xs
xsm
sm
md
lg

“หมอจบใหม่” ไปทำงานใช้ทุนต่างจังหวัด ลาออกมากถึงปีละ 297 คน / นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากข่าวคราวกรณีแพทย์หญิงที่จบการศึกษาแล้วไปทำงานเพิ่มพูนทักษะ(ใช้ทุนปีแรก) ต้องลาออกเพราะสภาวะกดดันจากการทำงาน หรือแพทย์ที่ขับรถประสบอุบัติเหตุจากการทำงานหนัก ต้องอยู่เวรและพักผ่อนไม่เพียงพอ เมื่อเร็วๆนี้

นั่นทำให้ปัญหาการลาออกของแพทย์จบใหม่จากระบบราชการ กลับมาเป็นที่สนใจของสาธารณะอีกครั้ง


บทความนี้ จึงพยายามรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ จำนวนแพทย์ของประเทศไทย การผลิตแพทย์ การจัดสรรแพทย์จบใหม่ออกไปใช้ทุน ปัญหาการทำงาน การลาออก ตลอดจนข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไขที่อาจจะกระทำได้ดังนี้

1.จำนวนแพทย์ของประเทศไทย : จากข้อมูลของแพทยสภา ณ วันที่ 4 เมษายน 2566

มีแพทย์ที่ขึ้นทะเบียน 72,250 คน เสียชีวิต 3503 คน ถูกเพิกถอนใบอนุญาต 22 คน คงเหลือแพทย์ 68,725 คน
ในจำนวนนี้ ที่สามารถติดต่อได้ 66,685 คน อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ 32,198 คน ทำงานอยู่ในต่างจังหวัด 34,487 คน
อายุ 31-40 ปี มีจำนวนมากที่สุด 21,509 คน
อายุ 20-30 ปี มี 14,174 คน
อายุมากกว่า 70 ปี มี 4229 คน

2) จำนวนแพทย์ที่ทำงานอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข : กระทรวงสาธารณสุขมีแพทย์ทำงานอยู่ทั้งสิ้น 24,649 คน ซึ่งจะต้องรับผิดชอบประชากรประมาณ 45 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 2000 คน หรือถ้าใช้เกณฑ์สากล คือมีแพทย์ 5 คนต่อประชากร 10,000 คน




3) การผลิตแพทย์ของประเทศไทย : ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

2543 ผลิตได้ 1250 คน
2548 ผลิตได้ 1550 คน
2553 ผลิตได้ 1814 คน
2558 ผลิตได้ 2546 คน
2563 ผลิตได้ 2849 คน

จะเห็นได้ว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราสามารถผลิตแพทย์เพิ่มได้มากขึ้นถึง 128%
และได้มีการดำเนินการผลิตแพทย์เพิ่มเป็นโครงการพิเศษขึ้นมา จะทำให้ในปี 2561-2570 จะสามารถรับนักศึกษาแพทย์เข้าศึกษาได้รวม 33,780 คน หรือคิดเฉลี่ยปีละ 3378 คน

4) การจัดสรรแพทย์ออกไปทำงานของประเทศไทย : ผู้ที่จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยของรัฐ ถือว่าเป็นผู้ที่รับทุน เนื่องจากว่าต้นทุนในการผลิตแพทย์จริงนั้นสูงกว่าค่าหน่วยกิตหรือค่าเล่าเรียนที่นักศึกษาแพทย์จ่าย จึงมีหลักการ เมื่อจบแพทย์แล้วต้องไปทำงานชดใช้ทุนในหน่วยงานของรัฐเป็นเวลา 3 ปี

ซึ่งการจัดสรรนั้น จะมีคณะกรรมการจัดสรรซึ่งประกอบไปด้วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุดมศึกษากระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสภาพัฒน์ เลขาธิการ กพ. เลขาธิการแพทยสภา และตัวแทนจากคณะแพทยศาสตร์ 20 แห่ง

โดยในปี 2566 ซึ่งจะมีแพทย์จบ 2759 คน (ไม่รวมคณะแพทยศาสตร์เอกชนและจบจากต่างประเทศ) จะจัดสรรให้เป็นอาจารย์พรีคลินิกที่ขาดแคลน 87 คน และสำหรับโรงเรียนแพทย์ที่เปิดใหม่ 86 คน อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข 80% หลังจากที่หักสองรายการแรก ในปีนี้ได้รับการจัดสรร 1960 คน และอีก 20% จะจัดสรรให้กับคณะแพทยศาสตร์ภูมิภาค 6 แห่งและส่วนราชการต่างๆตามความจำเป็น


5) เปรียบเทียบจำนวนแพทย์ไทยกับประเทศต่างๆ : เมื่อใช้เกณฑ์ของมาตรฐานสากล จะดูจากจำนวนแพทย์ต่อประชากร 10,000 คน

ประเทศไทยถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานปานกลาง คือมีแพทย์ 10 คนต่อประชากร 10,000 คน

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีคุณภาพชีวิตหรือเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกัน เราจะมีน้อยกว่าชัดเจน คือ มาเลเซียจะมี 23 คน สิงคโปร์ 24 คน ญี่ปุ่น 25 คน เกาหลีใต้ 25 คน สหรัฐอเมริกา 26 คน อังกฤษ 30 คน

