มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมโครงการ “การสร้างสรรค์สื่ออย่างมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาชุมชน” ลงพื้นที่ชุมชนเปิดพื้นที่และให้โอกาสนักศึกษามีส่วนร่วมออกแบบ และสร้างสรรค์สื่อเพื่อแก้ปัญหาชุมชน
กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การสร้างสรรค์สื่อของนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตจากโครงการดังกล่าว ถือว่าเกินความคาดหมาย เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรและสถาบันการศึกษาในการทำงานผลิตสื่อเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งประชาชนในชุมชนต่างๆ ทั้ง 7 ชุมชนสามารถนำสื่อซึ่งสื่อสารในประเด็นปัญหาหรือความต้องการของชุมชนไปใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี เพราะอาจารย์และนักศึกษาม.รังสิตที่ร่วมโครงการนี้ได้ลงชุมชนจริง และเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน ได้เห็นปัญหา และนำมาต่องยอดเป็นการสร้างสรรค์สื่อ ผลิตคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งอินโฟกราฟิก โปสเตอร์ โมชั่น สติ๊กเกอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสื่อสมัยใหม่ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในชุมชนได้มากขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรัชฌา วิเชียรปัญญา อาจารย์ประจำสาขาวิชามัลติมีเดีย วิทยาลัยนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต ในนามของผู้รับผิดชอบโครงการ “การสร้างสรรค์สื่ออย่างมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาชุมชน” กล่าวว่า สาขาวิชามัลติมีเดีย วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ได้ตระหนักถึงเป้าหมายการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัยให้มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของพลเมืองโลก โดยเป็นผู้เรียนรู้และเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับสังคมผ่านการดำเนินโครงการฯ ที่สอดแทรกไปกับการเรียนการสอนในรายวิชา “การวิจัยมัลติมีเดีย” ซึ่งให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่อยู่บนพื้นฐานแนวคิด “มนุษย์เป็นศูนย์กลางของการออกแบบ” (Human- Centered Design หรือ HCD) ซึ่งหมายถึง การออกแบบและสร้างสรรค์สื่อเพื่อแก้ปัญหาและตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้สื่อเป็นสำคัญ
แนวคิดดังกล่าวจะสำเร็จลงได้ก็ด้วยการมีส่วนร่วมของผู้ใช้สื่อ ซึ่งผู้เรียนจะต้องมีกระบวนการศึกษาและทำความเข้าใจในประเด็นปัญหาและความต้องการของผู้ใช้สื่ออย่างลึกซึ้ง สาขาวิชาฯ “โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคประสานงานกับชุมชน 7 ชุมชน อันได้แก่ ชุมชนหมู่บ้านพลายรัตนะ ชุมชน กม. 24 ชุมชนหมู่บ้านณัฐกานต์ 5 ชุมชน สตรีเหล็กพัฒนา ชุมชนโกสุมร่วมใจ 3 ชุมชนบูรพา 18 และชุมชนเอื้ออาทรที่ได้เปิดพื้นที่และให้โอกาสกับนักศึกษาได้เข้าไปสัมภาษณ์เชิงลึกเพื่อค้นหาปัญหาและความต้องการใช้สื่อในการทำงานขับเคลื่อนการคุ้มครองผู้บริโภค จึงเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการคิดเชิงออกแบบและนำไปสู่การผลิตสื่อที่พร้อมจะส่งมอบให้กับชุมชนทั้ง 7
นายเมธสิทธิ์ สุขสถิตย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชามัลติมีเดียวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การร่วมโครงการดังกล่าว ทำให้ได้เรียนรู้หลายเรื่อง และที่เห็นได้ชัดคือ การลงชุมชน ทำให้มีโอกาสได้ไปลองทำอะไรใหม่ๆ เพื่อสังคม และสร้างประโยชน์ให้แก่บุคคลภายนอก ทั้งยังได้รู้จักการบริหารเวลาในการทำงานภายใต้ขอบเขตเวลาที่จำกัด
ได้รู้จักการทำงานเป็นทีม และสำหรับสื่อที่ได้ทำนั้นเป็นการสะท้อนถึงปัญหาของชุมชนจากการไปสัมภาษณ์คนในชุมชนมาว่าปัญหาต่างๆ เหล่านั้น สามารถสร้างสรรค์สื่อออกมาในรูปแบบใดได้บ้าง และสามารถตอบโจทย์ทางด้านของกลุ่มเป้าหมายได้มากน้อยแค่ไหน และสุดท้ายชุมชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามที่ต้องการหรือไม่ ทั้งหมดเหล่านี้คือการสร้างสรรค์สื่อให้สะท้อนมันออกมาจากตัวสื่อให้ชัดเจนที่สุด
