กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เปิดเผยตัวเลขผู้ป่วยจากสถานการณ์ไข้เลือดออกที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ จากข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 15,399 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 13 ราย สำหรับในกรุงเทพมหานครมีผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 2,739 ราย อัตราการป่วยต่อประชากร 100,000 ราย มีผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออก 48.63 ราย ซึ่งมีจำนวนมากเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ป่วยทั้งประเทศ (เทียบต่อประชากร 100,000 ราย) และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบว่ามีการติดเชื้อไข้เลือดออกสูงที่สุดอยู่ในช่วงอายุ 5-14 ปี รองลงมาคือ15-34 ปี และอายุ 0-4 ปี ตามลำดับ
แพทย์หญิงณัฐินี อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสาเหตุของการแพร่ระบาดว่า “วงจรการระบาดของไข้เลือดออกที่พบในเขตกรุงเทพมหานครจะมีการระบาดทุกๆ 4 ปี ซึ่งการระบาดใหญ่ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2562 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกประมาณ 14,000 ราย และในปี 2566 นี้ เป็นปีที่ครบรอบการระบาด 4 ปีอีกครั้ง ดังนั้น เราจึงต้องเฝ้าระวังและติดตามการระบาดอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการติดเชื้อลดการเจ็บป่วยรุนแรงและลดการเสียชีวิตจากโรคนี้"
"สิ่งที่น่าสนใจและต้องเฝ้าระวังของการแพร่ระบาดครั้งนี้พบว่า ช่วงเวลาของการระบาดเกิดขึ้นนอกฤดูฝน โดยเริ่มพบผู้ป่วยตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว และมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน สาเหตุอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทำให้อากาศแปรปรวน ภาวะโลกร้อน ทำให้ฝนตกนอกฤดูกาล รวมถึงอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ไข่ยุงลายสามารถปรับตัวและทนทานต่อสภาพอากาศได้ดีขึ้น ตลอดจนการเกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ของยุงลายชนิดต่างๆ และในกรณีของกรุงเทพมหานครที่เป็นเมืองใหญ่และมีแสงสว่างทั้งกลางวันและกลางคืนทำให้ยุงลายสามารถออกมาในตอนกลางคืนได้เช่นกัน”
สำหรับการสังเกตอาการของไข้เลือดออก ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงลอย หรือมีไข้สูงกว่า 38 องศาอยู่ตลอดเวลา มีอาการหน้าแดง เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน บางคนอาจปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ ร่วมกับอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หลังจากนั้นจะเริ่มพบรอยจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง หรือพบว่ามีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ปัสสาวะเป็นเลือด หรือผู้หญิงบางคนอาจมีเลือดประจำเดือนไหลในช่วงที่ยังไม่ถึงรอบเดือน ถ้าเริ่มมีอาการไข้สูง รับประทานยาลดไข้แล้วไข้ยังไม่ลด ปวดศีรษะรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ อย่ารอให้เลือดออกเพราะถ้าเลือดออกแล้วแสดงว่าอาการของโรคมีความรุนแรง หรือ Dengue Shock Syndrome ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ สำหรับแนวทางการรักษาโรคไข้เลือดออกในกรณีที่ไม่รุนแรงแพทย์จะรักษาตามอาการ และแนะนำคนไข้ให้ไปสังเกตอาการตนเองที่บ้าน 3-4 วัน หากไข้ลดลงแต่ยังมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง อาจเป็นไปได้ว่ามีเลือดออกภายในร่างกาย ให้รีบกลับไปพบแพทย์ทันที
เพื่อเป็นการเพิ่มมาตรการการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่เราทุกคนสามารถป้องกันได้ จึงต้องเริ่มลงมือปฏิบัติตั้งแต่ตอนนี้ กรุงเทพมหานครได้ให้คำแนะนำวิธีลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของไข้เลือดออกด้วยการเฝ้าระวังยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรค เช่น มาตรการ 5 ป. คือ ปิด ปิดหรือคว่ำภาชนะเพื่อป้องกันยุงไข่ เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในภาชนะให้สะอาดอยู่เสมอ ปล่อย ปล่อยปลาลงในอ่างเพื่อกินลูกน้ำยุงลาย ปรับ ปรับปรุงสภาพแวดล้อม ลดขยะและแหล่งน้ำขัง ปฏิบัติ ควรปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง หรือมาตรการ 3 เก็บ คือ เก็บบ้านไม่ให้รก เก็บขยะไปทิ้งอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด ทำลายแหล่งน้ำขัง เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการจัดการสิ่งแวดล้อมมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันโรคไข้เลือดออก นอกจากนี้การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยนวัตกรรมการป้องกันโรคไข้เลือดออกก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีและง่าย ซึ่งจะช่วยลดอัตราการป่วยและลดความรุนแรงของโรคได้
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้ร่วมมือกับภาคเอกชนจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงการโรงเรียนติด Guard ห่างไกลไข้เลือดออก ที่จัดเปิดตัวโครงการไปเมื่อเร็วๆ นี้ ผ่านโรงเรียนนำร่องที่อยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงสูงจากโรคนี้ เพื่อให้ครูและนักเรียนตัวแทนได้เรียนรู้และรู้จักวิธีป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ และนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับที่บ้านและชุมชนของตนเอง และทุกสัปดาห์ยังได้จัดให้มี Big Cleaning Day ที่ร่วมกับ สำนักงานเขต ทั้ง 50 เขต ลงพื้นที่ทำความสะอาดสถานที่ต่างๆ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เช่น บ้าน ชุมชน โรงเรียน วัด มัสยิด โบสถ์ โรงพยาบาล โรงงาน สถานที่ราชการ โรงแรม รวมถึงการเข้าไปสำรวจพื้นที่การแพร่ระบาด และ ใส่ทรายทีมีฟอส (Temephos) คว่ำภาชนะ และให้ความรู้ประชาชน เป็นต้น
“สิ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหา ไข้เลือดออกในกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืนก็คือ การที่ประชาชนทุกคนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคและการป้องกันโรคไข้เลือดออกซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย การจัดการสภาพแวดล้อมบริเวณที่พักอาศัยและในชุมชน และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันตนเอง ซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลรวมถึงติดตามข่าวสารเกี่ยวกับโรคได้จาก www.KnowDengueTH.com ที่กรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญของการนำเสนอข้อมูลเพื่อให้ภาคประชาชนได้เข้าใจและรับรู้ถึงภัยอันตรายของโรคนี้ พร้อมทั้งสร้างความสนใจในเนื้อหาที่นำเสนอที่เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา โดยมุ่งไปที่เป้าหมายเพื่อให้กรุงเทพมหานครและประเทศไทยก้าวสู่สังคมปลอดไข้เลือดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ” แพทย์หญิงณัฐินีกล่าวทิ้งท้าย