ภาคการเกษตรของไทยต้องการเยาวชนเกษตรกรรุ่นใหม่เข้ามาร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ควบคู่กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้การเกษตรของไทยก้าวต่อไปในทิศทางที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การทำการเกษตรแบบยั่งยืน และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรไทย บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด จึงได้ดำเนินโครงการ "KUBOTA Smart Farmer Camp" อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ภายใต้แนวคิด FARM MAKER โดยมุ่งส่งต่อความรู้และนวัตกรรมด้านการเกษตรสู่เยาวชนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและยกระดับกระบวนการผลิตทางการเกษตรอย่างยั่งยืน
นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมเพื่อสังคมของสยามคูโบต้านั้น เราได้มุ่งเน้น “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” พัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นตามหลักการ Sustainable Development Goals หรือ SDGs 4 ด้าน ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร การศึกษาของเยาวชน ความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยโครงการ KUBOTA Smart Farmer Camp ถือเป็นหนึ่งในโครงการในด้านความมั่นคงทางอาหาร การยกระดับกระบวนการผลิตทางการเกษตรอย่างยั่งยืนเพื่อเกษตรกร ชุมชน และสังคมและคงไว้ซึ่งการรักษาแหล่งอาหารของโลก ซึ่งจะส่งต่อความรู้ด้านการเกษตรและนวัตกรรมการเกษตรสู่เยาวชนรุ่นใหม่ ตลอดจนการสร้างทัศนคติที่ดีและกระตุ้นให้เยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจการทำอาชีพเกษตรกรรม มีการตระหนักถึงการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรแม่นยำอย่างยั่งยืนและรอบด้านมากขึ้น เพื่อเป็นเกษตรกรยุคใหม่ที่ดีในอนาคต
สำหรับปีที่ 9 ของ KUBOTA Smart Farmer Camp ถูกจัดขึ้นในธีม “FARM MAKER” ออกแบบฟาร์มได้ตามฝัน ที่ให้น้อง ๆ ได้สร้างฟาร์มในฝันให้เป็นจริง โดยเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญและผ่านการลงมือทำด้วยตัวเอง ณ คูโบต้าฟาร์ม จังหวัดชลบุรี เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน ซึ่งได้คัดเลือกน้อง ๆ จากผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมในปีนี้ที่มากถึง 1,180 คน เหลือเพียงจำนวน 100 คน แบ่งเป็นนักศึกษาทั่วไปจำนวน 70 คน และกลุ่มทายาทเกษตรกรคูโบต้าจำนวน 30 คน
เริ่มต้นวันแรกของกิจกรรมด้วย Workshop ไอเดียการออกแบบฟาร์มในฝัน เรียนรู้การบริหารจัดการฟาร์มและออกแบบพื้นที่การทำการเกษตร จากผู้เชี่ยวชาญด้าน Farm Design จาก บริษัท เกษตรอินโน จำกัด และเรียนรู้ Smart Farming Experience KUBOTA FARM สัมผัสนวัตกรรมการเกษตรครบวงจร การใช้นวัตกรรม IoT และเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรในพื้นที่ฟาร์มสร้างประสบการณ์เกษตรสมัยใหม่ ณ คูโบต้าฟาร์ม ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน
วันต่อมาน้องๆ ได้เรียนรู้การทำการเกษตรแบบยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับสมดุลของระบบนิเวศ โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม จากนายชารีย์ บุญญวินิจ หรือ ลุงรีย์ เจ้าของฟาร์มลุงรีย์ ที่มาให้ความรู้กับน้องๆ ในเรื่องของการจัดการทรัพยากรแบบหมุนเวียนและการจัดการขยะอาหารแปรเป็นปุ๋ย นอกจากนี้ น้องๆ ยังได้ชิมอาหารคอร์สโอมากาเสะ อาหารตามใจเชฟ ภายใต้คอนเซป Omakahed ที่มีวัตถุดิบเป็นเห็ดจากการเพาะเอง มาปรุงเป็นอาหารสไตล์ญี่ปุ่นอีกด้วย
ส่วนวันที่สาม เนื้อหาของกิจกรรมค่อนข้างเข้มข้น โดยน้องๆ ได้เล่นเกมจำลองการวางแผนลงทุนด้านการเกษตร FARM MAKER ภารกิจออกแบบฟาร์มในฝัน ที่ต้องใช้ทั้งความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ในการคำนึงถึงประสิทธิภาพ ความยั่งยืน นวัตกรรม และการบริหารความเสี่ยง ก่อนปิดท้ายกิจกรรมในวันสุดท้ายด้วยการให้น้องๆ ได้นำเสนอไอเดียฟาร์มในฝันของตัวเองที่วางไว้
