"...น่าคิดว่า อะไรที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้า เราอาจเรียกว่า 'มูลค่า' เช่น ขายของ ที่ได้ผลตอบแทนมากและเร็ว อะไรที่ทำไปแล้ว ไม่ได้ผลตอบแทนเร็วแต่สนองผลประโยชน์ระยะยาว นั่นคือ 'คุณค่า' เช่น งานศิลปะและวัฒนธรรมต่างๆ..."
น่าพิจารณาระหว่างคำว่า 'มูลค่า' กับ 'คุณค่า'
น่าคิดว่า อะไรที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้า เราอาจเรียกว่า 'มูลค่า' เช่น ขายของ ที่ได้ผลตอบแทนมากและเร็ว
อะไรที่ทำไปแล้ว ไม่ได้ผลตอบแทนเร็วแต่สนองผลประโยชน์ระยะยาว นั่นคือ 'คุณค่า' เช่น งานศิลปะและวัฒนธรรมต่างๆ
เมื่อ 7 ปีก่อนหน้านี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจ
รถไฟสายหนึ่งในญี่ปุ่นยืดอายุการให้บริการ ณ สถานีรถไฟแห่งหนึ่ง ยืดไปอีก 3 ปี เพื่อผู้โดยสารคนเดียว ที่เป็นเด็กนักเรียนหญิงให้ได้โดยสารไปกลับบ้านและโรงเรียนจนเด็กเรียนจบชั้นเรียนของเธอ
สถานีรถไฟ 'คิวชิราทากิ' ตั้งอยู่ตอนเหนือของเกาะฮอกไกโด สร้างขึ้นเมื่อปี 2498 ตามที่ชาวบ้านในท้องถิ่นร้องขอเพื่อให้ลูกหลานได้เดินทางไปโรงเรียน
แต่เมื่อปี 2557 ที่สถานีนั้น เหลือผู้โดยสารอยู่เพียงคนเดียวที่ใช้บริการ ทางการรถไฟฮอกไกโดเตรียมแผนสร้างสถานีรถไฟใหม่ซึ่งจะมีผู้โดยสารเพียงพอคุ้มค่าใช้จ่าย แต่อยู่ห่างไกลออกไป จึงดำริจะยกเลิกสถานีนี้เพราะไม่คุ้มค่าใช้จ่าย
แต่แล้วเขากลับเปลี่ยนใจเมื่อพบว่ามีเด็กนักเรียนหญิงหนึ่งคนยังต้องโดยสารรถไฟไปกลับโรงเรียนทุกวัน การรถไฟฮอกไกโดจึงเดินรถรับส่งเด็กเพียงคนเดียวต่อเนื่องไปอีก3 ปี และได้ยกเลิกสถานีนี้ไปเมื่อ 25 มีนาคม 2559 เป็นวันที่ ฮาราดะ คานะ เด็กนักเรียนหญิงวัย 18 ปี เรียนจบชั้นมัธยมของโรงเรียนแล้ว
นี่ไม่ใช่การตัดสินใจธรรมดาประเภทที่ถือหลักเศรษฐศาสตร์เป็นสรณะตายตัวว่า 'ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย'
มันก็ไม่คุ้มจริงนั่นแหละ หากยึดเอา 'มูลค่า' อยู่เหนือ 'คุณค่า'
แต่มันคือการทำงานที่ให้คุณค่า ให้ความสำคัญแก่เด็ก สะท้อนให้เห็นความเป็นผู้มีจิตใจสูงของผู้บริหารการรถไฟฮอกไกโด
หันกลับมาดูเมืองไทยกันบ้าง
ณ บริเวณถนนพระสุเมรุ เยื้องกับหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ใกล้สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ขณะนี้ถ้าใครไปที่นั่นจะเห็นการล้อมรั้วพื้นที่ถนนบริเวณนั้น จนพื้นที่ถนนรถวิ่งเหลือเพียงเลนเดียว เนื่องจากเป็นพื้นที่กำลังก่อสร้างทางขึ้นลงของรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน แห่งประเทศไทย (รฟม.) มีกำหนดจะรื้อถอนอาคาร 7 คูหา บนถนนพระสุเมรุ เพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่ การสร้างทางขึ้นลงของผู้โดยสารรถไฟฟ้า
ปัญหามีว่าอาคาร 7 คูหานั้น เป็นอาคารโบราณสถานที่กรมศิลปากร มีหน้าที่ต้องดูแลรักษาและอนุรักษ์ไว้ให้เป็นมรดกอันน่าภาคภูมิของกรุงเทพมหานคร
ข้อเท็จจริงมีว่า
