ปกติช่วงฤดูฝนจนถึงต้นหนาว ในหุบป่าตาด เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน พื้นที่ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี มีหนึ่งสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์หายาก ซึ่งพบในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวเท่านั้น นั่นคือ "กิ้งกือมังกรสีชมพู" ที่จะเผยตัวให้เห็นเพียงปีละครั้งเท่านั้น
"กิ้งกือมังกรสีชมพู" สิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ ที่ถูกการันตีด้วยการประกาศให้เป็นสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ในอันดับที่ 3 ของโลก จากมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในด้านความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก
ที่ได้ชื่อว่า "กิ้งกือมังกรสีชมพู" เพราะอยู่ในวงศ์กิ้งกือมังกร (พาราดอกโอโซมาติเดีย) บวกกับสีชมพูสดใส และยังมีลักษณะเด่นด้วยลวดลายและปุ่มหนาคล้ายมังกร เมื่อโตเต็มวัยจะมีลำตัวยาว 7 ซม. มี 20 - 40 ปล้อง ที่สำคัญและต้องระวังสำหรับนักท่องเที่ยวคือ สามารถขับสารพิษประเภทไซยาไนด์ เพื่อป้องกันตัวได้อีกด้วย
เครดิตคลิป อาสาพาไปหลง - asapapailong
การเข้าไปชมกิ้งกือมังกรสีชมพู สามารถชมได้ในช่วงเข้าฤดูฝนจนถึงต้นหนาว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - พฤศจิกายน ขึ้นอยู่กับความชุ่มขื้นของผืนป่า (ชมคลิป)
ทั้งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2550 ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ของโลก ที่ต่อมาตั้งชื่อว่า กิ้งกือมังกรสีชมพู (Shocking Pink Millipede) จนเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 สถาบันไอไอเอสอี (International Institute of Species Exploration : IISE) แห่งมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศยืนยันให้กิ้งกือมังกรสีชมพู ที่หุบป่าตาด นี้เป็นสุดยอดของการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ อันดับที่สามของโลก
ลักษณะเด่นคือ สีชมพู ที่สดใสแบบ shocking pink กับรูปร่างที่ดูสง่างาม มีลวดลายและปุ่มหนามตามลำตัวคล้ายมังกร จัดอยู่ในวงศ์กิ้งกือมังกร หรือพาราดอกโอโซมาติเดีย (Paradoxosomatidea) เมื่อโตเต็มวัย มีลำตัวยาวประมาณ 7 เซนติเมตร มีปล้องราว 20 ถึง 40 ปล้อง นับเป็นสัตว์ที่สามารถขับสารพิษประเภทไซยาไนด์ เพื่อป้องกันตัวเอง
สำหรับหุบป่าตาดซึ่งเป็นป่าดึกดำบรรพ์ ตั้งอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านชายเขา หมู่ที่3 ตำบลทุ่งนางาม อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี
ปัจจุบันถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับต้นๆ ของจังหวัดอุทัยธานี โดยพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นถ้ำหินปูนมาก่อน ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ทำให้หลังคาถ้ำพังถล่มลงมา กลายเป็นหลุมยุบหรือหุบ ในปัจจุบันพบต้นไม้ดึกดำบรรพ์ ขึ้นอยู่หลายชนิด เช่น ต้นตาด สมพง ยมหิน ปอหูช้าง ปรง และกล้วยผา เป็นต้น
นอกจากนี้ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน ยังพบสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ เช่นเลียงผาที่ออกมาหากินแทบทุกคืน ที่นี่เปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ซึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือช่วง 11.00 - 13.00 น. เป็นช่วงที่แสงอาทิตย์สาดส่องลงมายังหุบเขาทำให้เกิดภาพที่สวยงามบริเวณห้องโถงถ้ำกลาง ที่มีหินงอกหินย้อย ถือว่าเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึกมากที่สุด
อ้างอิง : สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่12 (นครสวรรค์)
ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช