ผลสำรวจชี้ว่า ผู้คนต้องการฟังความคิดเห็นของนักวิทยาศาสตร์มากขึ้น อยากให้เพิ่มความหลากหลาย ความเท่าเทียม การให้โอกาสและการโอบรับทุกคน (DE&I) ที่อยู่ในตลาดแรงงานฝีมือมากขึ้น เห็นว่าบริษัทต่าง ๆ ควรดำเนินงานเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) และเชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะมีบทบาทสำคัญต่อการก้าวไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน
3เอ็ม ในฐานะองค์กรวิทยาศาสตร์ระดับโลก เผยผลสำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์ประจำปี 2566 (3M State of Science Index 2023 - SOSI 2023) ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นและความรู้สึกของผู้บริโภคเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และผลกระทบของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อโลกรอบๆ ตัวเรา ซึ่งข้อมูลที่ได้จากดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์ประจำปี 2566 จะช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถคาดการณ์ถึงความท้าทายในอนาคต และพัฒนานวัตกรรมและสร้างสรรค์โซลูชั่นใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านั้นได้
“เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ประจำปี 2566 ซึ่งคนไทยกว่า 91% เชื่อว่าผลลัพธ์ในเชิงบวกจะเกิดขึ้นได้หากมีการผนึกกำลังในการนำวิทยาศาสตร์มาใช้แก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาระบบสาธารณสุข และการเกษตรที่ยั่งยืน ซึ่งข้อมูลเชิงลึกจากผลการสำรวจนี้จะช่วยให้เราสามารถขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อผู้คน ธุรกิจ และสังคมในวงกว้าง” นางวิยะดา ศรีนาคนันทน์ ประธานบริหาร บริษัท 3เอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว
๐ การสร้างความเท่าเทียมทางด้านสะเต็ม (STEM - วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์) ต้องทำอย่างจริงจัง
ความหลากหลายและการให้โอกาสแก่ทุกคน เป็นส่วนช่วยส่งเสริมการคิดค้นด้านนวัตกรรมและการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นจุดเด่นทางวัฒนธรรมของ 3เอ็ม มาอย่างยาวนาน ในฐานะองค์กรวิทยาศาสตร์ระดับโลก 3เอ็ม ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างความเท่าเทียมทางด้านสะเต็มและด้านแรงงานฝีมือ เพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปมีความสามารถที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งความมุ่งมั่นนี้ผนวกกับความตั้งใจของ 3เอ็ม ในการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน ถือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการดำเนินธุรกิจของเราในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น
ข้อมูลจากผลสำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ประจำปี 2566 ระบุว่า 86% ของผู้ตอบแบบถามในประเทศไทย เชื่อว่าวิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรกลุ่มที่เปราะบางที่สุดของโลก และ 88% (เทียบกับ 84% ในระดับโลก) ต้องการทราบว่านักวิทยาศาสตร์มีมุมมองอย่างไรต่อปัญหาทางด้านสังคม
91% ของคนไทย (เทียบกับ 94% ในระดับโลก) เชื่อว่าผลลัพธ์เชิงบวกจะเกิดขึ้นได้หากผู้คนผนึกกำลังในการนำวิทยาศาสตร์มาใช้ในการแก้ไขปัญหา ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาระบบสาธารณสุข และการเกษตรที่ยั่งยืน ยิ่งไปกว่านั้น 89% เชื่อว่าโรงเรียนควรกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรวิทยาศาสตร์ที่สอนแก่นักเรียน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีความชอบในวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งสนับสนุนให้เยาวชนรุ่นต่อ ๆ ไปมีความตระหนักรู้ คิด และมีส่วนร่วมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่วัยเด็ก
การรับรู้ถึงความสำคัญทางด้านสะเต็ม เป็นสิ่งที่ผู้คนมีความเห็นตรงกันและรับรู้ได้ในวงกว้าง โดย 89% ของคนไทยเห็นตรงกันว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสะเต็มจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม มีแรงงานอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับโอกาสในการนำศักยภาพของตนออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยเห็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน มีแรงงานที่มีศักยภาพที่ยังไม่ได้รับโอกาสซ่อนอยู่ในกลุ่มแรงงานสาขาสะเต็มถึง 87% (เทียบกับ 82% ในระดับโลก) และ 79% (เทียบกับ 86% ในระดับโลก) ของคนไทยเห็นว่าผู้หญิงไม่ได้นำศักยภาพด้านสะเต็มของตนออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งหากกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับโอกาส ก็จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ 86% ของคนไทยเห็นว่าจะต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนกลุ่มด้อยโอกาสสามารถมีส่วนร่วมในการศึกษาในสาขาสะเต็มได้เพิ่มมากขึ้น โดยที่ 89% (เทียบกับ 78% ในระดับโลก) กล่าวว่ากลุ่มด้อยโอกาสมักไม่ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาในสาขาสะเต็ม
