จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนากระบวนการเลี้ยงหนอนไหมและผลิตรังไหมอินทรีย์จากโรงเลี้ยงหนอนไหมต้นแบบให้มีมาตรฐานเหมาะสำหรับนำไปใช้เป็นวัสดุทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
รศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความร่วมมือทางด้านงานวิจัยวิชาการกับกรมหม่อนไหมมานานกว่า 17 ปีแล้ว การลงนามความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ กับกรมหม่อนไหมในครั้งนี้จะทำให้เกิดความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้องค์ความรู้ที่กรมหม่อนไหมสนับสนุนให้กับจุฬาฯ มาโดยตลอดเกิดการต่อยอดเพื่อการใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ได้ โดยมีแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่องในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากระบวนการเลี้ยงไหม เพื่อให้ได้รังไหมที่มีความเหมาะสมสำหรับใช้ทางการแพทย์ โดยนำองค์ความรู้ของจุฬาฯ และความเชี่ยวชาญของกรมหม่อนไหมเข้ามาช่วยในเรื่องของการขึ้นทะเบียนมาตรฐานต่างๆ และโครงการสร้างความยั่งยืนให้กับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมด้วยการพัฒนาสูตรอาหารสำหรับหนอนไหม
ด้านความพร้อมของจุฬาฯ ในโครงการความร่วมมือครั้งนี้ รศ.ดร.จุฑามาศ กล่าวว่าจุฬาฯ มีความพร้อมในการนำงานวิจัยไปสร้างเป็นรายได้กลับคืนมาสู่มหาวิทยาลัย โดยจุฬาฯ มีบริษัท Spin - off ที่บ่มเพาะโดย CU innovation Hub และมีบริษัท Engine Life ภายใต้ CU Engineering Enterprise ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ช่วยให้การทำงานมีความคล่องตัวมากขึ้น และสามารถทำงานวิจัยได้อย่างรวดเร็ว
ในส่วนของงานวิจัยเกี่ยวกับไหมไทยนั้น จุฬาฯ มีงานวิจัยเรื่องโปรตีนไหมที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการนำมาใช้รักษาโรคต่างๆ ความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ กับกรมหม่อนไหมในครั้งนี้จะมีการต่อยอดงานวิจัยเรื่องโปรตีนไหม โดยเน้นที่การนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
“การเพิ่มคุณค่าไหมไทยโดยการนำผลผลิตจากเกษตรกรที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาพัฒนาเป็นวัสดุทางการแพทย์จะช่วยเพิ่มคุณค่าไหมไทยซึ่งเป็นมรดกของประเทศและมีส่วนช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย” รศ.ดร.จุฑามาศ กล่าวทิ้งท้าย