xs
xsm
sm
md
lg

‘บอทโรคข้าว’ แชตบอตวินิจฉัยโรคเพื่อยับยั้งปัญหาอย่างทันท่วงที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มโปรแกรมเกษตรสมัยใหม่ สวทช. สนับสนุนทุนการดำเนินโครงการวิจัย โมบายแอปพลิเคชันเพื่อการวินิจฉัยโรคข้าวโดยใช้การวิเคราะห์ภาพถ่ายและปัญญาประดิษฐ์ หนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกปัญหาการรับมือกับโรคระบาด ลดต้นทุนการใช้สารเคมีที่เสียไปอย่างไร้ค่า และยกระดับผลผลิตข้าวไทยให้มากขึ้น

เนื่องจากประเทศไทยผลิตข้าวได้มากกว่า 26 ล้านตันต่อปี เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายสำคัญอันดับ 4 ของโลก หากแต่รายได้ที่นำกลับเข้าประเทศมากกว่าแสนล้านบาทต่อปีนี้กลับไม่ได้สะท้อนถึงผลกำไรที่เกษตรกรควรได้รับ เพราะชาวนาไทยส่วนใหญ่ยังตกอยู่ในวังวนของการ ‘ทำมากแต่ได้น้อย’ ต้องเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ความแปรปรวนของสภาพอากาศ รวมถึงวิกฤตโรคระบาดที่ฉุดรั้งผลผลิตข้าวไทย

กลุ่มโปรแกรมเกษตรสมัยใหม่ สวทช. จึงได้สนับสนุนทุนการดำเนินโครงการวิจัย “โมบายแอปพลิเคชันเพื่อการวินิจฉัยโรคข้าวโดยใช้การวิเคราะห์ภาพถ่ายและปัญญาประดิษฐ์”แก่ทีมวิจัยจาก สวทช. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อดำเนินการพัฒนา ‘บอทโรคข้าว (Rice Disease Bot)’ แชตบอตสำหรับให้บริการวินิจฉัยโรคข้าวผ่านภาพถ่าย เพื่อให้คำแนะนำในการควบคุมโรคอย่างเหมาะสมและทันท่วงทีแก่เกษตรกร เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกปัญหาการรับมือกับโรคระบาด ลดต้นทุนการใช้สารเคมีที่เสียไปอย่างไร้ค่า และยกระดับผลผลิตข้าวไทยให้มากขึ้น

‘บอทโรคข้าว (Rice Disease Bot)’ผ่านการออกแบบให้เกษตรกรใช้งานได้ง่ายผ่านแอปพลิเคชันไลน์ เมื่อเกษตรกรพบเห็นความผิดปกติของต้นข้าวในแปลงนาสามารถส่งข้อมูลให้ระบบวินิจฉัยโรคได้ทันที วิธีการใช้งานเพียงถ่ายภาพรอยโรคที่เกิดขึ้นบนต้นข้าวแล้วส่งภาพเข้าสู่หน้าแชต ระบบจะดึงภาพไปยังคลาวด์ แล้วส่งให้ AI วิเคราะห์โรคด้วยเทคนิคเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) เมื่อได้ผลแล้วระบบจะส่งผลการวิเคราะห์พร้อมคำแนะนำในการควบคุมโรคอย่างเหมาะสมกลับมารายงานให้เกษตรกรทราบภายใน 3-5 วินาที ช่วยให้เกษตรกรประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบโรคข้าวที่เกิดขึ้นในแปลงนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.nstda.or.th/r/05ZQP


กำลังโหลดความคิดเห็น