ด้วยเหตุนี้ 3เอ็ม จึงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมโครงการที่เกี่ยวกับการศึกษาในสาขาสะเต็มในประเทศไทย ด้วยการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การจัดค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก ประจำปี 2566 กิจกรรม 3M Tech Talks สำหรับนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่หลากหลายและเท่าเทียม และในปีนี้เช่นกัน เราได้มอบทุนจำนวน 50,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 1,768,000 บาท) เพื่อสนับสนุนศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ดำเนินงานโดยมูลนิธิกระจกเงา เพื่อสร้างห้องสมุดและห้องปฎิบัติการวิทยาศาสตร์ รวมถึงการซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น หนังสือ คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ และอุปกรณ์การเรียนสำหรับนักเรียนประมาณ 300 คน ซึ่ง 99.99% เป็นเด็กไร้สัญชาติ 3เอ็ม เชื่อในความสำคัญของการบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่เริ่มต้นด้วยการเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียมและการสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนเลือกศึกษาในสาขาสะเต็ม
๐ แรงงานฝีมือที่มีทักษะเฉพาะทาง เป็นที่ต้องการอย่างเร่งด่วนในภาคอุตสาหกรรม
การขยายตัวของสังคมเมืองดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจากการขับเคลื่อนของแรงงานฝีมือที่มีทักษะในหลากหลายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องดำเนินการสนับสนุนด้านความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการให้โอกาสแก่ทุกคน (Diversity, Equity & Inclusion หรือ DE&I) มากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในสาขาสะเต็มเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มแรงงานฝีมือและภาคส่วนอื่น ๆ อีกด้วย โดย 91% เชื่อว่าเราจะต้องเพิ่ม DE&I ในกลุ่มแรงงานฝีมือ และ 90% (เทียบกับ 88% ในระดับโลก) เชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเพิ่มเรื่อง DE&I ในสาขาการบริการด้านสุขภาพด้วย
ผลการสำรวจแสดงว่า 90% ของคนไทย (เทียบกับ 93% ในระดับโลก) เห็นว่าประเทศไทยมีความต้องการแรงงานฝีมือเพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน ซึ่งการขาดแคลนนี้อาจเป็นผลมากจากมุมมองของสังคมที่มีต่อแรงงานฝีมือ โดย 71% (เทียบกับ 56% ในระดับโลก) เชื่อว่าสังคมมีทัศนคติเชิงลบต่อกลุ่มแรงงานฝีมือ ซึ่งสอดคล้องกับ 68% ของผู้ตอบแบบสำรวจ (เทียบกับ 58% ในระดับโลก) ที่เห็นว่าผู้ปกครองมักไม่ส่งเสริมให้ลูกหลานของตนเลือกศึกษาในวิชาชีพทางด้านงานฝีมือ
ผู้ตอบแบบสำรวจ 89% เห็นว่าหากประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานกลุ่มนี้ได้ในเร็ววัน จะเกิดผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของผู้คนโดยรวมจะแย่ลง เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัย งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคอาจจะไม่ได้ดำเนินการโดยแรงงานที่มีทักษะเฉพาะทางที่เหมาะสม และเกิดปัญหาความท้าทายต่อห่วงโซ่อุปทาน
3เอ็ม ตระหนักถึงปัญหาความขาดแคลนนี้และได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น หนึ่งในความมุ่งมั่นของ 3เอ็ม คือ การเสริมสร้างให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเท่าเทียมมากขึ้น รวมทั้งในการดำเนินธุรกิจและสถานที่ทำงาน 3เอ็ม จึงได้ตั้งเป้าหมายที่มุ่งเน้นด้านการศึกษาในทั่วโลก เราจะพัฒนาความเท่าเทียมทางเศรฐกิจด้วยการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ด้านสะเต็ม และการพัฒนาทักษะด้านแรงงานฝีมือให้แก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสด้วยการจัดกิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้จำนวน 5 ล้านกิจกรรมภายในสิ้นปี 2568
๐ ภาคธุรกิจและประชาชนต้องดำเนินงานรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน
แม้จะมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิทั่วโลกอาจสูงขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2593* การดำเนินงานหรือนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงมีความจำเป็นมากกว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก ซึ่งองค์การสหประชาชาติได้ออกมาเตือนว่าประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจากสภาวะโลกร้อนมากที่สุด สำหรับประเทศไทย ผู้คน 73% มีความกังวลว่าภัยภิบัติทางธรรมชาติจะทวีรุนแรงขึ้น ในขณะที่ 70% กังวลเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศ และ 69% กังวลเรื่องมลพิษพลาสติก
