อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ ร่วมกับนักวิชาการและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติก แม่พิมพ์ และการเคลือบพื้นผิว จัดแสดงการผลิตแนวใหม่ ใช้วัสดุชีวภาพจากมันสำปะหลังมาฉีดเป็นสินค้าผ่านกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยเครื่องฉีดพลาสติกอัจฉริยะจากออสเตรีย ลดปัญหาขยะสะสมแบบยั่งยืน ในส่วนแสดงพิเศษภายใต้ชื่อ “Sustainovation Showcase” (ซัสเทโนเวชั่น โชว์เคส) ในงาน “Manufacturing Expo 2023” (แมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป) มหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ครบครันที่สุดในอาเซียน กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 - 24 มิถุนายนนี้ ที่ไบเทค บางนา
ศิริรัตน์ สังข์วิชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการโครงการ อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ (RX Tradex เดิมชื่อ รี้ด เทรดเด็กซ์) กล่าวว่า อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ ร่วมกับ 7 พันธมิตร ได้แก่ บริษัท Engel Machinery (Thailand), บริษัท โมตัน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท มัตซุย (เอเซีย) จํากัด, กลุ่มบริษัทมิตรผล, สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย (TDIA), วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสมาคมเครือข่ายอุตสาหกรรมชุบโลหะไทย (TEPNET) เพื่อจัดแสดงการฉีดสินค้าพลาสติกจากวัสดุชีวภาพ ด้วยเครื่องฉีดคุณภาพสูงจากยุโรป ที่จะนำมาจัดแสดงในโซน Sustainovation Showcase ในงานมหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ครบครันที่สุดในอาเซียน หรือ Manufacturing Expo 2023
“การจัดแสดงครั้งนี้นับเป็นไฮไลท์สำคัญที่จัดแสดงการผลิตแบบยั่งยืน หรือ Sustainovation Showcase ผู้ชมงานจะได้เห็นกระบวนการทำงานที่มีความต่อเนื่องกัน โดยกระบวนการผลิตสินค้าพลาสติกจากเครื่องฉีดพลาสติกระบบไฟฟ้าทั้งหมด ด้วยเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากมันสำปะหลัง จากนั้นเข้าสู่กระบวนการเตรียมพื้นผิวหลังขึ้นรูปสินค้า ซึ่งทุกกระบวนการของการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อนำไปใช้ ก็สามารถย่อยสลายได้เอง จึงจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม” ศิริรัตน์กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร. เชษฐวุฒิ ภูมิพิพัฒน์พงศ์ รองคณบดีฝ่ายส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกภายในประเทศนั้นถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ การผลิตบรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์การแพทย์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ซึ่งประเทศไทยนั้นถือได้ว่าเป็นผู้นำของการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกภายในภูมิภาคนี้ และมีการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์และการฉีดพลาสติกอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เช่น เยอรมนี ออสเตรีย ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ซึ่งแนวโน้มในอนาคต การผลิตชิ้นส่วนพลาสติกที่มีส่วนผสมของวัสดุธรรมชาติหรือที่เรียกว่า “ไบโอพลาสติก” กำลังเข้ามามีบทบาทอย่างสูง เนื่องจากความต้องการที่จะลดปัญหาขยะที่เหลือใช้ การเกิดปัญหาในการกำจัดขยะและความต้องการที่จะเพิ่มมูลค่าให้แก่พืชผลทางการเกษตร
