xs
xsm
sm
md
lg

Mindful Leaders ใช้ ‘สติ’ สร้างผลกระทบเชิงบวกสู่สังคม / Geert-Jan (GJ) van der Zanden

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การลดผลกระทบที่เกิดจากการเติบโตของประชากรและการทำลายสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องอาศัย “การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ” ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้นำใช้สติในการบริหาร

เราเข้าสู่ยุคของการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบผิดปรกติ (perverse economic growth) ซึ่งการเติบโตอยู่ในระดับที่ส่งผลเสียต่อสังคมและโลก

เราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่เฉียบขาด หากต้องการเข้าสู่โมเดลของความยั่งยืน

ศศินทร์ (Sasin School of Management) พัฒนาทักษะผู้นำโดยใช้หลักปรัชญา“เศรษฐกิจพอเพียง” เช่น กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น ความร่วมมือ และความยืดหยุ่นของทัศนคติ

เมื่อ 100 ปีก่อน จำนวนเด็กเกิดใหม่มีน้อยกว่า 2 พันล้านคน แต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 จำนวนประชากรโลกเพิ่มสูงขึ้นเกิน 8 พันล้านคนไปแล้ว แม้ว่าอัตราการเติบโตจะช้าลงไปบ้าง แต่ก็กล่าวได้ว่าประชากรโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000 คนต่อวัน แน่นอนว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจนี้นำมาสู่ความเจริญที่ยิ่งใหญ่ ให้คนเป็นพันๆ ล้านได้บริโภคอุปโภค อยู่อาศัย เดินทาง และเกิดการใช้บริการสารพัดรูปแบบ แต่โมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจของเรานั้นอยู่ที่บรรทัดฐานของความเชื่อที่เลื่อนลอยว่า เมื่อคนมากขึ้นการผลิตก็จะมากขึ้น เมื่อบริโภคมากขึ้นก็จะทำให้ GDP เพิ่ม ขึ้น และความเป็นอยู่ก็จะดีขึ้น แล้วเราก็ได้เรียนรู้ภายหลังว่าโมเดลที่เน้นเฉพาะความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจนั้นจะทำลายต้นทุนทางธรรมชาติ การมองประโยชน์อันใกล้จะทำให้เสียความมั่นคงระยะยาว และทำให้สังคมเกิดความแตกต่างมากขึ้น

เราเข้าสู่ยุคของการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบผิดปรกติ เราสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยต้นทุนของทุนทางธรรมชาติและสังคม เช่น สหรัฐอเมริกาหมดเงินประมาณ หนึ่งแสนสองหมื่นล้าน – หนึ่งแสนเก้าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปีไปกับการรักษาภาวะ burn out และซึมเศร้า เงินที่ใช้รักษาเหล่านั้นได้ถูกนับรวมไปใน GDP ของประเทศ งบประมาณที่สหรัฐใช้ไปทั้งหมด 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในสงครามอิรัก- อาฟกานิสถานถูกนับเข้าไปใน GDP แต่ความสูญเสีย ชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้นไม่ได้ถูกนับรวมไปด้วย

การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบผิดปรกตินำมาซึ่งผลเสียที่ตามมาต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการที่เรานำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ก็เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลับคืนสู่อากาศ เราสร้างขยะมากกว่าที่โลกจะรับไหว เมื่อปี พ.ศ. 2552 ข้อมูลการศึกษาโดย Trucost ระบุว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของเราต้องใช้ทุนทางธรรมชาติถึง 7.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 13% ของ GDP โลก

ถ้าหากเราต้องการป้องกันไม่ให้โลกร้อนขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี พ.ศ.2573 เราต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่อากาศลง 45% จากระดับเมื่อปี พ.ศ. 2553 อย่างไรก็ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคาดการณ์ว่า การปล่อยมลพิษจะเพิ่มขึ้น 10% ในช่วงเวลาดังกล่าว ในแต่ละปีมนุษย์เผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลเท่ากับการเติบโตของพืชทั้งโลกเป็นเวลา 400 ปี ในขณะเดียวกันการตัดไม้ทำลายป่าอย่างไม่หยุดยั้งนั้นทำลายป่าที่มีพื้นที่เท่ากับสนามฟุตบอลในทุกๆ 2 วินาที การตัดต้นไม้ในอัตรานี้ได้เปลี่ยนป่าอเมซอนจากแหล่งดูดก๊าซคาร์บอนให้กลายเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เราสูญเสียสัตว์โลกไปจำนวน 2 ใน 3 ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อาหารและความสามารถของธรรมชาติในการป้องกันศัตรูพืชและ การรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ช่องว่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานน้ำทั่วโลกคาดว่าจะสูงถึง 40% ภายในปี 2573 และภายในปี 2593 คน 1 ใน 4 ของโลกอาจประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งส่งผลทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น และอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงและความขัดแย้ง