สำหรับผลงานที่ทำเป็น Infographic ทั้ง 2 ชิ้น ชิ้นแรกจะเกี่ยวกับสุขภาพในหน้าร้อน ส่วนชิ้นที่สอง จะเกี่ยวกับภัยจากออนไลน์
นายอิทธิกร อุดมพร นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชามัลติมีเดีย วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า พวกเราได้ผลิตสื่อตามความต้องการของชุมชน 4 สื่อ ได้แก่ โปสเตอร์ แผ่นพับสติ๊กเกอร์ และเสียงตามสาย โดยสื่อที่จัดทำได้สะท้อนถึงความเป็นอยู่และความห่วงใยกันของคนในชุมชน ซึ่งทางชุมชนต้องการให้ทำสติ๊กเกอร์ที่สามารถบอกเบอร์โทรศัพท์ละแวกบ้านใกล้เคียงได้ และเบอร์โทรศัพท์สายด่วนของหน่วยงานต่างๆ ทั้งนี้ เราสามารถเข้าใจได้ว่า ทางชุมชนกม. 24 มีความใส่ใจกันตลอดมา ถึงแม้ว่าจะเป็นชุมชนผู้สูงอายุ แต่ก็ให้ความสำคัญกับคนในชุมชนดั่งเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน
สำหรับการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้นับว่าเป็นโอกาสที่หาได้ยากเพราะได้ทำงานร่วมกับชุมชน ได้เข้าใจถึงสภาพปัญหาของสื่อเก่าในชุมชน และทราบถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งทางชุมชนก็มีความต้องการด้านสื่อที่อยากให้พวกเราได้ทำ
และได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องสื่อเดิม และพัฒนาต่อยอดเพิ่มช่องทางการเผยแพร่สื่อ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายในชุมชนนั้น
สามารถเข้าถึงสื่อที่พวกเราผลิตได้ทั่วถึงมากขึ้น
นายนันทพัทธ์ เชาวลิต นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชามัลติมีเดีย วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากการที่ได้สร้างสรรค์สื่อชุดนี้ทำให้เกิดการเรียนรู้และประสบการณ์ใหม่มากมาย ตั้งแต่วันแรกที่ลงพื้นที่สัมภาษณ์คนชุมชน ได้เรียนรู้ถึงปัญหาที่มีในชุมชน และสิ่งที่ชุมชนต้องการ หลังจากนั้นผมและสมาชิกในทีมได้สร้างสรรค์สื่อตามความต้องการของชุมชน และได้เรียนรู้ในเรื่องการทำสื่อให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย โดยมีอาจารย์คอยให้คำปรึกษาได้เรียนรู้ว่าคอนเทนต์แบบใดจึงจะเหมาะกับชุมชน การดีไซน์อย่างไรจึงจะเหมาะสม และที่สำคัญคือรู้สึกดีใจที่ได้ประสบการณ์สร้างสรรค์สื่อที่มีประโยชน์ให้กับชุมชน"
"โดยกลุ่มผมได้จัดทำสื่ออินโฟกราฟิกเพื่อให้ข้อมูลในการดูแลสุขภาพในหน้าร้อน ทั้งในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และที่สำคัญคือโรคภัยไข้เจ็บ และชุมชนยังมีปัญหาอีกเรื่องคือการหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จึงได้สร้างสรรค์สื่อโมชั่นกราฟิกเกี่ยวกับการรับมือกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์อีกด้วย"
ด้าน นายนภัสสุชน เสาวภา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชามัลติมีเดีย วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สื่อที่ได้จัดทำคือการสะท้อนถึงปัญหาความเดือดร้อนที่ยังคงเกิดขึ้นกับคนในชุมชน ในการนำเสนอตัวสื่อเหล่านี้จึงอยากจะมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจและช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับพี่น้องที่อาศัยอยู่ในชุมชน ได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งที่ผ่านมาผมไม่เคยได้ทราบถึงปัญหาหรือมาสัมภาษณ์ถึงปัญหาความเดือดร้อนที่คนในชุมชนต้องพบเจอเลย การที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้กับชุมชน เป็นสิ่งที่ประทับใจและเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับตัวเองมากๆ
สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึันไม่ได้เลยถ้าเราไม่รับฟังเสียงของผู้ที่กำลังเดือดร้อน ต้องขอบคุณชุมชนที่ให้ความร่วมมือในการบอกถึงปัญหา เพื่อที่จำได้นำไปทำสื่อมาช่วยแก้ไขปัญหากับชุมชนให้ได้มากที่สุด แล้วก็ต้องขอขอบคุณพี่ๆ จากหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้เปิดโอกาสให้พวกผมได้มีส่วนในการช่วยเหลือแก้ไขปัญให้กับสังคม เป็นประสบการณ์ที่ประโยชน์และคุณค่ามาก