ในทำนองเดียวกัน พยาบาลก็ถือว่าขาดแคลนด้วยเช่นกัน ( ต่อประชากร 10,000 คน) โดยไทยมีพยาบาล 36 คน
มาเลเซีย 38 คน สิงคโปร์ 62 คน ญี่ปุ่น 120 คน เกาหลีใต้ 82 คน สหรัฐ 158 คน อังกฤษ 86 คน


6) การลาออกของแพทย์บรรจุใหม่ในกระทรวงสาธารณสุข : ข้อมูล 10 ปีย้อนหลัง พบว่ากระทรวงสาธารณสุขได้รับบรรจุแพทย์ใหม่ 19,355 คน เฉลี่ยรับปีละ 1935 คน

เมื่อทำงานครบปีแรก แพทย์ลาออก 23 คนต่อปี ทำงานปีที่ 2 ลาออก 188 คนต่อปี ทำงานปีที่ 3 ลาออก 86 คนต่อปี
รวมใน 3 ปีแรก มีผู้ลาออกทั้งสิ้น 297 คนต่อปี เทียบกับจำนวนรับใหม่ ปีละ 1935 คน คิดเป็น 15.3%

แต่เราก็ยังมีแพทย์ที่ลาออก หลังจากทำงานมาแล้ว 3 ปี อีก 158 คนต่อปี รวมเป็น 455 คน คิดเป็น 23.5% ของจำนวนแพทย์ที่เข้าใหม่แต่ละปี (ยังไม่นับที่เกษียณอายุอีกจำนวน 150-200 คน)


7) สาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้แพทย์ ลาออก

7.1 งานหนัก : เชิงปริมาณคือ มีคนไข้เป็นจำนวนมาก แต่หมอมีจำนวนน้อย เมื่อมีหมอจำนวนน้อย จึงทำให้ภาระงานในเวลาราชการหนัก แล้วก็เป็นภาระงานที่หนักมากของการต้องอยู่เวรนอกเวลาราชการด้วย

เวลาราชการในการทำงานของแพทย์ก็เหมือนข้าราชการอื่นทั่วไปคือ 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่มีโรงพยาบาลถึง 9 แห่ง ที่แพทย์ต้องทำงานนอกเวลาราชการเพิ่มอีกสัปดาห์ละมากกว่า 64 ชั่วโมง
โรงพยาบาล 4 แห่ง ทำงานเพิ่มอีก 59-63 ชั่วโมง
โรงพยาบาล 11 แห่ง ทำงานเพิ่มอีก 52-58 ชั่วโมง
โรงพยาบาล 18 แห่ง ทำงานเพิ่มอีก 46-52 ชั่วโมง
โรงพยาบาล 23 แห่ง ทำงานเพิ่มอีก 40-46 ชั่วโมง

รวมมีแพทย์ที่ต้องอยู่เวรปฎิบัติงานนอกเวลาราชการเกินกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มากถึง 65 โรงพยาบาลด้วยกัน
ตลอดจนยังมีความจำเป็น จะต้องทำงานอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับรักษาพยาบาล เช่น การเปิดซองประกวดราคาเครื่องมือแพทย์ การก่อสร้างโรงพยาบาล เป็นต้น

ในเชิงคุณภาพ : โรคภัยไข้เจ็บในปัจจุบัน มีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น แพทย์จำเป็นจะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้เพิ่มเติม เกี่ยวกับโรคใหม่ วิธีการรักษาใหม่ ตลอดจนเมื่อโลกเปลี่ยนไป คนไข้และญาติพี่น้องก็มีความคาดหวังในผลการรักษาที่มากขึ้นด้วย

7.2 ค่าตอบแทนน้อยเกินไป ไม่เหมาะสมกับงานที่หนักมาก ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพดังกล่าวแล้ว
นอกจากนั้น ยังมีผลมาจากค่าตอบแทนที่สูงมากในภาคเอกชน จึงทำให้เป็นธรรมชาติที่จะมีแพทย์ส่วนหนึ่งไหลไปสู่ภาคเอกชน

7.3 การกระจายแพทย์ยังไม่ดีพอ ในมิติของพื้นที่จะพบว่าแพทย์ครึ่งหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ จึงทำให้ต่างจังหวัดมีความขาดแคลนแพทย์มากกว่ากรุงเทพฯ
และในต่างจังหวัดด้วยกันเอง พบว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขาดแคลนมากกว่าจังหวัดอื่นๆ
นอกจากนั้นความขาดแคลนยังเกิดขึ้นในสาขาที่ไม่เป็นที่นิยมคือ งานหนักและรายได้ไม่ดี ทำให้หมอรุ่นใหม่เลือกที่จะไปเรียนในสาขาที่ทำงานเบากว่าและมีรายได้ดีกว่าจึงเกิดความขาดแคลนในบางสาขามากเป็นพิเศษเพิ่มขึ้นไปอีก

