การขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่และเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญที่ทำให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการขององค์กรต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
สำหรับ “กลุ่มทิสโก้” ไม่เพียงก้าวผ่านมาได้อย่างดี แต่ยังเป็นโอกาสตอกย้ำถึงความสำเร็จของ “แบรนด์องค์กร” จากการได้รับยกย่องให้เป็นองค์กรที่มี “มูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุด” ในหมวดธุรกิจธนาคาร ถึง 2 ปีซ้อน ทำให้ได้รับรางวัล Thailand’s Top Corporate Brands ประจำปี 2021 และ 2022 ต่อเนื่องกัน
การวัดมูลค่าแบรนด์องค์กรดังกล่าว โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการนำตัวเลขจากงบการเงินของบริษัทจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาคำนวณค่าเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 3 ปี ตามเครื่องมือชี้วัดมูลค่าแบรนด์องค์กร Corporate Brand Sustainability Valuation หรือ CBS Valuation ที่นำแนวคิดด้านการตลาด การเงิน และการบัญชี มาบูรณาการให้คุณค่าแบรนด์องค์กรสามารถประเมินเป็นตัวเลขทางการเงินได้อย่างถูกต้อง โดย “ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป” มีมูลค่าแบรนด์องค์กรอยู่ที่ 32,207 ล้านบาท ในปี 2021 และ 35,778 ล้านบาท ในปี 2022 เป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มธุรกิจธนาคาร
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวถึงความสำเร็จดังกล่าวว่า “ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจการเงินได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้หนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ กลุ่มทิสโก้สามารถบริหารจัดการและสร้างผลประกอบการที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความไว้วางใจ
ทั้งยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่นำเสนอต่อตลาดหรือลูกค้า”
หากกล่าวโดยรวมความสำเร็จดังกล่าว เป็นผลมาจากการกำหนดทิศทางขับเคลื่อนองค์กรด้วยความมั่นคงและยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ยึดหลักการบริหารจัดการความเสี่ยงที่รัดกุม และปรับตัวให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ รวมถึงการบูรณาการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเข้าไปอยู่ในทุกกระบวนการดำเนินธุรกิจ
๐ ขับเคลื่อนด้วย 2 แนวทางสำคัญ
กลุ่มทิสโก้อยู่ในธุรกิจการเงินหรือธุรกิจบริหารการเงิน ประกอบด้วย 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน ดังนั้น “การบริหารจัดการความเสี่ยง” จึงถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนองค์กร โดยกำหนดเป็นทิศทางดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ และตัดสินใจบน Risk/Return ที่เหมาะสม รวมถึงยึดมั่นในการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่มุ่งสร้างการเติบโตในเชิงธุรกิจ แต่ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
ตัวอย่างหนึ่งที่เด่นชัด ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบจากโควิด-19 ทิสโก้ถือเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่ออก “มาตรการคืนรถจบหนี้” เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าเช่าซื้อหรือจำนำทะเบียนรถยนต์กับทิสโก้ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจนไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดต่อไปได้ให้มีทางเลือกในการนำรถมาคืน ถ้าคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดทิสโก้จะ “ยกหนี้ให้” โดยไม่มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายใด และระบุสถานะเป็นลูกค้าปิดบัญชี หลังจบมาตรการปรากฎว่าสามารถช่วยเหลือลูกค้าได้มากถึง 8,600 คน
อีกหัวใจสำคัญหนึ่ง คือ “การให้บริการที่ดี” ด้วยการเอาใจเราไปใส่ไว้ในใจลูกค้าเสมอ โดยกลุ่มทิสโก้จะมีการทำกระบวนการ Design Thinking เพื่อวาดภาพ Customer Journey ศึกษาสิ่งที่ลูกค้าอยากได้ (Gain Point) หรือปัญหาที่ลูกค้าเจอ (Pain Point) ดูว่าลูกค้าแต่ละคนมีความต้องการอะไร แล้วจะนำความชำนาญของทิสโก้มาตอบโจทย์หรือปิดช่องว่างนั้นได้อย่างไร โดยการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเครื่องมืออำนวยความสะดวกต่างๆ การพัฒนาช่องทางให้บริการแบบผสมผสานทั้งในออนไลน์และออฟไลน์ (Omni Channel) เพื่อออกแบบสินค้า บริการ และหา Solution ที่ตอบโจทย์ทุกช่วงชีวิตของลูกค้า (Lifetime Partner)
“ทิสโก้เห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็น “เครื่องมือ” ในการยกระดับการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการลูกค้า โดยเปิดรับและทำความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ที่มีอยู่และกำลังจะเกิดขึ้นใหม่ พร้อมมี Innovation Lab ให้ทีมไอทีและทุกคนในองค์กรได้ทำความคุ้นชินก่อนนำไประยุกต์ใช้พัฒนาบริการและกระบวนการทำงาน ตลอดจนสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยทิสโก้มีโครงการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้พนักงาน เช่น โครงการ DE-PI หรือ Decentralize Productivity Improvement การส่งทีมเข้าร่วมประกวดในเวทีต่างๆ และร่วมมือกับชุมชน Tech Community เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตัวเองต่อเนื่อง รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์การนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ เช่น งาน Dev Mountain ที่เป็น Cloud Tech Community งาน Grill the Data ที่เป็น Data Tech Community เป็นต้น"
