xs
xsm
sm
md
lg

ม.รังสิต ใช้ “eco print” แก้โจทย์ใหญ่ ด้วยจุดเริ่มง่ายๆ ช่วยนักศึกษา พัฒนาชุมชน สร้างสรรค์สังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การพิมพ์ผ้าด้วยวัสดุธรรมชาติ หรือ eco print
มหาวิทยาลัยรังสิตฉายภาพความสำเร็จโครงการ “eco print” นิสิตนำองค์ความรู้และประสบการณ์ พัฒนาสินค้าแฟชั่นเดินหน้าต่อยอดสู่ชุมชน มุ่งสร้างแบรนด์ “PRIMTAWAN” เจาะตลาดงานคราฟท์ สร้างมูลค่าเพิ่ม เตรียมยกระดับจากผลิตภัณฑ์โอทอปบ้านๆ เป็นโอทอปพรีเมี่ยม หวังวางจำหน่ายในพื้นที่โซน Thai Designer ศูนย์การค้าไอคอนสยาม เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายคนไทยที่ชอบงานฝีมือและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ลัดดาวัลย์ สารพัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาแฟชั่นดีไซน์ วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต
ลัดดาวัลย์ สารพัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาแฟชั่นดีไซน์ วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการอบรมการพิมพ์ผ้าด้วยวัสดุธรรมชาติ ว่า หลังจากที่ม.รังสิตได้จัดทำโครงการฯ ดังกล่าว ซึ่งริเริ่มกับนิสิตเพียง 3 คน และต่อมามีการอบรมให้กับนักศึกษาอีกประมาณ 20-30 คน ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ดำเนินโครงการพัฒนาและสร้างเสริมอาชีพโดยการพิมพ์ลวดลายผ้าจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น ภายใต้โครงการสร้างอาชีพและรายได้แนวใหม่ตามแนวคิดเศรษฐกิจรากฐาน เพื่อเป็นการช่วยให้นิสิตมีความรู้ที่สามารถนำไปสร้างอาชีพและหารายได้ด้วยตนเอง ลดความกังวลจากการไม่มีงานทำ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและความฝันหรือเป้าหมายที่จะได้ทำงานในองค์กรใหญ่หลังจากจบการศึกษา

ลักษณะของงานพิมพ์ผ้าด้วยวัสดุธรรมชาติ
นอกจากนี้ เทศบาลตำบลหลักหกยังทำข้อตกลงความร่วมมือกับม.รังสิต นำโครงการฯ ไปขยายผลให้ชาวชุมชน 60 คน ได้โอกาสเรียนรู้การพิมพ์ผ้าด้วยวัสดุธรรมชาติ หรือ eco print และยังได้เปิดมุมมองด้านการออกแบบ เช่น การให้โทนสี และการวางลวดลาย ที่คณาจารย์จากวิทยาลัยการออกแบบ สาขาแฟชั่นดีไซน์ ม.รังสิตนำไปถ่ายทอด ทำให้สามารถนำวิชาการไปผนวกกับจินตนาการ ช่วยให้ผลงานสวยขึ้น พร้อมทั้งเสียงชื่นชมถึงวิธีการสอนที่ทำให้รู้สึกสนุกกับการเรียนเพราะทำให้เห็นภาพและเข้าใจได้ชัดเจน ไม่ใช่การฟังบรรยายที่น่าเบื่อ

“อยากให้สร้างรายได้โดยเริ่มจากการใช้ต้นทุนต่ำ การทำ eco print สามารถมองหาสิ่งรอบตัว ต้นไม้ใบหญ้า ดอกไม้ต่างๆ นำมาทำเป็นวัตถุดิบได้ เป็นการส่งต่อความรู้ให้กับชุมชนเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน เมื่อนักศึกษาลองทำและขายได้จริง จึงเป็นจุดเริ่มไปอบรมให้กับชุมชนเป็นการขยายผลสร้างโอกาสใหม่ๆ”

“อยากให้มองว่าถ้าการสร้างรายได้เป็นเรื่องยาก ให้มองจากสิ่งรอบๆ ตัว เพราะอาจจะมีสิ่งดีๆ แฝงอยู่โดยที่เรามองข้ามไป เพราะองค์ความรู้นั้นมีอยู่แล้ว เราสามารถนำมาผสมผสานกัน พร้อมไปกับการรักษ์โลกดูแลสิ่งแวดล้อม จะทำให้เกิดสิ่งที่ดีได้ มองจากสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัว แล้วนำมาสร้างสุดท้ายจะเกิดสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือการให้คุณค่าในสิ่งเล็กๆ นั่นเอง ไม่ต้องมองเรื่องไกลตัวเกินไป เพราะไปไม่ถึง และไม่ได้เริ่ม”