7.4 เรื่องทัศนคติหรือความต้องการของแพทย์รุ่นใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงไปมากเช่นเดียวกับเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ในอาชีพอื่นๆคือ
ต้องการมีสัดส่วนการทำงานกับการพักผ่อนที่ดีขึ้นกว่าเดิม : Work-Life Balance ประกอบกับค่านิยมที่คิดว่าไม่จำเป็นต้องรับราชการ ส่งผลให้มีการลาออกจากราชการมากขึ้น

7.5 การทำงานอยู่ในสภาวะมีความกดดันที่สูง เนื่องจากการทำงานอยู่ในภาครัฐนั้น แพทย์รุ่นพี่หรือแพทย์พี่เลี้ยงก็มีภาระงานที่หนักหนาอยู่แล้ว โอกาสที่จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาหรือดูแลให้คำแนะนำหรือปรึกษาก็จะมีไม่มากนัก

นอกจากนั้นอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือในบางแห่งก็จะไม่เพียงพอ ทำให้แพทย์จบใหม่มีการทำงานอยู่ภายใต้ความกดดันที่สูง

7.6 ความก้าวหน้าหรือความหวังในชีวิตของแพทย์จบใหม่ก็คือ การได้รับโอกาสไปศึกษาต่อในสาขาที่ตนเองพอใจ อาจจะทำให้ไม่มีต้นสังกัดที่จะส่งไปเรียน จึงลาออกไปเรียนแบบอิสระ

ประกอบกับการฝึกอบรมพัฒนาที่จะต้องเกิดขึ้นสม่ำเสมอที่เรียกว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิต ก็เกิดขึ้นได้ยากในโรงพยาบาลที่ขาดแคลนแพทย์ เพราะเมื่อไปฝึกอบรม ก็จะทำให้หมอที่เหลืออยู่มีภาระงานที่หนักมากขึ้นไปอีก

8.1 การแก้ไขปัญหาการลาออกของแพทย์หรือการขาดแคลนแพทย์ มีสาเหตุเป็นพหุปัจจัย : Multifactorial Factors จึงจำเป็นต้องแก้ไขพร้อมกันมากกว่าหนึ่งปัจจัย ไม่สามารถเลือกแค่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งได้

8.2 แม้จะต้องแก้พร้อมกันหลายปัจจัย แต่ก็ต้องเน้นบางปัจจัยที่สำคัญมาก ที่ทำแล้วจะส่งผลต่อการแก้ไขได้มาก : Pareto Principle

ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า 3 ปัจจัยที่มีความสำคัญร่วมกันอย่างมาก คือ
1) เรื่องภาระงานที่หนัก
2) เรื่องค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสม
3) เรื่องทัศนคติการอดทนสู้งานหนัก การเสียสละเพื่อผู้อื่น
สมควรให้ความสำคัญและดำเนินการโดยเร่งด่วน


โดยเพิ่มค่าตอบแทนให้กับสาขาขาดแคลน หรือโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ขาดแคลน ให้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับสาขาหรือโรงพยาบาลที่ขาดแคลนน้อยกว่า เพื่อเป็นการจูงใจให้บุคลากรไปทำงานในที่ขาดแคลน ส่งผลให้ภาระงานต่อบุคลากรในโรงพยาบาลเหล่านั้นลดลง

และจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับค่าตอบแทนให้กับแพทย์และกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขในภาพรวม ให้มีความแตกต่างกับเอกชนไม่มากนัก ซึ่งใช้งบประมาณในจำนวนที่อยู่ในวิสัยที่จะบริหารจัดการได้

การคัดเลือกผู้เข้ามาเรียนแพทย์ ให้เน้นการมีทัศนคติและจุดเริ่มต้นที่ดีของการที่จะจบมาทำงานคือ เป็นคนที่มีความอดทน มีความเสียสละสูงกว่าคนธรรมดา จึงจะสามารถมาทำงานวิชาชีพแพทย์ได้ดี (ซึ่งก็ไม่แตกต่างกับวิชาชีพอื่นในวงการสาธารณสุขด้วยกัน) ก็จะทำให้จบออกมาแล้ว สามารถรับมือกับสถานการณ์งานที่ค่อนข้างหนักได้ในระดับดี ทั้งนี้จะต้องดำเนินการไปพร้อมกับปัจจัยอื่นๆที่เป็นปัญหาข้างต้นด้วย

8.3 หลังจากเริ่มดำเนินการแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการติดตามผลของการแก้ไขดังกล่าว แล้วประเมินดูว่า ได้ผลมากน้อยเพียงใดทุกปี แล้วทำการปรับแนวทางให้เหมาะสมทันท่วงทีต่อไป


ก็คงต้องให้กำลังใจกับแพทย์จบใหม่ทุกท่าน ที่กำลังมุ่งมั่นทำงานอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัดที่ขาดแคลน ที่กำลังทำงานให้การดูแลรักษาพยาบาลกับพี่น้องประชาชนอย่างเสียสละมากมาก


บทความโดย นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา

ที่มา https://www.blockdit.com/posts/64817a124444d0df91979cd6

อ้างอิง แพทยสภา,กระทรวงสาธารณสุข,กระทรวงการอุดมศึกษาฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น