การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบของการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อนซี่งเป็นเรื่องสำคัญระดับโลกที่องค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกประเทศเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม
หนึ่งในทางออกสำหรับวงการอุตสาหกรรมทั่วโลกคือการใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการดักจับ CO2 แล้วนำมากักเก็บไว้ในชั้นหินใต้ดินแบบถาวร (Carbon Capture and Storage: CCS) หรือใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น (Carbon Capture and Utilization: CCU) ซึ่งแนวคิด CCUS กำลังได้รับแรงขับเคลื่อนและสามารถประยุกต์ใช้ได้ในกระบวนการอุตสาหกรรมหลากหลายที่กำลังปล่อย CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นเทคโนโลยีนี้จึงถือเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการลดการปล่อย CO2 และอาจเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลักดันเทคโนโลยีจัดการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ด้วยการเดินหน้าเป็นหน่วยงานกลางประสาน 8 ธุรกิจระดับประเทศจัดตั้ง CCUS Consortium ซึ่งได้ประกาศความร่วมมือในงาน Future Energy Asia (FEA) 2022 การจัดตั้งความร่วมมือในนาม CCUS Consortium นับเป็นก้าวสำคัญในการจัดการ CO2 ซึ่งเดิมถูกมองว่าเป็นมลพิษ นำมาแปรรูปแล้วนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ กล่าวคือเป็นเทคโนโลยีในการนำของเสียมาสร้างเป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางด้านการพาณิชย์ในขณะเดียวกันยังเป็นการขจัดมลภาวะให้กับสภาพแวดล้อมอีกด้วย
ในงาน FEA 2023 ทางคณะวิศวจุฬาฯและหน่วยงานองค์กรสมาชิก CCUS Consortium จึงได้ถือเป็นโอกาสอันดีในการนำเสนอความก้าวหน้าของ CCUS consortium ซึ่งเป็นความร่วมมือที่เป็นต้นแบบในการร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ เอกชน และจุฬาฯ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยด้วยการใช้เทคโนโลยีและวิชาการในการเปลี่ยนปัญหาให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจต่อไปในอนาคต และได้นำเสนอความก้าวหน้าของ CCUS consortium ผ่านการประเมินหลากหลายเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเปลี่ยน CO2 ไปเป็นผลิตภัณฑ์และสารเคมีมูลค่าสูงซึ่งล้วนใช้ในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ สมาชิก CCUS consortium ได้ร่วมกันประเมินศักยภาพเทคโนโลยีต่างๆเพื่อคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการดักจับและใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว และจุฬาฯยังได้เริ่มต้นโครงการการสาธิตเทคโนโลยีการดักจับและการใช้ประโยชน์คาร์บอนไดออกไซด์โดยการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปเป็นเมทานอลโดยผ่านความร่วมมือกับสมาชิกใน CCUS consortium อีกด้วย
นอกจากนี้ ภายในงานได้จัดเสวนาในหัวข้อ "CCUS Consortium Progress Update and Key CCUS Project Collaborations" โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด, คุณพงษ์กิตติ์ ลักษมีพิเชษฐ์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่าย Carbon Capture and Utilization (CCU) และ Hydrogen บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งทิวา เมธาอาภานนท์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า “พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี CCUS นับเป็นเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วนสำหรับประเทศไทย ซึ่งเทคโนโลยีทางด้าน CCUS นับเป็นเรื่องที่ยังต้องพัฒนาต่อเนื่องและประเทศไทยเองก็มีโอกาสสูงในการสร้างเทคโนโลยีทางด้านนี้ได้เท่าทันต่างประเทศซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนและร่วมมือจากทุกภาคส่วน การที่จะสามารถทำการวางแผนตลอดจนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน CCUS ได้นั้น ต้องอาศัยข้อมูลและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในประเทศไทย จากผู้ผลิตและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และมีโอกาสที่จะกับเก็บหรือนำไปใช้ประโยชน์โดยผ่านกระบวนการและเทคโนโลยี จนถึงหน่วยงานที่สามารถวิจัยและสร้างเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อดักจับ กักเก็บ และแปรรูปก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่นมหาวิทยาลัยและองค์กรทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนภาครัฐผู้วางนโยบายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯจึงได้ประสานงานกับหน่วยงานชั้นนำในประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดตั้งความร่วมมือในนาม CCUS Consortium ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการก้าวเดินไปสู่การจัดการก๊าซ CO2 ซึ่ง ขณะนี้ภายใต้ CCUS consortium สมาชิกได้ร่วมกันประเมินและศึกษาแนวทางการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อดักจับและใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย นอกจากนี้ ในฐานะที่จุฬาฯ เป็นสถาบันการศึกษานั้นการเผยแพร่ความรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากลุ่มความร่วมมือนี้จะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งภายในกลุ่มและแก่สังคมต่อไป”
ทั้งนี้ CCUS Consortium จัดตั้งขึ้นโดยมีหน่วยงานเอกชนระดับแนวหน้าของประเทศเข้าเป็นสมาชิกร่วม Consortium ดังต่อไปนี้
กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
- บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน
- บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)
กลุ่มอุตสาหกรรมซีเมนต์
- บริษัท เอส ซี จี ซีเมนต์ จำกัด (มหาชน)
กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี
- บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
- บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด
กลุ่มอุสาหกรรมเหล็ก
- บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน)