xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่า ธปท.เร่งขับเคลื่อน ESG เป้าธนาคารไทยสู่ความยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าการแบงก์ชาติ “ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ตอกย้ำนโยบายขับเคลี่อนประเทศไทยสู่โลกยุคใหม่อย่างเร่งด่วนแต่มีเสถียรภาพ ด้วยหลักการ ESG ที่จะนำสถาบันการเงินก้าวไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดงานพบปะสื่อมวลชน Meet the Press โดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้บรรยายภาวะเศรษฐกิจในช่วงปีที่ผ่านมาและแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ พร้อมชี้ว่าความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีไม่มาก เสถียรภาพคือปัจจัยพื้นฐาน “นโยบายอะไรก็ตามที่บั่นทอนเสถียรภาพ’ คือความเสี่ยง (ชมรายละเอียดในคลิป)

ธปท.ในฐานะดูแลเศรษฐกิจ สถาบันการเงิน และระบบการเงินให้มีเสถียรภาพ ผู้ว่าการ ธปท. ชูนโยบายส่งเสริมให้ระบบสถาบันการไทยตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนในการดำเนินธุรกิจตามหลักการ “ธนาคารเพื่อความยั่งยืน” โดยให้มีการสนับสนุน ESG เข้าไปในการดำเนินธุรกิจ และต้องการผลักดันให้เป็นวัฒนธรรมขององค์กร หรือ ค่านิยมของสถาบันการเงินไทย

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า “ความยั่งยืนระบบการเงิน-การคลัง”ของประเทศไทยยังคงมีความท้าทายท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน โดยในช่วงที่ผ่านมาเราต้องเจอผลกระทบตั้งแต่โรคโควิด-19 จนมาถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งยังเรื่องดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางทั่วโลกปรับขึ้นเร็ว รวมถึงเงินเฟ้อ ซึ่งกระทบไทยทั้งราคาพลังงานและอาหาร

ความท้าทายดังกล่าวต้องจับตามองสิ่งที่จะกระทบต่อนโยบายและเสถียรภาพอันจะนำไปสู่ความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้การขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจยั่งยืนนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนไทยให้ไปอยู่ในโลกใหม่ให้ได้อย่างยั่งยืนมากกว่าหวังผลระยะสั้น ดังนั้นเราจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดนโยบายระยะยาวอย่างยั่งยืน


“นโยบายเศรษฐกิจขณะนี้ ควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวมากขึ้น เช่น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจสีเขียว หรือพัฒนาให้ระบบสวัสดิการพื้นฐานครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของคน ซึ่งการทำนโยบายต้องมองผลกระทบให้รอบด้าน และจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

ทั้งนี้ “ระบบการเงิน-การคลัง” ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่าปัจจุบัน ธปท.ร่วมกับหน่วยงานภาคการเงินกับภาคธุรกิจ จัดทำ “Thailand Taxonomy” เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกัน และจัดกลุ่มธุรกิจต่างๆ ให้เข้าไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง ซึ่งจะเริ่มในเร็วๆ นี้ โดยการเลือกกลุ่มธุรกิจภาคพลังงานและภาคขนส่งก่อน เพราะเป็นภาคที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ก่อนขยายสู่ภาคธุรกิจอื่นๆ ต่อไป

ก่อนเลือกตั้ง ในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ดร. เศรษฐพุฒิ ฝากข้อคิดไปถึงพรรคการเมืองต่างๆ ในเรื่องนโยบายประชานิยม และระบบการเงินการคลังของรัฐ ว่า "นโยบายประชานิยมที่มีการพูดถึงมานานมักเป็นนโยบายระยะสั้นและเป็นแบบเหวี่ยงแห ซึ่งที่จริงควรทำแบบเฉพาะเจาะจง และใช้งบประมาณแบบยั่งยืนเพื่อส่งเสริมการเติบโตระยะยาวได้ เช่น สวัสดิการต่างๆ ควรทำแบบพุ่งเป้า อย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ควรลงไปช่วยเหลือกคนจน คนที่มีรายได้น้อยจริงๆ และควรมองเรื่องเสถียรภาพเป็นสำคัญ นอกจากนี้ควรติดตามการคลังอย่างใกล้ชิด ว่าต้องมีเสถียรภาพทั้งภาระการคลัง หนี้ต่อจีดีพี และภาระหนี้ต่องบประมาณ"


เครดิตคลิป Bank of Thailand


กำลังโหลดความคิดเห็น