xs
xsm
sm
md
lg

ส่อง Green Living Trends เทรนด์การออกแบบและก่อสร้างที่อยู่อาศัย ด้วยนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความสุขที่ยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แนวคิด Green Living เป็นเทรนด์ของการก่อสร้างยุคใหม่ ที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญในการส่งเสริมและต่อยอดให้เกิดผลงานอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการออกแบบก่อสร้างที่อยู่อาศัย อาคาร รวมไปถึงงานสาธารณูปโภคตอบโจทย์เมืองน่าอยู่ ปัจจัยหลักเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนที่เริ่มส่งผลกระทบต่อโลกของเราอย่างชัดเจน และในหลายปัญหาเริ่มกระทบต่อการอยู่อาศัยรุนแรงมากขึ้น โดยในส่วนของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์และสถาปัตยกรรมต่างให้ความสำคัญกับการออกแบบและการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเทรนด์ของผู้บริโภคที่ต้องการที่อยู่อาศัยที่อยู่สบายไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม

ในงานสถาปนิก’66 จระเข้พาวิลเลียน เป็นอีกหนึ่งเวทีที่ให้ความสำคัญในฐานะผู้ที่อยู่ต้นทางของงานก่อสร้าง จึงจัดเสวนา Exclusive Talk ในหัวข้อ Green Living Trends with Expert Solutions, Expert Results โดยมีสถาปนิกชั้นนำที่มีส่วนร่วมในโครงการ Green building ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ รวมทั้งผู้นำวัสดุก่อสร้าง มาร่วมแบ่งปันแนวคิดและมุมมองเกี่ยวกับเทรนด์การออกแบบก่อสร้างที่ยั่งยืน และมีกลุ่มสถาปนิกแถวหน้ามาร่วมรับฟังพร้อมแลกเปลี่ยนไอเดียจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในการออกแบบ จนกลายมาเป็นผลงานการก่อสร้างที่ดีกับผู้อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน


“นิยามของคำว่า Green living trend ในมุมมองนักออกแบบสามารถมองได้หลายมุม กับคำถามว่า ทำไมต้องกรีน? ถ้าจะมองที่เรื่องกรีนอย่างเดียว อาจจะมองเป้าหมายไปที่การพัฒนาอาคารให้ได้มาตรฐานอาคารเขียวที่คำนึงถึงหลักของการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ ณ ปัจจุบันจะมองไปถึงเรื่องของแนวคิดการออกแบบและก่อสร้างเพื่อความยั่งยืนมากกว่า การออกแบบนั้นในท้ายที่สุดจะเป็นการออกแบบที่กลับมาตอบโจทย์ที่ว่า “ทำอย่างไรให้เราอยู่ในโลกนี้ได้อย่างร่มเย็นเป็นสุข” ซึ่งหัวใจของความยั่งยืน จะมีคำว่า น้อย นั่นคือ สร้างให้น้อย (Built Less) มองตั้งแต่การใช้วัสดุที่ประหยัดพลังงานมากที่สุด หรือการออกแบบผังต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีคุณภาพและคุ้มค่ามากที่สุด เกิดของเสียหรือขยะน้อยที่สุด หรือหากน้อยไม่ไหวก็ทำให้พอดี เพื่อให้เบียดเบียนโลกน้อยที่สุด เนื่องจากงานออกแบบการก่อสร้างไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ล้วนส่งผลกระทบต่อทรัพยากรในโลกนี้ทั้งสิ้น หากจะได้มาซึ่งงานที่ดีสุดทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องมองเห็นภาพเดียวกัน สถาปนิกที่มองในเรื่องของความยั่งยืน นั่นคือมีความเข้าใจในสิ่งที่นอกเหนือจากงานออกแบบด้วย” มุมมองและประสบการณ์การออกแบบของ “ประดิชญา สิงหราช” สถาปนิก INNOVATIVE DESIGN & ARCHITECTURE CO., LTD.

“การออกแบบบ้าน สถาปนิกหลายคนอาจจะมองการออกแบบที่เจ้าของบ้านอยู่สบายและตรงใจผู้อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่การใช้งานพื้นที่สีเขียวที่สามารถเพิ่มได้มากกว่ากฎหมายกำหนด สิ่งสำคัญคือมองไปถึงการเผื่อแผ่ความสุขที่ยั่งยืนไปยังเพื่อนบ้านและชุมชนที่อยู่โดยรอบ เช่น ออกแบบพื้นที่สีเขียวในบ้านให้เพื่อนบ้านสามารถมองเห็นยอดพุ่มไม้ในบ้านได้ ขณะที่พื้นที่ส่วนล่างก็ออกแบบให้ลมสามารถผ่านเข้าออกได้ง่าย ทำให้เพื่อนบ้านรู้สึกว่าเราอยู่กันอย่างเป็นมิตรมากที่สุด นอกจากการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมและตอบโจทย์ฟังชั่นการใช้งานแล้ว สิ่งที่นักออกแบบต้องคำนึงถึงและมองให้ครอบคลุมคือต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่างสามารถใช้งานได้ง่ายอีกด้วย” อีกมุมมองของ “อยุทธ์ มหาโสม” จาก A D D design CO., LTD. สถาปนิกรุ่นใหม่ที่มีเอกลักษณ์การดีไซน์ที่คำนึงถึงบริบทด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย


