xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการศศินทร์ ร่วม Ted Talk 2023 นำเสนอ "แนวคิดพัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุนผู้สูงวัยในการทำงาน"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ Head of Research Unit in Finance and Sustainability in Disruption Era สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin School of Management) ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในผู้ร่วมนำเสนอบนเวที TED 2023: Possibility “Leaping Boldly into New Global Realities” ที่ Vancouver ประเทศแคนาดา เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเวที Ted Talk นี้มี Speakers ที่น่าสนใจจากทั่วโลกมาร่วมงาน อาทิ Greg Brockman จาก Open AI Co-founder และ Shou Chew CEO ของ TikTok เป็นต้น

รศ.ดร.ปิยะชาติ ได้นำเสนอหัวข้อเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่สามารถช่วยให้ผู้สูงวัยก้าวข้ามอุปสรรคทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคมในการจ้างงาน โดยคนส่วนใหญ่มองว่า จำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้นเป็นปัญหาของประเทศ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ต่อไปจะมีแต่คนไปโรงพยาบาล ไม่มีคนทำงาน มีแต่ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ มองแต่เรื่องลบๆ แต่สำหรับ รศ.ดร.ปิยะชาติ สื่อสารออกไปในมุมตรงกันข้าม

How to unlock ทำอย่างไรที่เราจะคิดให้เป็นเรื่องบวกได้ การทำงานเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต หากว่าวันหนึ่งเราไม่มีงานทำ หรือเราทำงานไม่ได้ก็จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก การทำงานเป็นหนึ่งในโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ได้แบบปกติ เพราะการมีรายได้เพื่อหาเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัวเป็นส่วนสำคัญต่อการดำรงชีวิตอย่างปกติของคนบนโลกที่มีจำนวนมหาศาล

เมื่อพูดถึงการทำงานของผู้สูงวัย หากถึงวันหนึ่งที่ผู้สูงวัยเหล่านั้นไม่มีงานทำหรือมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาเป็นข้อจำกัดในการทำงาน เพราะเป็นความเชื่อของคนทั่วโลกที่ว่าผู้สูงวัยไม่สามารถทำงานได้ ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการทำงานหรือค่าจ้างในการจ้างงานคนสูงวัยสูงกว่าคนรุ่นใหม่ ถือว่าเป็นการปิดโอกาสผู้สูงวัยในการทำงาน โดยในปี ค.ศ.2050 บนโลกนี้จะมีผู้สูงวัย สองพันล้านคน และจำนวน 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้สูงวัยส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา
เพราะฉะนั้นในประเทศเหล่านี้จะมีผู้สูงวัยจำนวนมากที่ไม่มีเงินใช้จ่าย นั่นหมายถึงคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในประเทศเหล่านี้ไม่มีคุณภาพที่ดีพอ เพราะมีเงินออมไม่พอ และโครงสร้างทางสังคมทั่วโลกจะกดดันและบีบคั้นให้ผู้สูงวัยเหล่านี้ไม่มีโอกาสทำงาน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับชีวิตของ ผู้สูงวัย

รศ.ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ Head of Research Unit in Finance and Sustainability in Disruption Era สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ฯ
นอกจากนี้ บนเวที Ted Talk ที่แคนาดา รศ.ดร.ปิยะชาติ ยังได้พูดถึงการที่สังคมหรือบางองค์กร
ไม่ให้ความสำคัญกับผู้สูงวัย โดยคิดว่ามีศักยภาพและประสิทธิภาพน้อย หรือบางครั้งก็มีการ Early Retire เพราะคิดว่าค่าจ้างในการทำงานแพง ในความคิดเห็นของ รศ.ดร.ปิยะชาติ มีความเสียดายประสบการณ์ องค์ความรู้ในการทำงานที่สะสมมายาวนาน โดยคิดว่าบางลักษณะงานต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้สูงวัยเหล่านี้เพื่อสนับสนุนการทำงานให้เป็นไปได้ด้วยดี การนำเสนอไอเดียในครั้งนี้เพื่อจุดประกายให้มองกลับมาใหม่ว่าผู้สูงวัยมีคุณค่ากับสังคมมากกว่าที่เคยมองกันมาก่อนหน้านี้

รศ.ดร.ปิยะชาติ มองว่าควรนำ Senior Employment Technology มาทำให้ผู้สูงวัย transform
กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยไม่ให้ติดอุปสรรค ยกตัวอย่างเช่น
คนเมื่อห้าหกร้อยปีก่อนไม่มีแว่นตา ซึ่งคิดว่าน่าจะลำบากในการทำงานหรือการใช้ชีวิต เมื่อเรามีแว่นสายตาปัญหาก็จบ เช่นเดียวกันถ้าเรามีเทคโนโลยีที่จะมาช่วยการทำงานให้กับผู้สูงวัย อุปสรรคต่างๆ ก็จะหายไป ก็จะไม่มีใครมีความคิดว่าผู้สูงวัยทำงานไม่ได้

