Taxonomy) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้กระแส ESG ปรับตัวเร็วขึ้น”

วันนี้เรื่องของ ESG ได้ขยายวงกว้างออกไป ลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจ และพนักงานก็ได้ให้ความสำคัญอย่างสูงเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกาได้ทำการสำรวจและพบว่ามีลูกค้ามากถึง 60% ยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพนักงานมากกว่า 80%รู้สึกภูมิใจและอยากทำงานกับบริษัทที่มีจุดยืนด้าน ESG สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าคนในสังคมเริ่มตื่นรู้และตระหนักว่าถ้าไม่เริ่มเปลี่ยนแปลง และไม่เปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงสังคมจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายจะวกกลับมากระทบกับธุรกิจ ดังนั้น ESG จึงไม่ใช่แค่กระแสอย่างแน่นอน และไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ แต่เป็นวิถีใหม่ที่เป็นประโยชน์กับทุกคนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ttb ผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนปี 2565
แม้ธุรกิจธนาคารจะเป็นธุรกิจที่สร้างก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างน้อย แต่ในฐานะผู้ปล่อยกู้ให้กับทุกอุตสาหกรรม หน้าที่ของทีทีบี คือ การสนับสนุน (Empower) ให้ผู้ประกอบการเติบโตได้อย่างยั่งยืน ผ่าน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 

1. สร้างความตื่นรู้ โดยการให้คำปรึกษาและเพิ่มองค์ความรู้เชิงลึกต่อการทำธุรกิจในวิถีนี้ อาทิ โครงการ finbiz by ttb ที่เป็นศูนย์กลางความรู้ให้ผู้ประกอบการในทุกแพลตฟอร์ม มีเนื้อหาในเรื่องความท้าทายของผู้ประกอบการ รวมถึงเรื่อง ESG และหลักสูตร LEAN for Sustainable Growth by ttb ให้องค์ความรู้ผ่านการจัดอบรมมาตลอดกว่า 10 ปี ซึ่งได้เริ่มนำหัวข้อ ESG เข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร 

2. สร้างแรงจูงใจและสนับสนุนโครงการที่มุ่งเน้นในเรื่อง ESG เช่น การปล่อยสินเชื่ออาคารสีเขียวที่ได้รับการรับรองว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง โครงการสนับสนุนให้ลูกค้าเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น โดยทีทีบีเชื่อว่าการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบผ่านโครงการดี ๆ จะสร้างผลกระทบให้กับสังคมได้ สุดท้ายก็จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเติบโตอย่างยั่งยืน

นายศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทีทีบี มุ่งมั่นขับเคลื่อนสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน(Sustainable Banking) ตามหลัก ESG ที่เป็นอีกหน้าที่ของธนาคารที่ต้องการให้การสนับสนุนลูกค้า คู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ และสังคมให้สามารถดำเนินชีวิตและธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป เพราะธนาคารเชื่อว่าเรื่องของการดำเนินธุรกิจและความยั่งยืนไม่สามารถแยกออกจากกันได้”


ในมุมของผู้ประกอบการ นายยงยุทธ เสฎฐวิวรรธน์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการบริหารการเงินกลุ่มและศูนย์บริการร่วมทางการเงิน บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป เล่าถึงจุดเปลี่ยนและการปรับตัวว่า ในปี 2557 ประเทศไทยถูก Trafficking in Persons Report (TIP) จัดอันดับให้อยู่ใน Tier 3 ในเรื่องการดูแลแรงงานและสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของแรงงาน ส่งผลให้สินค้าที่มาจากประเทศไทยเผชิญปัญหาส่งออกไปยังประเทศฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และปีถัดมา 2558 ก็เจอปัญหาการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing) ของสหภาพยุโรปถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมแต่รวมถึงประเทศไทยด้วย ดังนั้น แม้ว่าไทยยูเนี่ยนฯ จะปฏิบัติตามกฎหมายก็ยังได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมในภาพรวม จึงมีความตั้งใจผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐบาลที่ต้องการปรับกระบวนการมาตรฐานของความยั่งยืนในประเทศทั้งหมด

“ปีที่เจอวิกฤต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเรา คือ คุณธีรพงษ์ จันศิริ บอกว่าเรื่องความยั่งยืนเป็น License to Operate แปลว่า ถ้าไม่ทำเรื่องนี้เราอาจจะเดินหน้าธุรกิจต่อไปไม่ได้แล้ว เราในฐานะผู้นำธุรกิจอาหารทะเลของโลก จึงได้เดินหน้าคิดค้นกลยุทธ์และปรับตัวครั้งสำคัญ ในปี 2559 เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน หรือ SeaChange® โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ ความยั่งยืนของท้องทะเล เพราะถ้าไม่มีทะเลก็ไม่มีธุรกิจของเรา และนำมาดูแลความเป็นอยู่ของผู้คน เพราะอาหารทะเลเป็นแหล่งโปรตีนที่ถูกและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย และเรื่องแรงงาน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในปี 2559-2563 บริษัทสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 28%”


ภายใต้กลยุทธ์ SeaChange® ที่ประกาศเมื่อปี 2559 นั้นจะครอบคลุมในเรื่องการดูแลความเป็นอยู่ของแรงงาน ให้มีการจ้างอย่างถูกต้องรวมถึงดูแลความปลอดภัยให้มีชีวิตที่ดีขึ้น รวมไปถึง Responsibility Sourcing การจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงกฎเกณฑ์การทำประมงให้ถูกหลักเกณฑ์ของเวทีโลก และ Responsibility Operation การดำเนินงานต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม นอกจากนี้ ยังดูแลในเรื่อง People and Communities การตอบแทนสังคม ซึ่งปัจจุบันไทยยูเนี่ยนกำลังจะประกาศกลยุทธ์และเป้าหมายไปจนถึงปี 2573 หรือ SeaChange®2030 เพิ่มความกว้างและลึกขึ้นในทุกมิติครอบคลุมทั้งซัพพลายเชน ทำให้ความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์และคู่ค้าในแง่เป้าหมายของความยั่งยืนผูกกันแน่นขึ้น ซึ่งไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ต้องการสร้างมาตรฐานให้อุตสาหกรรม เพื่อกำหนดเป็นเป้าหมายเดียวกัน จนสามารถก้าวสู่ความเป็น Blue Finance หรือ การเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืน

“ESG ไม่ใช่กระแส แต่เป็นของจริงที่ทุกคนต้องเจอแน่ ๆ และความเข้มข้นจะมากขึ้นเรื่อย ๆ เราเห็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศชัดเจน ซึ่งมีผลกระทบต่อทุกธุรกิจ ดังนั้นทางเลือกคือจะเลี่ยงหรืออยู่ด้วยกัน ผมขอแนะนำว่าควรเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกัน วันนี้โลกมีกติกาชัดขึ้น การอยู่ร่วมกับกระแส ESG เราจำเป็นต้องปรับตัว และนับเป็นเรื่องดีที่ทีทีบีมีโปรแกรมสนับสนุนเรื่องความยั่งยืน ซึ่งการ Empower เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะธนาคารเป็นคนปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมจำนวนมาก ยิ่งเรื่องนี้ขยายวงออกไปครอบคลุมถึงซัพพลายเชน ธนาคารก็จะยิ่งมีบทบาทสำคัญเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น” นายยงยุทธ กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น