ดอกไม้และใบไม้ในชุมชนหลักหก
ลัดดาวัลย์ ย้ำว่า โครงการนี้นำเรื่องการแก้โจทย์การสร้างงานสร้างอาชีพให้กับนิสิต กับการแก้โจทย์กระแส Fast Fashion ซึ่งเป็นการผลิตสินค้าแฟชั่นที่มาเร็วไปเร็ว ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะจากเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งมากมาย นอกจากนี้ ในการผลิตผ้ายังทำให้เกิดน้ำเสียจากการผลิต จึงนำปัญหาทั้งสองเรื่องมาแก้ไขโดยเริ่มจากเรื่องเล็กๆ คือ eco print ทำให้เห็นว่าแฟชั่นเป็นความงามที่ควบคู่ไปกับการรักษ์โลกได้ ทั้งยังสร้างอาชีพและมีโอกาสสร้างรายได้อีกมากเมื่อนำไปต่อยอด โดยนิสิตซึ่งมีความรู้ด้านการออกแบบอยู่แล้ว จึงพัฒนาเป็นสินค้าและสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างดี

คฑาวุฒิ ทาบุเรศ ศิษย์เก่าสาขาแฟชั่นดีไซน์ รุ่น18 ม.รังสิต
คฑาวุฒิ ทาบุเรศ ศิษย์เก่าสาขาแฟชั่นดีไซน์ รุ่น18 ม.รังสิต กล่าวว่าปัจจุบันเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ฟรีแลนซ์ให้กับสินค้าแฟชั่นแบรนด์ดังของไทยหลายแบรนด์ และกำลังสร้างแบรนด์สินค้าแฟชั่นของไทยให้เติบโต โดยกล่าวถึงการเข้าร่วมโครงการฯ ว่ามาจากการได้รับคัดเลือกให้เข้าไปเรียนรู้การพิมพ์ผ้าจากวัสดุธรรมชาติ หรือ eco print ที่ม.รังสิตจัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือนิสิตที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถหางานทำได้หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ซึ่งนอกจากความรู้ด้านการพิมพ์ผ้าฯ ดังกล่าวแล้ว ยังได้เรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ เช่น การวางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน การทำตลาด การขาย การทำงานกับชุมชน การผลักดันและสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะนำไปใช้ประโยชน์กับตนเองทั้งการทำแผนธุรกิจ การบริหารจัดการ การนำเสนอสินค้า ฯลฯ ยังสามารถสร้างรายได้ และช่วยพัฒนาสังคมได้อีกด้วย

สินค้า eco print ในแบรนด์ Primtawan
คฑาวุฒิ กล่าวว่า ในตอนนั้นคือประมาณเกือบสองปีที่ผ่านมา เรื่อง eco print ยังเป็นเรื่องใหม่ เป็นที่รู้จักน้อย เมื่อได้เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จึงมองว่าเป็นเรื่องที่นำไปต่อยอดได้ โดยพัฒนาเป็นสินค้าแฟชั่น เช่น กระเป๋า ผ้าพันคอ เสื้อผ้า และมีการสร้างแบรนด์ในชื่อ Primtawan ขึ้นมา โดยมีที่มาจากเพลงประจำมหาวิทยาลัยรังสิตคือ “ทุ่งตะวันรังสิต” เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ บวกกับโครงการพิมพ์ผ้าจากวัสดุธรรมชาติ จึงนำคำว่า “พิมพ์” มาใช้ผสมกัน และจดสิทธิบัตรเป็นแบรนด์ในส่วนของ Young Otop เพราะคิดจะสร้างเป็นสินค้าโอทอป เพื่อพัฒนาและกระจายรายได้ให้คนในชุมชนเป็นผู้ผลิต

