ทุกวันนี้มลพิษจากขยะพลาสติกทั่วโลกยังอยู่ในขั้นอันตรายร้ายแรง เนื่องจากได้รับการแก้ไขไม่เพียงพอ ซึ่งพบว่าปริมาณขยะพลาสติกในสัดส่วนน้อยมากที่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
ทำให้ปลายทางของขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล ตกอยู่ที่มหาสมุทรและการฝังกลบซึ่งนับวันยิ่งจะก่ออันตรายต่อสัตว์ป่า สัตว์ทะเล รวมถึงก่อมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรงและทางอ้อมอย่างมากมาย
ซึ่งทำให้ธีมวันสิ่งแวดล้อมโลกในปีนี้ หรือ World Environment Day 2023 (5 มิถุนายน) องค์การสหประชาชาติ (UN) มุ่งไปยังการสรรหาวิธีแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติก (Plastic Pollution) ภายใต้แคมเปญ #BeatPlasticPollution
แม้ก่อนหน้านี้การรีไซเคิล (Recycle) จะถูกมองว่าเป็นทางออกสำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหาปริมาณพลาสติกเมื่อกลายเป็นขยะ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความเป็นจริงได้พิสูจน์ว่าลำพังการรีไซเคิลทั่วโลกไม่สามารถทำได้ทันกับปริมาณพลาสติกเกิดใหม่ และผลร้ายต่อการสูญเสียด้านสภาพทรัพยากรธรรมชาติ จนกองขยะพลาสติกที่สะสมในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศยากจนเพิ่มขึ้นมหาศาล ขณะที่ประเทศที่ร่ำรวยก็พยายามส่งขยะรีไซเคิลไปยังต่างประเทศ โดยไม่สนใจว่าประเทศนั้นมีความสามารถในการรีไซเคิลขยะได้เท่าปริมาณการนำเข้าหรือไม่
ตามรายงานของกรีนพีซ และเครือข่ายขจัดมลพิษระหว่างประเทศ ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า บรรดาพลาสติกที่จัดทำขึ้นหรือสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นพิษทั้งหลาย ยังคงมีการปนเปื้อนอยู่ในกระบวนการรีไซเคิล รวมทั้งมีการแพร่กระจายของสารพิษต่างๆ ผ่านขยะพลาสติก รวมทั้งโรงงานที่ทำหน้าที่ในการรีไซเคิลเองยังคงปล่อยไมโครพลาสติกหลายร้อยตันออกสู่สภาพแวดล้อมในแต่ละปี
นอกจากนั้น ตามรายงานของ World Economic Forum เมื่อไม่นานมานี้พบว่า ยังคงมีเพียง 6-9% ของขยะพลาสติกทั้งหมดเท่านั้นที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิล แม้ว่าประเทศต่างๆ จะพยายามรายงานว่า ได้นำพลาสติกและขยะอื่นๆ รวบรวมเพื่อเข้ากระบวนการรีไซเคิลก็ตาม แต่ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นใหม่ในลักษณะที่เรียกว่าการรีไซเคิลแบบวงจรปิดนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และในจำนวนนี้มีขยะพลาสติกเพียง 2% เท่านั้น ที่ถูกรีไซเคิลแบบวงจรปิด และไม่กลับเป็นขยะคุณภาพต่ำ หรือที่เรียกว่าดาวน์ไซเคิล
สาเหตุสำคัญดังกล่าวจึงนำมาสู่การสรุปว่า การรีไซเคิลไม่สามารถแทนที่วัสดุบริสุทธิ์ได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากขยะพลาสติกสามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้เพียงสองครั้งก่อนจะสูญเสียคุณสมบัติที่สำคัญ ที่จะทำให้สามารถเข้าสู่วงจรรีไซเคิลได้อีก
ปัจจุบันจึงได้เกิดการพัฒนาแนวคิด Beyond Recyling (นอกจากการรีไซเคิล) เพื่อนำไปสู่ประเด็นที่ยั่งยืนกว่า โดยจัดลำดับความสำคัญในการป้องกันหรือป้องปรามขยะพลาสติกมากกว่าการดำเนินการในขั้นตอนก่อนหน้าที่จะเกิดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์พลาสติก เพื่อลดจำนวนพลาสติกที่ผลิตขึ้นให้ได้อย่างจริงจัง และนำเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ใหม่ให้ได้มากขึ้น รวมไปถึงการเปลี่ยนพลาสติกไปสู่วัสดุอื่นที่เหมาะสมกว่า
