ผลจากความสำเร็จในการอบรมพื้นฐานทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าตลอด 6 ปี ผ่านโครงการ ตังค์โต Know-how ปีนี้ มูลนิธิไทยเครดิต ร่วมกับ คณะบัญชี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ต่อยอดพัฒนาหลักสูตรความรู้และทักษะทางการเงินเชิงลึกสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย “เตรียมตัวธุรกิจและการเงิน สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย" หนุนธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งหลักสูตร "ความรู้ทางการเงินสำหรับมนุษย์เงินเดือน" สร้างเส้นทางวางแผนการเงินส่วนบุคคลสู่ความมั่นคงในวัยเกษียณ
มร. รอยย์ ออกุสตินัส กุนารา รองประธานมูลนิธิไทยเครดิต เปิดเผยว่า ทั้งสองหลักสูตรใหม่นี้ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจากคณะบัญชี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งมูลนิธิฯ ได้สร้างสรรค์หลักสูตรทางการเงินขั้นสูงต่อยอดจากขั้นพื้นฐาน ให้เป็นหลักสูตรเชิงลึกที่มีเนื้อหาเข้มข้น ครอบคลุมทุกความต้องการของผู้ประกอบการและมีเครื่องมือที่สามารถนำไปปรับใช้ในการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้เติบโตได้อย่างมั่นคง
ทั้งนี้ มูลนิธิไทยเครดิต มุ่งเน้นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่เคยผ่านการอบรมในหลักสูตรตังค์โต Know-how
ขั้นพื้นฐานมาแล้ว รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่มีความพร้อม และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต โดยจะจัดอบรมกลุ่มนำร่องจำนวน 500 คน ในรูปแบบการลงพื้นที่
สำหรับหลักสูตร "ความรู้ทางการเงินสำหรับมนุษย์เงินเดือน" ถูกออกแบบเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินไปจนถึงหลังเกษียณ ซึ่งจะเปิดกว้างให้กับทุกกลุ่มเป้าหมายของมนุษย์เงินเดือน หรือผู้มีรายได้ประจำ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน โดยหลักสูตรจะกำหนดเส้นทางการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ได้แก่ การสำรวจเป้าหมายทางการเงิน ข้อมูลฐานะการเงินทั้งทรัพย์สินและหนี้สิน การบริหารค่าใช้จ่าย การจัดการหนี้ การออม การคำนวณภาษีและการจัดการความเสี่ยงทางการเงิน
มร. รอยย์ กล่าวอีกว่า นอกจากบุคคลแล้ว องค์กรที่เล็งเห็นความสำคัญในการให้ความรู้และทักษะทางการเงินแก่บุคลากรขององค์กร สามารถติดต่อมายังศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ โทร. 02-697-5454 ซึ่งมูลนิธิฯ จะลงพื้นที่จัดฝึกอบรม ณ หน่วยงานที่แจ้งความประสงค์ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังจัดให้มีการฝึกอบรมผ่านเฟซบุ๊ค “ตังค์โต Know-how” ในรูปแบบไลฟ์สดเดือนละ 2 ครั้ง ทุกวันพฤหัสบดี ที่ 2 และ 4 ของทุกเดือน ซึ่งผู้เข้าอบรมสามารถพูดคุยกับวิทยากรได้แบบเรียลไทม์
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ลินดา พัฒนวิทยากุล อาจารย์ประจำคณะบัญชี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ในฐานะประธานที่ปรึกษาโครงการรับรองมาตรฐานหลักสูตรความรู้ทางการเงินในโครงการ "ตังค์โต Know- how" กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรความรู้และทักษะทางการเงินสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยขั้นสูง จะเน้นเรื่องทำธุรกิจอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ โดยมุ่งเน้นติดอาวุธสำคัญ 4 ด้าน คือ ด้านการตลาด ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนจุดแข็ง อุปสรรคและโอกาสทางธุรกิจ ช่องทางการขายที่จะทำให้มีรายได้เพิ่ม การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มยอดขายและมีกำไรสูงขึ้น
ด้านการเงิน สอนการคำนวณต้นทุนธุรกิจ และบริหารเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่มักจะลืมคิดค่าแรงของตัวเองซึ่งเป็นต้นทุนแฝง ทำให้ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ส่งผลต่อการกำหนดจุดคุ้นทุนและกำไรไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังเป็นการสอนให้เตรียมตัวที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต เรียนรู้การวางแผนขยายธุรกิจ และแนวทางการขอสินเชื่อเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้น
ด้านบัญชี ต้องมีการทำบัญชีรายวัน จัดเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นข้อมูลรายรับ-รายจ่าย ได้อย่างชัดเจน เพราะไม่ใช่แค่เรื่องกำไรขาดทุน แต่จะทำให้ผู้ประกอบการตรวจสอบได้ว่า มีค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่มากเกินไปหรือไม่ จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายอะไรได้อีก และจะใช้วิธีไหนเพื่อช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น
ด้านภาษี จะสอนการคำนวณภาษีสำหรับผู้ประกอบการ รวมถึงให้ความรู้ที่จะทำให้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีบุคคลธรรมดา
ส่วนหลักสูตรสำหรับมนุษย์เงินเดือน จะช่วยวางแผนการเงินตั้งแต่เริ่มทำงานใหม่ๆ ไปจนถึงเกษียณ เช่น
การตั้งเป้าหมายทางการเงินให้เพียงพอไปตลอดชีวิต การออมซึ่งรวมถึงเงินสำรองฉุกเฉินเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นได้ การทำงบรายรับรายจ่ายล่วงหน้า และการประเมินความเสี่ยงทางการเงิน เป็นต้น
โดยทั้งสองหลักสูตรได้ผ่านการพิจารณาและกลั่นกรองเป็นอย่างดีจากคณะทำงานที่ประกอบด้วยคณาจารย์จา
กคณะบัญชี เศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ โลจิสติกและโซ่อุปทานแบบลีน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี
TaxBugnoms จึงมั่นใจได้ว่าเป็นหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพในทุกมิติ
"ภายใต้ปรัชญา Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ มูลนิธิฯ จึงมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต และ
EMpower เสริมสร้างพลังแกร่ง ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ทางการเงินให้มีภูมิต้านทานทางการเงิน เพื่อนำพาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน” มร. รอยย์ กล่าวปิดท้าย