 จากพลาสติก 300 ล้านตันที่เราผลิตทุกปี มีเพียง 9% เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล ขณะที่ส่วนใหญ่ถูกนำไปฝัง กลบ คาดว่าพลาสติกประมาณ 8 ล้านตันไปลงเอยที่มหาสมุทร ซึ่งก็มีปัญหามากเกินไปอยู่แล้ว ด้วยอัตรานี้ภายในปี 2050 โลกจะมีพลาสติกมากกว่าปลาในมหาสมุทร

ปัญหาสิ่งแวดล้อมทำให้ความไม่เท่าเทียมในสังคมมีมากขึ้นและทำให้ทุนทางสังคมน้อยลง ผู้ยากไร้ 3 ใน 4 คนต้องพึ่งพาการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด พวกเขาต้องเผชิญกับส่วนแบ่งอาหารที่ไม่ลงตัว ความขัดแย้งและผลกระทบด้านสุขภาพที่เป็นผลมาจากปัญหาสภาพอากาศ

แม้ว่าธรรมชาติจะมีความสามารถในการรีไซเคิลน้ำ ย่อยของเสีย และฟอก CO2 แต่ธรรมชาติก็ยากที่จะชดเชยพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ที่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมาก เราอยากให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทำให้เรามีจุดจบเร็วขึ้นหรือไม่ หรือเราควรจะใช้ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมและการทำงานร่วมกันเพื่อสร้าง ‘growth’ แบบใหม่ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับขีดจำกัดของระบบนิเวศของโลกและเสริมสร้างต้นทุนทางสังคมของเรา?

๐ การประเมินผลกระทบ

ผลกระทบของมนุษย์ต่อโลกมักมีการแสดงเป็นสูตรง่ายๆคือ Impact = Population x Affluence x Technology การเติบโตของประชากรทำให้ Impact ของมนุษย์เพิ่มขึ้น  สำหรับปริมาณการบริโภคต่อคนหากใช้ GDP เป็นตัวชี้วัดนั้น เติบโตเกือบ 7 เท่า (PPP) ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นเราฝากความหวังสุดท้ายไว้ที่เทคโนโลยีได้หรือไม่? แม้ว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยีบางอย่างสามารถลดผลกระทบจากสิ่งที่มนุษย์ได้กระทำ แต่ก็ทำให้ 2 ปัจจัยสำคัญดังต่อไปนี้เพิ่มขึ้น

1) The rebound effect (ผลย้อนกลับ) เมื่อประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มขึ้นจะทำให้สินค้าราคาลดลงและกระตุ้นให้เราบริโภคมากขึ้น เช่น เมื่อมีเครื่องปรับอากาศประสิทธิภาพสูง เราก็ซื้อมาใช้มากขึ้น หรือเที่ยวบินถูกลงคนก็เดินทางมากขึ้น

2) “Unintended Consequences” (ผลที่ตามมาโดยไม่ได้ตั้งใจของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี) ข้อดีของเทคโนโลยีมักทำให้เรามองข้ามผลกระทบด้านลบ เช่น เทคโนโลยีใหม่อย่าง 5G สร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เนื่องจากการลงทุนในการเข้าถึงเทคโนโลยีนั้นจำกัดเฉพาะประชากรที่มีฐานะและพื้นที่ประชากรหนาแน่น

3) แนวโน้มที่เราเห็นจากตัวชี้วัดความยั่งยืนนั้นแสดงให้เห็นว่าไม่เพียงแต่เวลาเราใกล้จะหมดแล้ว เรายังไม่สามารถพึ่งพาการเติบโตของอาหาร แหล่งพลังงาน การขนส่ง และระบบโครงสร้างพื้นฐาน เราต้องใช้มาตรการที่เร่งด่วนเท่านั้น ในการเปลี่ยนแปลงสู่โมเดลความยั่งยืนที่โลกต้องมีนั้น เราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่เฉียบขาด

