xs
xsm
sm
md
lg

ทส. ชูหมู่บ้านต้นแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก “ไม่เผา เราจ่าย” แก้ปัญหาไฟป่า-ฝุ่นควันที่ยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัด ทส. ลงพื้นที่แม่ฮ่องสอน สั่งเกาะติดสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน จนถึงเดือน พ.ค. หลังส่อแล้งยาว พร้อมเร่งศึกษา และดำเนินการพื้นที่นำร่องในการใช้กลไกคาร์บอนเครดิตมาเสริมสร้างรายได้ในพื้นที่


เมื่อวานก่อน ( 24 เม.ย. 66) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) พร้อมด้วย พร้อมด้วยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ และคณะ ได้ลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อประชุมติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมี นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้การต้อนรับ และร่วมประชุม

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการรายงานสรุปผลการดำเนินงานนำเสนอ ประกอบด้วย สถานการณ์การป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 โดย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน, แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 และ 121 โดย สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง, ผลการดำเนินงานจัดที่ดินทำกินตามกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี 26 พฤศจิกายน 2561 โดย สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน, แนวทางการพัฒนาป่าชุมชนต้นแบบบ้านสบป่อง ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน และบทบาทของภาคเอกชนในการบริหารจัดการไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ภายใต้โครงการหมู่บ้านต้นแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก "ไม่เผา เราจ่าย" ตามแนวทางคาร์บอนเครดิต โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน และบริษัท วี อีโค จำกัด




ภายหลังการประชุมและรับฟังการบรรยาย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เยี่ยมชมนิทรรศการป่าชุมชนบ้านสบป่อง "ป่าชุมชนบ้านสบป่องกับคาร์บอนเครดิต", นิทรรศการการพัฒนาอาชีพในพื้นที่คทช. คุณภาพลุ่มน้ำลุ่มน้ำ 1,2 อย่างบูรณาการ โดยการส่งเสริมปลูกถั่วลายเสือแบบเกษตรอินทรีย์ ได้รับการสนับสนุนโครงการจากเกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน และบริษัท กุ๊บไต, นิทรรศการบทบาทของภาคเอกชนในการบริหารจัดการไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ภายใต้โครงการหมู่บ้านต้นแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก "ไม่เผา เราจ่าย" โดยการสนับสนุนของบริษัท วี อีโค ซึ่งเป็นนวัตกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า ด้วยการรับซื้อใบไม้โดยไม่นำเอาใบไม้ออกจากป่า 

จากนั้น ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมคณะ ได้มอบสิ่งของและเครื่องบริโภคแก่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านสบป่อง และสมาชิกเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่ากรมป่าไม้ พร้อมกล่าวให้โอวาทและให้กำลังใจแก่คณะเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรฯ และตัวแทนชุมชน

ปลัด ทส. เปิดเผยว่าสถานการณ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤษภาคม 2566 เนื่องจากอยู่ในช่วงภาวะแล้งต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ให้สรุปบทเรียน เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการของส่วนงานภาครัฐ และมุ่งเน้นทำความเข้าใจกับชุมชนในเรื่องของปัญหาการเกิดและอันตรายของหมอกควัน

ในประเด็นการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พ.ย 61

นายจตุพร กล่าวว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้กำหนดจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2566 ซึ่งได้สั่งการให้มีการศึกษา และดำเนินการพื้นที่นำร่อง ในการใช้กลไกคาร์บอนเครดิตมาเสริมสร้างรายได้ และแก้ไขปัญหาการเกิดไฟป่าหมอกควันในพื้นที่โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล หรือ คทช.

“ ด้านการจัดการป่าชุมชน จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีป่าชุมชนจำนวน 210 แห่ง เนื้อที่รวม 308,004 ไร่ ซึ่ง ป่าชุมชนบ้านสบป่อง ต.ปางหมู อ.เมือง ถือเป็นต้นแบบความสำเร็จ ที่มีการดำเนินงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการป่าชุมชน กรมป่าไม้ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เป็นผู้พัฒนาโครงการร่วมในการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ป่าชุมชน ซึ่งดำเนินการตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ที่จะเกิดประโยชน์ทำให้ป่าชุมชนเป็นแหล่งรายได้เสริมที่มั่นคง ชุมชนได้ดูแลรักษาป่าพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างชุมชนเข้มแข็ง พร้อมทั้งให้ขยายผลต่อในพื้นที่ป่าชุมชนของจังหวัดแม่ฮ่องสอนต่อไป” 


กำลังโหลดความคิดเห็น