xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ ให้ความรู้เรื่องกลไกทางกฎหมาย-การดูแลนักเรียนที่ได้รับความรุนแรงในโลกไซเบอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัญหาความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นโรงเรียนและสถานศึกษาย่อมส่งผลกระทบทางด้านร่างกายและจิตใจของนักเรียนผู้ตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงและการถูกกลั่นแกล้งข่มเหงรังแก จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ซึ่งทำได้ในหลายมิติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกลไกทางกฎหมายเมื่อมีเหตุความรุนแรง และการดูแลนักเรียนที่ได้รับความรุนแรงทางโลกไซเบอร์ จากงานสัมมนา Teacher Conference ในหัวข้อ “Stop Violence in Schools” (เยาวชนไทยห่างไกลความรุนแรง ครั้งที่ 1) ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับสถาบันสอนภาษาอังกฤษ โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการศึกษาของศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้น ภายใต้โครงการ International Friends for Peace 2023 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงนำมาสู่การจัดงาน "Teacher Conference Stop Violence in Schools : เยาวชนไทยห่างไกลความรุนแรง" ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566  ณ Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันการแก้ไขและยุติปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนและสถานศึกษา  

ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดีด้านการพัฒนานิสิต จุฬาฯ
ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดีด้านการพัฒนานิสิต จุฬาฯ ประธานกล่าวเปิดงานว่า Teacher Conference ในครั้งนี้เปิดโอกาสให้ผู้บริหารสถานศึกษา คณาจารย์ และผู้ที่รับผิดชอบงานด้านวิจัยและกิจการนิสิตได้เพิ่มพูนความรู้และทักษะในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนและสังคมไทย ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านกลไกทางกฎหมาย การดูแลสภาพจิตใจของผู้ถูกกระทำ รวมถึงการป้องกันการเกิดความรุนแรงในอนาคต ในส่วนของกระบวนการทางกฎหมายในการแก้ปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ บรรยายในหัวข้อ “กลไกทางกฎหมายเมื่อมีเหตุความรุนแรง สรุปได้ว่า กลไกทางกฎหมายเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นในโรงเรียนต้องเริ่มตั้งแต่กฎหมายแม่บทประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายที่ครอบคลุมและคุ้มครองเด็กได้ดีพอสมควร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือกฎหมายลำดับรองและแนวทางปฏิบัติจริงที่เกิดขึ้นในการบังคับใช้กฎหมายยังไม่ค่อยสมบูรณ์ สิ่งที่จะต้องแก้ไขก็คือ ในโรงเรียนควรมีกลไกที่คุ้มครองผู้ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง นักเรียนกับครู หรือกระทั่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากบุคคลภายนอกที่เข้ามากระทำกับครูหรือนักเรียน ซึ่งจะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นครู แพทย์ ตำรวจ รวมถึงกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
ซึ่งหากมีการบูรณาการร่วมกันก็จะช่วยคุ้มครองป้องกันความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนได้

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
“การรู้จักเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกันในโรงเรียนเป็นพื้นฐานที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงในโรงเรียน ความรุนแรงเกิดขึ้นจากการขาดความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ดังนั้น จึงควรเริ่มต้นจากการป้องกันและสร้างเสริมความเข้าใจในส่วนนี้ จากนั้นต้องมีมาตรการรองรับหากเกิดเหตุความรุนแรงว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ทั้งในส่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการดูแลและบำบัดอย่างใร ในขณะเดียวกันก็ต้องรับมือป้องกันผู้ที่ก่อความรุนแรงไม่ให้ไปก่อเหตุความรุนแรงในอนาคต
สิ่งที่อยากจะฝากไว้คือว่าเราไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยการใช้ความรุนแรงได้ไม่ว่าในทางใด”
ผศ.ดร.ปารีณา กล่าว

ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ
ในช่วงบ่าย ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ บรรยายในหัวข้อ “การดูแลนักเรียนที่ได้รับความรุนแรงทางโลกไซเบอร์” โดยได้เผยถึงข้อมูลเกี่ยวกับเหยื่อความรุนแรงว่ามักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น
ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายถึงมหาวิทยาลัย โดยคุณครูในโรงเรียนมีบทบาทหลักที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

ผศ.ดร.ณัฐสุดา ให้ข้อมูลว่า ในปี 2566 มีผู้พบความรุนแรงถึง 40% และมีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงถึง 30% ที่น่าสนใจคือยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ออกมาบอกว่าตนตกเป็นเหยื่อ โดยช่องทางหลักของการแสดงความรุนแรงมักเป็น Social Network ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในแพลตฟอร์มที่ไม่ต้องมีการเปิดเผยตัวตน เราไม่สามารถห้ามไม่ให้เด็กใช้โซเชียลได้เพราะข่าวสารข้อมูลที่มีประโยชน์ก็อยู่บนนั้นเช่นกัน แต่จะทำอย่างไรที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กใช้โซเชียลมีเดียได้อย่างมีคุณภาพ

“ครูเป็นเสมือนปราการแรกของเด็กที่สามารถรับฟังอย่างเข้าใจ โรงเรียนสามารถเสริมเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียนสามารถพูดหรือระบายได้ จากงานวิจัยพบว่าคนที่ตกเป็นเหยื่อ Cyberbullying มีความสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตาย การป้องกันในเบื้องต้นจึงมีความสำคัญ ช่วยป้องกันปัญหาใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าวทิ้งท้าย


เสียงตอบรับจากคุณครูและนักจิตวิทยาที่เข้าร่วมงาน Teacher Conference ครั้งนี้

“ได้รับความรู้ในเรื่องความรุนแรงทั้งในแง่ของหลักกฎหมายและกระบวนการดูแลเด็ก สามารถนำไปใช้จริงได้” ตรีประดับ อุทัยเศรษฐวัฒน์ นักจิตวิทยา โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์

“งานนี้มีประโยชน์มากสามารถนำแนวคิดที่ได้รับไปปรับใช้ในฐานะครูที่เป็นคนกลางประสานกับ
นักเรียนได้” นัฐชาติ เรียบร้อย ครูแนะแนว โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี

“โรงเรียนชายล้วนก็มีปัญหาในเรื่องการ Bully งานในครั้งนี้เป็นการสร้าง Awareness ให้ครูเข้าใจปัญหาที่นักเรียนเจอในรูปแบบของ Cyberbullying” อเนชพันธ์ นิธินันท์นฤมิต ครูแนะแนว โรงเรียนทวีธาภิเศก