๐ เปลี่ยนอย่างไรให้ได้ผล

การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบนั้นเป็นเรื่องยาก ระบบประกอบด้วยหลายฝ่าย ทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและระบบย่อยที่เชื่อมกันซึ่งมีอยู่ในระดับสังคม สถาบัน วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ เทคนิค และระบบนิเวศ ระบบย่อยเหล่านี้มักจำกัดอยู่ในการจัดการแบบส่วนใครส่วนมัน กระบวนการที่ขัดแย้งกัน และบทบาทผู้กำหนดนโยบายและผู้ดูแลระบบที่ไม่ได้ระบุความชัดเจนว่าใครทำอะไร ด้วยเหตุผลเหล่านี้ แต่ละระบบจึงเป็นเครือข่ายของการปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและอาจส่งผลให้เกิดผลที่เราคาดไม่ถึงได้
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบจะเกิดขึ้นเมื่อเงื่อนไขแบบ top-down ปฎิสัมพันธ์กับนวัตกรรมแบบ bottom-up ทั้งนี้ในการเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ดังนี้
1. กลยุทธ์: สร้างพื้นที่ในการเปลี่ยนแปลง โดยเน้นที่ “กลุ่มแนวหน้า” และการมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน
2. ยุทธวิธี: พัฒนาการเปลี่ยนผ่านที่เป็นรูปธรรม โดยหาวิธีที่เป็นไปได้และและอุปสรรคที่ต้องข้ามผ่าน
3. การดำเนินการ: ทำการทดลองและพยายามขยายผลสิ่งที่ทำแล้วได้ผลดี
4. การทบทวน: ติดตามและประเมินความก้าวหน้า

ขณะที่เราคิดว่าเราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านสังคม เทคนิค สภาพนิเวศ เรากำลังคิดถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ นโยบาย และความกาวหน้าทางเทคโนโลยี ทั้งนี้ภาษี สิ่งจูงใจ รูปแบบการระดมทุนแบบแบ่งปันความเสี่ยง crowd sourcing และระบบการตรวจสอบที่ดี ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่มักจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่ขัดแย้งกับบรรทัดฐานและค่านิยมที่ฝังแน่นอยู่ในใจ ดังนั้นเราจะต้องมุ่งเน้นการผลักดันให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตัดสินใจ

ด้วยเหตุผลนี้ผู้เชี่ยวชาญจึงเบนเข็มความสนใจไปที่ “แนวคิด” A 2015 paper พูดถึงการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยเน้นแรงจูงใจแบบภายใน (“intrinsic”) ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับเหตุผล อารมณ์ หรือค่านิยม หนังสือ“Thinking in Systems” โดย  Donella Meadows ชี้ให้เห็นถึงจุดที่จะแทรกแซงแนวคิดได้ 3 จุดเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ได้แก่ 1) เมื่อมีการลำดับความสำคัญ และกลายมาเป็นวัตถุประสงค์ของระบบใหม่ 2) เมื่อมีความคิดที่จะนำไปสู่ระบบใหม่ 3) เมื่อสามารถก้าวข้ามกระบวนทัศน์ที่มีอยู่ แทนที่จะแค่ปรับเปลี่ยนอะไรที่มีอยู่ (ปี 2551)

๐ การสอน Mindful Leaders

ถ้าเรามีความหวังที่จะหยุดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผิดปรกติ สถาบันสอนบริหารธุรกิจต้องปลูกฝังความคิด ทักษะและเครื่องมือที่เหมาะสมให้กับผู้นำในอนาคตเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ วิธีที่ศศินทร์กำลังใช้อยู่ คือการสอน Mindful Leaders ให้มี skills 6 อย่าง คือ
1. Contextual curiosity (ความอยากรู้อยากเห็นเชิงบริบท) การถ่อมตนว่า ‘ไม่รู้’ และการคิดวิเคราะห์เพื่อแสวงหาความรู้จากแหล่งต่างๆ และการเชื่อมโยงข้อมูล โดยตระหนักถึงตัวกรองและอคติต่างๆ ความสามารถนี้ยังรวมถึงความสามารถในการเห็น ‘เทรนด์’ ก่อนที่เทรนด์จะชัดเจนและกลายเป็นความจริง

2. Future consciousness (การตระหนักถึงอนาคต) ความสามารถในการจินตนาการถึงอนาคตผ่านการคิดที่แตกต่าง โดยใช้มุมมองและฉากทัศน์ที่หลากหลาย ขณะเดียวกันใช้ความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจคนต่างยุคสมัย
3. Systems range (ขอบเขตของระบบ) มี sense ของความรับผิดชอบในการเป็นผู้นำและการเอาใจใส่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการบริหารองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูง ผู้นำต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบต่างๆของระบบ และสามารถคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ ทั้งผลกระทบที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ
4. Collaborative competence (ความสามารถในการทำงานร่วมกัน) ความสามารถในการสร้างความร่วมมือในการเปลี่ยนแปลงให้ประสบความสำเร็จ
5. Radical impact agility (ความสามารถในการปรับตัวรับผลกระทบที่เฉียบพลันได้) การมุ่งมั่นในการสร้าง impact แม้ว่าโลกจะเต็มไปด้วยความผันผวน ความซับซ้อน ความไม่แน่นอนก็ตาม ผู้นำที่ใช้ความตั้งใจในการเปลี่ยนแปลงและใช้แนวคิดแบบผู้ประกอบการ ตั้งคำถามอย่างต่อเนื่องและหาทางออกใหม่ๆเพื่อสร้าง impact และคุณค่าแบบใหม่
6. Purpose (วัตถุประสงค์) การรู้จักตนเอง ความซื่อสัตย์ เข็มทิศทางศีลธรรมและความชัดเจนของวิสัยทัศน์ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นเดินตามไปในทางที่ดีขึ้น

