xs
xsm
sm
md
lg

สศอ. ทบทวนมาตรการอุตฯ ชีวภาพ เห็นพ้องเอกชน จัดตั้ง One Stop Service

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) สรุปความคืบหน้ามาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 ในระยะครึ่งแผน เห็นพ้องเอกชนเสนอภาครัฐจัดตั้ง One Stop Service เดินหน้าผลักดันประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 พร้อมรายงานความก้าวหน้า และเสนอต่อครม. เร็ว ๆ นี้


นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติรับทราบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561–2570 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการดำเนินการตามมาตรการฯ ให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งที่ผ่านมา อก. โดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้รายงานความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปี 2566 สศอ. ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพได้จัดการประชุมร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมากกว่า 20 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งรับทราบปัญหา อุปสรรคที่ส่งผลต่อการลงทุน และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ โดยจะรวบรวมข้อมูลเพื่อรายงานต่อ ครม. ได้รับทราบต่อไป

สำหรับการดำเนินงานที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐได้ปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ รวมถึงสร้าง Ecosystem เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศไทย อาทิ 1) การปรับปรุงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2562 ที่ส่งผลให้สามารถตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบภายในระยะ 50 กิโลเมตรได้ 2) การเพิ่มกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพในบัญชีท้ายกระทรวง กำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน พ.ศ. 2564 เพื่อแยกอุตสาหกรรมชีวภาพออกจากอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ 3) การแก้ไขผังเมืองเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่จังหวัดที่มีศักยภาพ ได้แก่ ชัยภูมิ อุบลราชธานี นครสวรรค์ และลพบุรี 4) การสร้างศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย และให้ทุกภาคส่วนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวในการกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ ตลอดจนการวางแผนการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งคาดว่าจะมีการลงทุนสูงในอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศไทยจะเป็นไปตามเป้าหมายของมาตรการฯ

นอกจากนี้ พบว่า การลงทุนตามมาตรการเดิมหลายโครงการได้เปลี่ยนแผนการลงทุนหรือชะลอการลงทุนออกไป สาเหตุจากประสบปัญหาและอุปสรรคบางประการ อีกทั้งยังพบว่ามีการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพเพิ่มเติมจากมาตรการฯ ซึ่งควรจัดกลุ่มอุตสาหกรรมใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อให้การกำหนดมาตรการสนับสนุนในแต่ละกลุ่มชัดเจนขึ้น อาทิ กลุ่ม Niche Product ที่ต่อยอดจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็น Mass Market ในปัจจุบัน และแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการออกเป็น ผู้ประกอบการรายใหญ่, SMEs และกลุ่ม Start up รวมถึงเชื่อมโยงการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมอาหารเสริม อุตสาหกรรมสมุนไพร และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ทั้งนี้ คาดว่ามีมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้อีกไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท

โดยผลการประชุม สรุปได้ว่า ภาครัฐควรดำเนินการจัดตั้ง One Stop Service ของอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน อำนวยความสะดวก และลดขั้นตอนต่าง ๆ ที่ยุ่งยากซับซ้อน ให้กับนักลงทุนที่สนใจ เช่น การขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการในอุตสาหกรรมชีวภาพ การประเมิน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การยื่นขอสนับสนุนจากภาครัฐทางด้านภาษีหรือการลงทุน หรือการขอรับ การทดสอบหรือออกใบรับรองให้กับผลิตภัณฑ์ชีวภาพต่าง ๆ อาทิ การขอรับการทดสอบ และใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ

“ทั้งนี้ สศอ. ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศไทยอยู่ระหว่างเตรียมรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการตามมาตรการฯ และข้อเสนอแนะที่ได้จากการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ ครม. ได้รับทราบเร็ว ๆ นี้ พร้อมทั้งเตรียมเสนอมาตรการใหม่ ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้นโยบายในภาพรวมชัดเจนและครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายใน ปี 2570 และเพื่อบรรลุเป้าหมายเกิดการลงทุน 190,000 ล้านบาท เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 85,000 บาทต่อปี ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร อย่างน้อย 800,000 ครัวเรือน รวมถึงมีการผลิตและจ้างแรงงานที่มีความรู้อย่างน้อย 20,000 ตำแหน่งตามเป้าหมายที่ตั้งไว้” นางวรวรรณ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น