ข้อมูลเพิ่มเติมจากผลสำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2566 มีความสอดคล้องกับมุมมองทั่วไปของผู้คนกว่า 92% ที่กล่าวว่าพวกเขากังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคำตอบของการบรรเทาผลกระทบเหล่านี้ได้คือ การพึ่งพาวิทยาศาสตร์ เพราะ 89% เชื่อว่าวิทยาศาสตร์จะสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
การดำเนินการและนวัตกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นที่ต้องการอย่างเร่งด่วน ตามรายงานล่าสุดของ WMO ชี้ให้เห็นว่า อุณหภูมิของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ภายใน 5 ปีข้างหน้า ส่งผลให้ความรับผิดชอบในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ตกเป็นของภาคธุรกิจและประชาชน โดย 89% เห็นว่าบริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องเร่งการพัฒนาและนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ 88% (เทียบกับ 90% ในระดับโลก) เห็นด้วยว่าเราควรนำวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อทำให้โลกเกิดความยั่งยืนมากขึ้น
๐ รถยนต์ไฟฟ้าจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
คนไทยกว่า 95% (เทียบกับ 94% ในระดับโลก) เชื่อมั่นในนวัตกรรมทางด้านการขนส่งว่ามีความปลอดภัย ซึ่งรวมไปถึงระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้าด้วย ส่วน 94% (เทียบกับ 88% ในระดับโลก) เชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถปรับปรุงนิสัยการขับขี่ให้ดีขึ้นได้ และคนไทย 94% (เทียบกับ 91% ในระดับโลก) เชื่อว่าระบบถนนสามารถสื่อสารกับรถยนต์ของพวกเขาได้
ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มแพร่หลายมากขึ้นทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยกว่า 91% กล่าวว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถช่วยลดมลพิษได้ อีกทั้งยังเชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าจะเกิดขึ้นทั่วโลก โดย 88% (เทียบกับ 77% ในระดับโลก) กล่าวว่าภายในปี 2575 ประเทศต่าง ๆ จะต้องการให้รถยนต์ที่ผลิตขึ้นใหม่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ไฮบริด
ด้วยประสบการณ์กว่า 100 ปีของ 3เอ็ม ในอุตสาหกรรมยานยนต์ 3เอ็ม ได้ผนวกเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค กับความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมพลังงาน และเทคโนโลยีวัสดุขั้นสูงเข้าด้วยกัน เพื่อรังสรรค์รถยนต์ที่ล้ำสมัยและมีระบบนิเวศน์ด้านพลังงานที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดเพื่อขับเคลื่อนสู่โลกอนาคต 3เอ็ม มีโซลูชั่นหลากหลายสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เช่น เทคโนโลยีที่ช่วยในการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร (Human Machine Interface) เทคโนโลยีการตรวจจับด้วยเซนเซอร์ การพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งในแง่ของประเภท ความปลอดภัย และประสิทธิภาพในการผลิต และอื่นๆ อีกมากมาย
๐ ผลสำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ช่วยในการเตรียมความพร้อมสู่โลกอนาคต
ข้อมูลจากผลสำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยประจำปี 2566 ได้เน้นย้ำถึงประเด็นสำคัญที่องค์กร ชุมชน และประชาชน ต้องเตรียมความพร้อมที่จะก้าวไปสู่โลกอนาคต
“การเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้คนต่อวิทยาศาสตร์และผลกระทบของวิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและแนวทางในการสร้างนวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ผลการสำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์เป็นข้อพิสูจน์ประการหนึ่งว่าโลกอนาคตจะพึ่งพาการค้นพบทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น และ 3เอ็ม มุ่งมั่นที่จะใช้วิทยาศาสตร์เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของเราในทุกๆ เรื่อง ทั้งการดำเนินธุรกิจ การสนับสนุน DE&I ในสาขาสะเต็ม การพัฒนาทักษะแรงงานฝีมือ และการมีส่วนร่วมกับชุมชน” นางวิยะดา ศรีนาคนันทน์ กล่าวสรุป
ทั้งนี้ ผลสำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์ หรือ State of Science Index (SOSI) เป็นการสำรวจประจำปีที่ 3เอ็ม ได้จัดให้ Ipsos ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดระดับโลก ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้คนที่มีต่อวิทยาศาสตร์ใน 17 ประเทศทั่วโลก ระหว่างเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 โดย Ipsos ได้สำรวจผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มประชาชนทั่วไปประเทศละ 1,000 ราย โดยในปี 2566 นี้ เป็นการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของวิทยาศาสตร์ และความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อความเท่าเทียมทางด้านสะเต็ม แรงงานฝีมือ ความยั่งยืน สุขภาพ และนวัตกรรมต่าง ๆ โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลสำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์ได้ที่ 3M.com/ScienceIndex