๐ ตอบโจทย์ธุรกิจด้วย 3 กลไกหลัก
นอกจากนี้ กลุ่มทิสโก้ยังมี 3 กลไกหลัก คือ “Passion” มีความมุ่งมั่น “Professional” มีความเชี่ยวชาญหรือความเก่ง และ “Social” ต้องตอบโจทย์สังคม มีตลาดหรือลูกค้ากลุ่มเป้าหมายชัดเจน เป็นองค์ประกอบสำคัญในการตอบโจทย์ธุรกิจและสร้างความสำเร็จให้กับองค์กร โดยหลักยึดที่ทุกคนเข้าใจตรงกันคือ “ธุรกิจสร้างคุณค่า วัฒนาสู่สังคม” หมายความว่าสิ่งที่ทำทั้งหมดต้องมี “Value Creation” หรือ “การสร้างคุณค่า” และมี ESG (Environmental – Social - Governance) หรือกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนมาใช้เป็นแนวทางในการก้าวเดิน
ยกตัวอย่าง คนในสังคมวันนี้ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษ ความนิยมใช้รถอีวีจึงเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่กลุ่มทิสโก้มีความชำนาญในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ จึงเข้าไปตอบโจทย์และทำให้ส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มนี้สูงขึ้นถึง 20% อีกทั้งยังเป็นตัวกลางหลักเชื่อมโยงการประกันภัยซึ่งเป็นการดูแลลูกค้าแบบ Total Solution อีกด้วย
อีกตัวอย่าง หากมองไปข้างหน้ามีกระแสใหญ่ที่ต้องติดตาม คือการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ของคนไทย และปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน ทิสโก้จึงมุ่งมั่นเข้าไปช่วยคนไทยวางแผนการเงินอย่างจริงจัง โดยสร้างจุดร่วมของผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายมาดูแลลูกค้า ครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ทิสโก้มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งในด้านความไว้วางใจจากนายจ้างและมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ การคัดสรรกองทุนคุณภาพที่เน้นธุรกิจแห่งอนาคต (Megatrends Investment)
การปกป้องความเสี่ยงด้วยประกันบำนาญที่เน้น Living Benefit เพื่อให้คนไทยมีเงินใช้อย่างเพียงพอในยามเกษียณ การช่วยบริหารจัดการภาระหนี้สินของลูกค้าด้วยการรวมหนี้ (Debt Consolidation)
รวมถึงมุ่งเข้าไปแก้ปัญหาการขาดทักษะทางการเงินของคนไทยในกลุ่มต่างๆ ผ่านหลากหลายกิจกรรมและโครงการ เช่น ค่ายการเงินเยาวชน กิจกรรมฉลาดเก็บฉลาดใช้ รู้ไว้เข้าใจหนี้ ซีรีส์ชุมชนสมหวังหมู่ 8 ชมรมเครือข่ายค่ายการเงินฯ โปรแกรมร่วมกับสมาคมธนาคารไทยในโครงการคนไทยยุคใหม่ใส่ใจเรื่องเงิน และล่าสุดค่ายสมหวัง สร้างโอกาส ซึ่งมีผู้ได้รับประโยชน์จากองค์ความรู้กระจายอยู่ทั่วประเทศ ณ สิ้นปี
2565 กว่า 1.1 ล้านคน
นอกจากนี้ ทิสโก้ยังคัดเลือกพันธมิตรที่เชี่ยวชาญในแต่ละธุรกิจมาร่วมดูแล เพราะการดำเนินธุรกิจสร้างคุณค่าเช่นนี้ นอกจากจะได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อลูกค้าแล้ว ยังส่งผลดีกลับไปที่องค์กรธุรกิจและพนักงาน รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ Key Stakeholder ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นส่วนประกอบของสังคม
๐ มุ่งสู่เป้าหมายสูงสุดด้วย “Trust”
กลุ่มทิสโก้ขับเคลื่อนองค์กรอย่างเข้มแข็งต่อเนื่องมามากกว่า 5 ทศวรรษ และมุ่งหวังจะเติบโตอย่างยั่งยืนเป็นองค์กรร้อยปี โดยมีฐานรากสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ “พนักงาน” ที่มีศักยภาพ “วิสัยทัศน์” ที่เฉียบคมและยาวไกล และ “การปฏิบัติการที่ดี” เป็นปัจจัยของความสำเร็จและสามารถสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจให้กับผู้ถือหุ้น พันธมิตร และลูกค้ามาอย่างยาวนาน จนเกิดเป็นแบรนด์องค์กรที่แข็งแกร่ง
นอกจากนี้ กลุ่มทิสโก้มีค่านิยมองค์กรทั้ง 7 ได้แก่ 1. M = Mastery - เชี่ยวชาญอย่างผู้นำ 2. I = Integrity - ซื่อสัตย์ มีคุณธรรม 3. R = Reliability - สร้างผลงานที่น่าเชื่อถือ 4. A = Advice - การให้คำแนะนำ 5. C = Creativity - ความคิดสร้างสรรค์ 6. L = Learning - เรียนรู้สิ่งใหม่เสมอ และ 7. E = Empathy - ใส่ใจบริการ โดยเข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริง
“ด้วยความมุ่งมั่นมาโดยตลอด กลุ่มทิสโก้ดำเนินธุรกิจด้านการเงินอย่างหลากหลาย เช่น เงินฝาก สินเชื่อ หลักทรัพย์ ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือธุรกิจที่เกิดจากความเชื่อมั่นไว้วางใจ หรือ Trust ซึ่งต้องรักษาให้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปลูกฝังพนักงานทุกคนให้มีค่านิยมองค์กร หัวใจสำคัญของการบริการลูกค้าในแบบ MIRACLE อยู่ในดีเอ็นเอ เพราะนอกจากแนวทางหรือแผนงานที่ดีแล้ว คนหรือบุคลากรคือปัจจัยสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวหน้าและบรรลุผลสำเร็จได้อย่างยั่งยืน”