“โครงการ KUBOTA Smart Farmer Camp 2023 ถือเป็นอีกสิ่งที่คูโบต้าภาคภูมิใจ เพราะเรามุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจและสร้างประสบการณ์ด้านการเกษตร รวมถึงความทรงจำที่ดีให้กับน้อง ๆ คนรุ่นใหม่ ในการเติบโตไปเป็น Smart Farmer ที่นำความรู้ความสามารถมาใช้พัฒนาภาคการเกษตร พร้อมทั้งเกิดเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงเกษตรกรรุ่นใหม่สู่การต่อยอดในการทำงานและสานต่ออาชีพเกษตรกรของครอบครัว เพื่อร่วมขับเคลื่อน Ecosystem ของภาคการเกษตรให้เติบโตต่อไปในอนาคต” นางวราภรณ์ กล่าวปิดท้าย
นายณัฐพล จงสู่วิวัฒน์วงศ์ หรือ น้องเมฆ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าว่า จากการเข้าร่วมโครงการในนี้รู้สึกสนุกมาก อีกทั้งยังได้ความรู้และคอนเนคชั่นกลับไปมากมาย ส่วนตัวมองว่าการเกษตรเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่สำคัญ ถ้านำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้จะสามารถช่วยลดแรง ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและราคาได้ดีขึ้น โดยมองถึงตัวเองในอนาคตว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำมาปรับใช้ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี ปลอดภัย ลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองและสร้างมลพิษกับโลกให้น้อยที่สุด
นายเจษฎาพร ทองจุฑา หรือ น้องบีม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่าว่า รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับกิจกรรมในครั้งนี้มาก ได้ทดลองขับรถขุด รถเกี่ยวนวดข้าวและเครื่องจักรกลการเกษตรใหม่ๆ ที่ทำให้รู้ถึงความแตกต่างระหว่างการใช้แรงงานคนกับเครื่องจักร และสนุกกับเพื่อนๆ ในการออกแบบฟาร์มตามโจทย์ที่ได้รับมา ได้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่สามารถไปปรับใช้กับไร่มันสำปะหลังและอ้อยของที่บ้าน และนำไปต่อยอดการทำสวนผลไม้ เพื่อสานต่ออาชีพเกษตรกรในอนาคต เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยภาคการเกษตรให้ทำงานได้ง่าย มีความแม่นยำ ประหยัดทั้งเวลา แรงงาน ทำให้การเกษตรไม่ใช่เรื่องเหนื่อยและลำบากอีกต่อไป
นายชินกฤต อรุณธีรพจน์ หรือ น้องโอห์ม นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า เป็น 4 วันที่สนุกมากๆ เพราะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเรื่องของการเกษตรที่ค่อนข้างไกลตัว ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมจากคูโบต้าฟาร์มที่สามารถนำไปปรับใช้กับ Urban Farming System ที่กำลังสนใจอยู่ในขณะนี้ กิจกรรม Workshop Farm Design ที่ได้ออกแบบฟาร์มร่วมกับเพื่อนๆ จนฉีกกฎออกมาเป็น Start-Up เพื่อช่วยเสริมภาคเกษตรของไทยในแง่ของการวิจัยและการพัฒนาธุรกิจ จากความคิด วิสัยทัศน์และความถนัดของเพื่อนๆ แต่ละคน ทำให้ได้เปิดโลกกว้างขึ้น สามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างก้าวกระโดดจากการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
นางสาวปภัสสร สุวรรณคาม หรือ น้องพราว นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เล่าว่า ความรู้ที่ได้รับในการทำกิจกรรมในครั้งนี้สามารถไปปรับใช้กับสวนของที่บ้านได้ในหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชหมุนเวียน การปรับปรุงดิน การเลี้ยงสัตว์ เทคโนโลยีทางการเกษตรต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุน แรงงาน โดยตั้งใจจะนำประสบการณ์ที่ได้รับไปทำธุรกิจด้านการเกษตรของตัวเอง ควบคู่ไปกับการเป็นเกษตรอำเภอ เพื่อช่วยเหลือและให้ความรู้กับเกษตรกรในพื้นที่บ้านเกิด
นายชิษณุพงศ์ วาณิชย์เจริญ หรือ น้องเซฟ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เล่าว่า ภาคการเกษตรเป็นส่วนสำคัญของประเทศไทย การจะทำให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีได้จึงจำเป็นจะต้องคัดสรรเทคโนโลยีที่เข้าถึงง่ายและต้นทุนไม่สูง เหมือนคูโบต้าฟาร์มที่แบ่งปันความรู้เรื่องนวัตกรรมเกษตรให้คนได้เข้าถึงง่ายขึ้น จากการร่วมกิจกรรมทำให้ได้ความรู้ทางการเกษตรแบบเชิงลึก ไม่ว่าจะเป็นเกษตรอินทรีย์ เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ได้ทดลองใช้ด้วยตัวเอง นับว่าเป็น 4 วันที่คุ้มค่า ได้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆ ที่หลากหลาย สามารถต่อยอดในอาชีพที่เกี่ยวกับภาคการเกษตรในอนาคต