อร่าม ทองอุไร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เองเกิ้ล แมชชีนเนอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เครื่องจักรที่นำมาจัดแสดงในปีนี้ เป็นเครื่องฉีดพลาสติกระบบไฟฟ้าทั้งหมด ชื่อเครื่อง ENGEL e-mac all-electric machine มีขนาดเล็กเหมาะสำหรับการฉีดสินค้า/แอพพลิเคชันมาตรฐานที่มี cycle time ไม่ต่ำกว่า 6 sec ด้วยขนาดที่เล็กและความยืดหยุ่นในการเพิ่มเติมออปชั่นที่หลากหลาย จึงเหมาะนำมาใช้ผลิตสินค้าหลากหลายชนิด รวมทั้งการใช้งานใน clean room และช่วยประหยัดพื้นที่ในโรงงาน อีกทั้ง all-electric drive concept ช่วยให้มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูง และการเคลื่อนไหวที่แม่นยำ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานมากกว่าเครื่องทั่วไป
“ในกรณีการใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพ ที่เราจะใช้ในการจัดแสดงนี้ ข้อที่ต้องคำนึงถึงจะไม่เหมือนกับการใช้พลาสติกรีไซเคิล หรือผสมรีไซเคิลบางส่วน เนื่องจากเม็ดพลาสติกชีวภาพเป็นวัสดุใหม่ที่มาจากแหล่งเดียวทำให้คุณภาพของเม็ดพลาสติกมีความเสถียร สามารถปรับให้เข้ากับการผลิตแบบดั้งเดิมได้ไม่ยากนักโดยไม่ต้องเปลี่ยนอะไรมาก แน่นอนว่าข้อแตกต่าง นั้นมีความซับซ้อนอยู่บ้าง เช่น การค้นหาอุณหภูมิที่ถูกต้องหรือผลกระทบที่อาจเกิดจากความชื้นของวัสดุ ซึ่งส่งผลให้กระบวนการที่จะต้องฉีดแคบลงกว่าแบบเม็ดพลาสติกใหม่ ดังนั้นการที่เราใช้เครื่องไฟฟ้าล้วน เช่น เครื่อง ENGEL e-mac จะทำให้เราสามารถควบคุมการผลิตอย่างแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถแสดงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการฉีดได้มากมาย เช่น ความแตกต่างของความหนืด (Viscosity) เมื่อเทียบกับความหนืดอ้างอิง (Reference Viscosity) ซึ่งข้อมูลต่างๆ จะช่วยในการปรับฉีดของวัสดุให้ง่ายขึ้น เพราะจะสามารถเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนว่าจุดไหนจำเป็นต้องปรับ"
"โดยเบื้องต้น วิธีการฉีดพลาสติกเม็ดพลาสติกชีวภาพ มีหลักการและกระบวนการที่คล้ายกับเม็ดพลาสติก virgin แต่จะมีช่วงในการปรับค่ากระบวนการฉีดแคบกว่าการฉีดเม็ดพลาสติก virgin อย่างไรก็ตาม ทั้งสองชนิดนั้น เรายังจำเป็นต้องคำนึงถึง shot weight, cycle time, productivity, คุณสมบัติของแม่พิมพ์ และแน่นอนคุณสมบัติของวัสดุ อุณหภูมิในการฉีดที่แตกต่างกัน ดังนั้นเครื่องที่ใช้ฉีดต้องมีความยืดหยุ่นและมีความแม่นยำจึงจะสามารถทำให้ผลิตชิ้นงานออกมาด้วยความเสถียรที่มากขึ้น เช่นเดียวกันกับ ENGEL e-mac all-electric machine ที่มีความแม่นยำ และประหยัดพลังงานสูง พร้อมทั้งยังสามารถปรับให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าได้ อีกทั้งด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ENGEL iQ weight control ช่วยให้ผู้ผลิตลดความกังวลในการปรับฉีดเพราะตัวเครื่องและซอฟท์แวร์สามารถชดเชยความผันแปรที่เกิดขึ้นในกระบวนการฉีดอย่างชาญฉลาด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ คือผลิตภัณฑ์มีน้ำหนักคงที่สม่ำเสมอ”
เฉลิมพล ฮุนพงษ์สิมานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานธุรกิจใหม่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า บริษัท มิตรผล ไบโอเทค จำกัด หนึ่งในกลุ่มธุรกิจใหม่ “ไบโอเบส” (Bio-based) ภายใต้กลุ่มมิตรผล พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรมเพื่อสร้างอนาคตด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยการพลิกโฉมวงการอุตสาหกรรมพลาสติก โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรจากอ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย สู่ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ
“เราเชื่อว่าอุตสาหกรรมพลาสติกจะสามารถเติบโตไปพร้อมกับการช่วยดูแลโลกได้ ในขณะที่ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เราจึงเล็งเห็นโอกาสของธุรกิจผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่สามารถต่อยอดจากผลผลิตทางการเกษตร โดยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ เราเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ มีจุดเด่นหลักคือ ขึ้นรูปได้ง่าย ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกสามารถใช้ทดแทนเม็ดพลาสติกทั่วไปได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องจักรและแม่พิมพ์ จะเป็นทางเลือกใหม่ให้อุตสาหกรรมพลาสติก เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ความต้องการของผู้บริโภค และยังเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยคาร์บอน”
ศาสตราจารย์ ดร. ยุทธนันท์ บุญยงมณีรัตน์ นายกสมาคมเครือข่ายอุตสาหกรรมชุบโลหะไทย (TEPNET) กล่าวว่า สมาคมฯ มุ่งผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและยกระดับศักยภาพให้แก่อุตสาหกรรมการชุบเคลือบโลหะและวัสดุในประเทศไทย เพื่อให้พร้อมรองรับตลาดทั้งในและต่างประเทศ “เราสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน นักวิชาการ สถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายนานาชาติ และมุ่งมั่นสนับสนุนผู้ประกอบการผ่านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล การจัดการสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเทคโนโลยี”
“ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสร่วมสนับสนุนการจัดแสดง Sustainovation Showcase เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับความรุดหน้าในเทคโนโลยีวิทยาการของการผลิตวัสดุโดยคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในส่วนของ TEPNET จะมีการนำเสนอเทคโนโลยีการชุบเคลือบในรูปแบบใหม่ อาทิ การชุบเคลือบวัสดุไบโอพลาสติกและชิ้นงาน 3D Printing รวมทั้งการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการทางด้านงานชุบเคลือบผิวโลหะและวัสดุ เราหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการจุดประกายโอกาส การสร้างเครือข่าย และการพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ อันจะส่งเสริมการต่อยอดขีดความสามารถในการแข่งขันได้ต่อไป”
ศิริรัตน์ กล่าวเสริมว่า “เป็นครั้งแรกของประเทศไทยในการจัดแสดง Sustainovation Showcase กระบวนการผลิตพลาสติกชีวภาพ ตั้งแต่การป้อนวัตถุดิบชีวภาพเข้าไปในเครื่องฉีด จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะได้รับการเตรียมพื้นผิวเพื่อนำไปใช้งาน โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ตั้งแต่เจ้าของวัตถุดิบชีวภาพอย่างกลุ่มมิตรผล บริษัท เองเกิ้ล แมชชีนเนอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของเครื่องฉีดเทคโนโลยีสมัยใหม่จากออสเตรีย บริษัท โมตัน เจ้าของอุปกรณ์สนับสนุนการฉีด สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยและสมาคมเครือข่ายอุตสาหกรรมชุบโลหะไทย ที่ให้คำปรึกษาเรื่องแม่พิมพ์ที่เหมาะสมกับการฉีดเม็ดพลาสติกชีวภาพและการเตรียมพื้นผิว รวมถึงสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือที่ให้คำปรึกษาและจัดหาตัวอย่างแม่พิมพ์หลากหลายรูปแบบมาให้ทดลอง เพื่อให้ได้แม่พิมพ์ที่เหมาะสมกับวัสดุชีวภาพแต่ละชนิด ทั้งนี้ เชื่อว่าผู้ประกอบการที่ได้มาชมจะได้รับทั้งความรู้และแรงบันดาลใจที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการผลิตสินค้าพลาสติกชีวภาพของตนเอง”
Sustainovation Showcase เป็นส่วนหนึ่งของงาน Manufacturing Expo 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ผู้สนใจเข้าชมงาน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ www.manufacturing-expo.com พร้อมลุ้นรับของที่ระลึก