1. ทั้งการประชุมร่วม 3 ฝ่าย ระหว่างกรมศิลปากร รฟม. และกลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีคุณรสนา โตสิตระกูล เป็นตัวแทน เมื่อ 6 มีค. 66 และการลงพื้นที่ร่วมกันกับอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม ของวุฒิสภา ซึ่งมีคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นประธาน และ นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งลงพื้นที่ด้วย ล้วนมีความเห็นตรงกันที่ต้องการให้ รฟม.ขยับไปให้พ้นจากการรื้อถอน 7 คูหา อธิบดีกรมศิลปากรได้ประกาศชัดเจนว่า “ยังไม่ได้อนุญาตให้ รฟม. ใช้อาคาร 7 คูหานั้นเป็นทางขึ้นลงรถไฟฟ้า”
2. ระหว่างปี 2558 - 2565 อธิบดีกรมศิลปากร 3 คนได้มีจดหมายถึง รฟม. 3 ฉบับ ให้หลีกเลี่ยงการรื้อถอนอาคารที่มีสถานะเป็นโบราณสถาน และในอนาคตอันใกล้นี้หากไม่สามารถยับยั้ง รฟม.ได้ การก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าของ รฟม. ณ สถานีบางขุนพรหม จะต้องรื้อโบราณสถานโรงพิมพ์ศรีหงษ์ และจะต้องรื้อโบราณสถานตึกแขก สำหรับก่อสร้างสถานีศรีย่าน ซึ่งเป็นแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 2 ย่านนั้น
3. กระทรวงวัฒนธรรมได้มีหนังสือถึง รฟม. แล้วว่าเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง มีโบราณสถานหลายแห่งจึงขอให้ รฟม.หลีกเลี่ยงการก่อสร้างที่กระทบถึงโบราณสถานและโบราณวัตถุ
4. ณ สถานีรถไฟฟ้าผ่านฟ้านั้น ความจริงหาก รฟม. ขยับจากจุดเดิมไปราว 50 เมตร ในการสร้างทางขึ้นลง ก็จะหลีกเลี่ยงอาคาร 7 คูหานั้นได้ แต่ รฟม. อ้างว่าได้จ่ายค่าเวนคืนให้เจ้าของอาคาร 7 คูหา และมีการรับเงินค่าเวนคืนกันไปแล้ว
มีรายงานเพิ่มเติมว่าขณะนี้ มีการทุบผนังบางส่วนของอาคารออกไป และมีการเจาะพื้นปูน เป็นช่องสี่เหลี่ยมขุดลึกลงไปข้างล่างมีขนาด 2 x 2 เมตร เหมือนรองรับการเตรียมรื้ออาคาร 7 คูหาแล้ว ทั้งๆ ที่อธิบดีกรมศิลปากรยังไม่ได้ลงนามอนุมัติ
เป็นอันว่านับจากนี้ไป สิ่งที่เป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมายในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ที่ควรรักษาไว้คู่บ้านคู่เมืองจะต้องสยบยอมให้แก่ความต้องการของ รฟม. โดยไม่ไยดีกับคุณค่าของภูมิบ้านภูมิเมืองที่จะต้องรักษาไว้ดังที่อารยะประเทศทั้งหลายได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างไว้แล้ว ไม่ว่าฝรั่งเศส อิตาลี เกาหลีใต้ เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น
ใช่หรือไม่ว่า นับวันสิ่งที่เป็นมูลค่า จะทำลายล้างสิ่งที่เป็นคุณค่า ไปอย่างน่าเสียดาย
และนี่คือการย่ำยีคุณค่าทางศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศไทยให้สูญสลาย
ที่ฮอกไกโดนั้น แม้เด็กนักเรียนหญิงเพียงคนเดียว การรถไฟที่นั่นยังดูแลรักษาน้ำใจด้วยการยืดเวลาให้บริการต่อไปอีก 3 ปี แต่ที่ผ่านฟ้าซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานครนอกจากไม่ยอมรักษาแล้ว ยังย่ำยีเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทยอย่างไร้ความเคารพต่อมรดกของ บรรพชนอีกด้วย
บทความโดย ประสาร มฤคพิทักษ์