ในส่วนของ บริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำวัสดุก่อสร้าง นำเสนอแนวทางการพัฒนานวัตกรรมในทิศทางที่เอื้อต่อการออกแบบ Green Living โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การ “ลด” จากการลดวัสดุให้ใช้งานบางลง น้อยลงแต่เพิ่มประสิทธิภาพให้แข็งแรงได้ ลดของเสียหรือขยะก่อสร้างจากนวัตกรรมปูทับไม่ต้องทุบ ลด CO2 ลดสารระเหยเป็นพิษ (Low VOCs) เพื่อคุณภาพอากาศที่ดีในการอยู่อาศัยมากขึ้น ในอีกทางหนึ่งก็คือ “เพิ่ม” ได้แก่เพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มความคงทนของสิ่งก่อสร้างให้ยาวนานขึ้น รบกวนทรัพยากรธรรมชาติใหม่ให้ช้าลง รวมถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับโลก ลดฝุ่น ทำให้เกิด Circular Economy จากการแปลงวัสดุส่วนเกินกลับมาใช้ประโยชน์ ทั้งหมดช่วย “เพิ่ม” ความสุขให้กับผู้ใช้ ผู้อยู่ และผู้อยู่ร่วมกันคือชุมชนด้วย

โดย “จระเข้” เป็นหนึ่งใน 25 ภาคีเครือข่ายสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ที่มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการลดก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่ Net Zero ตามเป้าหมายให้ได้ 1,000,000 ตัน CO2 ในปีนี้ร่วมกัน ผ่านการใช้ปูนไฮดรอลิก โดยจระเข้ใช้ปูนดังกล่าวเป็นวัตถุดิบทดแทนใน 26 ผลิตภัณฑ์ “ทุกกระบวนการของจระเข้ยังคำนึงถึงการลด CO2 ให้ได้มากที่สุด เช่น ลดการเกิดของเสีย ลดฝุ่น ลดการเกิดขยะ ลดการใช้พลังงาน การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ เรามองว่าการประหยัดพลังงานเป็นปลายทาง 


สำหรับมุมมองของการก่อสร้างตามเทรนด์ Green Living นั้น เมื่อใดที่คำนึงถึงการแบ่งปัน สิ่งเหล่านี้จะตามมาด้วยความยั่งยืน เราอยู่ได้ เพื่อนบ้านอยู่ได้ ลูกค้าและทุกคนที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอยู่ได้ด้วย ดังนั้นการพัฒนา “นวัตกรรม” ยังคงเป็นหัวใจหลัก ซึ่งปัจจุบันจระเข้มีนวัตกรรมสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยเป็นนวัตกรรมที่ตอบสนองทั้งนักออกแบบ ปลอดภัยและคำนึงถึงความสุขของผู้ใช้งาน จระเข้แค่ถือว่าเป็นบริษัทรายแรกๆ ที่เริ่มพัฒนานวัตกรรมเพื่อสุขภาวะที่ดี และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม นำเอามาเป็นคอนเซ็ปต์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Green Products และต่อยอดไปในกลุ่มงานระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ (Infrastructure) โดยในปีนี้เราได้คิดค้นนวัตกรรมซีเมนต์ซ่อมพื้นบางเป็นมิตรกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เน้นความยั่งยืน ตอบโจทย์ด้านเสริมความคงทนยืดอายุการใช้งานได้เพิ่มขึ้น ไม่เกิดฝุ่นมลพิษกับช่าง หรือชุมชน

นอกจากนี้การซ่อมยังช่วยลดใช้วัตถุดิบซีเมนต์ และยังลด CO2 ลงได้ถึง 96% ลดปัญหาการซ่อมแซมภายหลัง ลดการเกิดขยะจากการก่อสร้างได้มากขึ้น เป็นการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนตามทิศทางขององค์กร” “ธิติ ศรีรัตนา” ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมและเทคโนโลยี บริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำในการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้านวัตกรรมเพื่องานก่อสร้าง ซ่อมแซม และตกแต่งครบวงจร ตรา “จระเข้” กล่าวในมุมมองของแบรนด์ที่มีนโยบายให้ความสำคัญกับ Green Living และความยั่งยืน

หลากหลายมุมมองของผู้ออกแบบสถาปนิก และมุมมองของแบรนด์ ซึ่งทุกภาคส่วนต่างมีเป้าหมายเดียวกันในการร่วมกันพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมการก่อสร้าง เพื่อการอยู่อาศัยที่มีความสุข ร่วมกันสร้างโลกที่ยังยืนไปด้วยกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น