Reduce แนวทางที่กดดันให้ผู้ผลิตต้องหยุดผลิตพลาสติกที่ไม่จำเป็นจำนวนมากเพื่อลดปริมาณขยะ ที่จะเข้าสู่ระบบ และพลาสติกที่ผลิตขึ้นต้องไม่มีกรณียกเว้นว่าเป็นพลาสติกที่ไม่สามารถรวบรวม ใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลหรือเป็นพิษได้ ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม
Replace การนำเอาโลหะ แก้วหรือกระดาษสามารถใช้ทดแทนพลาสติกได้เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนในระดับสากล แล้วแต่รูปแบบการใช้งานสิ่งนั้นๆ ประเมินถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของวัสดุทดแทนทุกชนิดอย่างเข้มงวดตลอดวงจรชีวิต ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการใช้และการกำจัดในที่สุด เพื่อให้แน่ใจและยืนยันได้ว่าวัสดุใช้ทดแทนจะให้ผลดีมากกว่าผลเสีย โดยการประเมินดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงต้นทุนทางสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม แนวทางใหม่ด้านความยั่งยืนตามแนวคิด Beyond Recyling ยังคงยอมรับการรีไซเคิลว่ามีประโยชน์สำหรับพลาสติกบางชนิด แม้ว่าไม่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ โดยเฉพาะอุปกรณ์ทางการแพทย์เพียงแต่การมีอยู่ของการรีไซเคิลไม่ควรทำให้ปริมาณพลาสติกเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน การรีไซเคิลต้องไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ผู้ผลิตต้องทำการผลิตเฉพาะพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ ด้วยวิธีการที่พิสูจน์แล้วว่าปลอดภัยและสะอาด 5 ม ใช้สารเติมแต่งที่เป็นพิษ การติดฉลากอย่างง่ายที่สามารถช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ว่าจะใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลอย่างไร ผ่านกระบวนการที่ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ปริมาณการรีไซเคิลปนเปื้อนด้วยขยะและสารพิษจนไม่สามารถกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้
เงื่อนไขที่เข้มงวดในอนาคตสำหรับการรีไซเคิล ยังเพิ่มเติมในส่วนของการตั้งข้อกำหนดให้พลาสติกที่ส่งไปรีไซเคิล ต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้สูงซึ่งมักจะใช้วิธีการส่งออกขยะไปยังประเทศที่ยากจนเพื่อทำการรีไซเคิลในราคาที่ถูกกว่า ทั้งที่การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ให้หลักประกันที่สามารถบอกได้ว่า จะมีโครงสร้างพื้นฐานและความพร้อมในการจัดการขยะเหล่านั้น
ผลที่เกิดขึ้นติดตามมาจากการปล่อยปละละเลย หรือการมองข้ามประเด็นดังกล่าวคือ ของเสียที่เป็นพลาสติกยังมีการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม มีพลาสติกที่ไปขวางทางระบายน้ำ ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วม บางส่วนถูกเผากลางแจ้งซึ่งมีผลต่อสภาพอากาศ และย้อนกลับมาสู่สุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ในกรณีที่มีความจำเป็น เงื่อนไขที่เข้มงวดในอนาคตสำหรับการรีไซเคิล อาจจะต้องรวมถึงการห้ามหรือจำกัดการส่งออกพลาสติกที่เป็นขยะโดยอ้างว่าจะส่งไปรีไซเคิลยังประเทศด้อยพัฒนาอีกด้วย
ความก้าวหน้าในเรื่องนี้ กำลังจะมีความชัดเจนจากการจัดประชุมที่กรุงปารีสสำหรับการเจรจารอบสอง จากทั้งหมด 5 รอบสำหรับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อการยุติมลพิษของพลาสติก โดยคาดว่าจะมีการหารือกันในทุกด้านของวงจรชีวิตของพลาสติก ตั้งแต่การสกัดวัสดุเพื่อจะนำมาใช้เป็นพลาสติก ไปจนถึงการผลิต การใช้และการกำจัด ตลอดจนการเพิ่มข้อห้ามและข้อกำหนดการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น การนำเอาวัสดุเจือปนที่เป็นพิษเข้ามาใส่ในพลาสติก และการส่งออกของเสียไปยังประเทศอื่นเพื่อเป็นการโยนภาระอีกด้วย