สินค้า eco print ในแบรนด์ Primtawan
สำหรับความสำเร็จที่ได้จากโครงการ eco print มีในระดับหนึ่ง เพราะสินค้าที่ผลิตขึ้นมาสามารถขายได้ มีลูกค้าประจำ มีรายได้รวมปีที่แล้วหลักแสนบาท โดยสินค้าที่ขายดีที่สุดคือกระเป๋าผ้า หรือ Tote Bag ที่ใช้งานได้อเนกประสงค์สำหรับปีนี้มีเป้าหมายใหญ่ ต้องการยกระดับสินค้าให้สูงขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วยการออกแบบ ไม่ใช่เพียงพัฒนาลายผ้า แต่จะทอผ้า สร้างสรรค์งานคราฟท์ เช่น การปัก และการถัก โดยยังคงใช้ eco print เป็นเอกลักษณ์เหมือนเดิม แต่สร้างความแตกต่างและเพิ่มจุดเด่นมากขึ้น เพราะปัจจุบันงาน eco print มีมากมายในตลาดทั่วไป

“ตอนนี้กำลังเตรียมความพร้อม วางแผนว่าจะนำเสนอได้ภายในไตรมาสสามของปีนี้ จะยกระดับสินค้า เช่น กระเป๋าจากราคาหลักร้อยจะขยับเป็นหลักพันบาท และเสื้อผ้าจากหลักพันขยับเป็นหลักหมื่นบาทต่อชิ้น มีแผนจะนำเข้าไปวางจำหน่ายที่ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ในโซน Thai Designer ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับสินค้างานคราฟท์ที่มีราคาสูง เหมาะกับลูกค้าทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชอบงานฝีมือหรืองานหัตถกรรม”

สินค้า eco print ในแบรนด์ Primtawan
“โครงการนี้ถือว่าดีมากเพราะเข้ามารองรับในช่วงที่หางานทำไม่ได้เลย ทำให้ได้ความรู้เพิ่มทั้งการทำ eco print และการทำธุรกิจและนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที โดยส่วนตัวอยากเป็นเจ้าของแบรนด์อยู่แล้ว และมีแบรนด์ของตัวเองตั้งแต่อายุ 18 ด้วยการขายเสื้อผ้าออนไลน์ ทำแบบง่ายๆ ทำตามที่ชอบ คุยกับช่างให้เย็บออกมาแล้วก็โพสต์ขาย ลูกค้าชอบก็ซื้อเท่านั้น ไม่ต้องวางแผน ไม่ต้องคิดกระบวนการต่างๆ ทั้งการผลิตการขาย ฯลฯ ต่างจากตอนนี้เมื่อได้เรียนรู้จากโครงการฯ ทำให้ไม่ใช่แค่เรากับช่าง แต่เริ่มมองมากขึ้น เห็นสังคมและมองภาพใหญ่มากขึ้น”

คฑาวุฒิ กล่าวทิ้งท้ายว่า ด้วยการเป็นเด็กต่างจังหวัด และออกจากบ้านมาเรียนกรุงเทพฯ ตั้งแต่สิบขวบ มองแต่ตัวเอง ไม่ได้คิดถึงคนอื่น แต่ตอนนี้เริ่มเห็นความยากลำบากของคนด้อยโอกาสมากขึ้น จึงอยากนำความรู้มาทำเพื่อสังคมเล็กๆ เริ่มจากคนรอบตัวคือคนงานที่รับจ้างทำไร่อ้อยและไร่มันสำปะหลังให้กับครอบครัวประมาณ 10 คน ซึ่งทำงานแบบหาเช้ากินค่ำให้มีรายได้มากขึ้น ด้วยการนำมาพัฒนาฝีมือ โดยคุณแม่มีส่วนร่วมในเรื่องนี้ เพราะเป็นคนงานที่รู้จักกันมานานทำให้รู้นิสัยส่วนตัว เช่น คนที่มีความละเอียดประณีตละเมียดละมัยก็นำมาทำงานทองานปัก หรือคนที่ชอบศิลปะก็มาทำงานพิมพ์ ทำให้หาจุดเด่นและจำแนกคุณลักษณะของแต่ละคนได้อย่างชัดเจน และเลือกงานที่เหมาะสมให้ทำได้อย่างถูกต้อง

ณ วันนี้ ไม่เพียงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างงานสร้างอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้มีรายได้น้อยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นแล้ว ยังมีเป้าหมายชัดเจนในการสร้างแบรนด์สินค้าแฟชั่นของไทยให้ก้าวไกลอีกด้วย เป็นการสร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมที่เติบโตอย่างยั่งยืน