ที่ผ่านมาเรามีเทคโนโลยีช่วยผู้สูงวัยในวัยเกษียณหรือผู้สูงวัยที่รักษาตัวในโรงพยาบาล
แต่เรายังไม่มีเทคโนโลยีที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้สูงวัยสามารถกลับไปทำงานได้ปกติ
โดยที่ผ่านมาประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีเทคโนโลยีช่วยให้ผู้สูงวัยกลับเข้ามาทำงานได้อยู่บ้าง
แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนายังไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้เลย ดังนั้นเทคโนโลยีที่ว่านี้ต้องได้รับความสนใจ โดยหาวิธีหรือสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานของคนในประเทศนั้นๆ ที่ราคาไม่แพง เข้าถึงง่าย

อุปสรรคของผู้สูงวัยในการทำงานหลักๆ มี 3 ด้าน

1.อุปสรรคทางด้านร่างกาย เช่นร่างกายไม่เอื้อต่อการทำงาน เช่นการยกของหนัก ซึ่งเรื่องนี้เทคโนโลยีช่วยได้ หรืออาชีพบางอย่างที่ต้องยืนนานๆ หรือนั่งนานๆ ก็อาจจะต้องมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้สูงวัยมีความสะดวกในการทำงานได้มากขึ้น นอกจากนั้นยังมีผู้สูงวัยที่เป็นอาสาสมัครในงานเพื่อสังคมโดยนำประสบการณ์ ความรู้ไปแบ่งปัน ซึ่งถือว่ามีคุณค่าต่อสังคม

2.อุปสรรคทางด้านการเดินทางไปทำงานของผู้สูงวัย ซึ่งการเดินทางอาจใช้เวลานานหรือการเดินนานๆ หรือการที่รถติดนานๆ ล้วนเป็นอุปสรรคของผู้สูงวัย ทำไมเราไม่ลองคิดว่ามีงานจำนวนมหาศาลที่สามารถทำงานได้จากที่บ้านโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง โดยเห็นได้จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาเราสามารถทำงานจากที่บ้านได้โดยไม่มีสิ่งใดติดขัด ทำไมเราไม่นำสิ่งเหล่านั้นมาปรับการจ้างงานของผู้สูงวัยได้ มีงานที่สามารถทำจากที่ไหนก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ ในเหตุการณ์โควิดได้พิสูจน์สิ่งเหล่านี้มาแล้ว และการปรับวิธีคิดการทำงาน สามารถช่วยให้ผู้สูงวัยกลับเข้ามาทำงานหลังจากเกษียณได้จำนวนไม่น้อย ซึ่งระบบ Remote Working
จะตอบโจทย์เรื่องนี้ได้

3.อุปสรรคทางสมอง ทางความจำ ซึ่งต้องยอมรับว่า ผู้สูงวัยไม่สามารถจำเรื่องใหม่ๆ ได้เยอะเท่าเด็กรุ่นใหม่ การปรับตัวตามเทคโนโลยีอาจไม่ได้เร็ว หรือความคล่องตัวในบางอย่างอาจลดลง
ทำไมเราไม่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจำหรือช่วยไกด์วิธีการใช้งาน หรือบางงานใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้งานบางอย่างรวดเร็วขึ้น เพื่อให้ผู้สูงวัย ใช้ทักษะ ประสบการณ์ทางด้านอื่นๆ ในการทำงานได้

สิ่งที่เราขาดคือขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งถ้าสิ่งเหล่านี้จุดประกายให้หลายๆ ภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกันเพื่อเกิดการพัฒนาในส่วนต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนให้ผู้สูงวัยสามารถกลับเข้ามาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความพร้อม เช่นเรื่องซอฟท์แวร์ เอ็นจิเนียริ่ง นักวิศวกร ร่วมมือกับนักลงทุน และเชื่อว่าการพัฒนาในส่วนนี้จะมีตลาดรองรับ และตลาดจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ผู้สูงวัยที่ต้องการทำงานอาจจะเป็นเรื่องของการเงิน หรือบางส่วนอาจเป็นเรื่องของคุณค่าในตัวเอง

ในอนาคตผู้สูงวัยทั่วโลกจะมีจำนวนมหาศาล และยังมีส่วนขับเคลื่อนการทำงานเศรษฐกิจและสังคมได้ โดยเป็นทรัพยากรที่มีความรู้ มีประสบการณ์ มีค่ากับประเทศ เพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจและสังคม และไม่เป็นภาระกับประเทศอย่างที่คิดกัน และยังช่วยลดภาระทางการเงินของประเทศได้อย่างมาก

สำหรับผู้ที่สนใจกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงวัยเอง ผู้สูงวัยในอนาคต
ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยี ผู้ที่กำลังหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ หรือนักลงทุนที่ต้องการช่วยสังคม สามารถติดตามกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นได้ทาง https://www.sasin.edu
หรือ https://www.facebook.com/sasinschoolofmanagement เพื่อร่วมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมในด้านนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น