๐ Pursuing Sufficiency, Not Excess (ใฝ่พอเพียง ไม่มากเกินไป)

การสอน Mindful Leadership ของศศินทร์รวมเอาหลักเศรษฐกิจพอเพียง“Sufficiency Economy” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2540 พระองค์ทรงใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจในเวลานั้น ในวิสัยทัศน์ของพระองค์การพัฒนาเศรษฐกิจควรเป็นแบบองค์รวม แบบค่อยเป็นค่อยไปทั่วทั้งสังคมและเป็นไปอย่างระมัดระวังและต้องมองการณ์ไกลเพื่อป้องกันความผิดพลาด เศรษฐกิจพอเพียงได้รับการนำไปใช้อย่างประสบความสำเร็จในหลายภาคส่วนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคการเงิน ที่สามารถเพิ่มความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และลดความเสี่ยงและลดต้นทุน ซึ่งหลักการเศรษฐกิจพอเพียงนั้นได้นำคำสอนของพระพุทธศาสนามาใช้ ได้แก่

Moderation ความพอเพียงทำให้เกิดการจัดการอย่างรอบคอบในเรื่องของโอกาสและจากความเสี่ยง ไม่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคนใดสามารถอยู่เหนือผลประโยชน์ของผู้อื่นได้ นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันไม่ให้บริษัทต่างๆ ตกเป็นเหยื่อของความไม่สมเหตุสมผลและการบิดเบือนต่างๆ

Reasonableness ความสมเหตุสมผลขับเคลื่อนโดยความคิดแบบ win-win ช่วยสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน ส่งเสริมผู้นำให้เข้าใจผลที่ตามมาจากพฤติกรรมของตนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
Risk resilience องค์กรจะมีความยืดหยุ่นต่อความเสี่ยงมากขึ้นเมื่อสามารถสร้างทุนทางการเงิน มนุษย์ สังคมและชื่อเสียงโดยการใช้ความพอเพียงและหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ที่ไม่สมเหตุสมผล
ทฤษฏีของเศรษฐกิจพอเพียงยังช่วยส่งเสริมคุณธรรมและความซื่อสัตย์ซึ่งเป็นเสาหลักที่สำคัญในการบริหารคุณภาพและเกี่ยวข้องโดยตรงกับการแก้ไขวิกฤตปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านความเชื่อใจ การฟอกเขียว และการให้ข้อมูลบิดเบือน เป็นต้น


๐ การตระหนักถึงหน้าที่

ผู้นำทางธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมสามารถนำหลักธรรมอื่นๆ มาปรับใช้ได้ ตัวอย่างเช่น Bob Thurman อดีตศาสตราจารย์ด้าน Indo-Tibetan Buddhist Studies มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เคยอธิบายความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิดซึ่งกลายมาเป็นแรงจูงใจด้านความยั่งยืน เช่น การที่เราทำให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และสังคมเสื่อมโทรมลงนั้นทำให้เราต้องใช้กรรมโดยทำให้เรากลับมาเกิดแบบแย่ลง เราจะสามารถมีโอกาสบรรลุนิพพานต่อเมื่อเราทำความดีเพื่อให้โลกดีขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สถาบันสอนธุรกิจไม่จำเป็นต้องสร้างศาสนาหรือประเพณี หรือปรัชญาเพื่อสอน Mindful Leaders เรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ โลกแบบ VUCA ในปัจจุบันต้องการผู้นำที่มองอนาคตระยะยาวและเข้าใจผลที่ตามมาในเชิงระบบ และสามารถตัดสินใจโดยการใช้วิจารณญาณ ไม่ใช่ความหลงใหล เราต้องการผู้นำที่มีความซื่อสัตย์ ที่สามารถความควบคุมตนเอง คำนึงถึงผู้อื่น และเข้าใจในความเชื่อและอคติที่ผู้อื่นมีในเรื่องของความต้องการและคุณค่า

สถาบันสอนบริหารธุรกิจมีหน้าที่ช่วยให้นิสิตนักศึกษาเข้าใจภาพรวมของโลก เพื่อให้นิสิตนักศึกษาสามารถสร้างสังคมที่มนุษย์ และธรรมชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนและมีอนาคตที่ยั่งยืน
ในแปดนาทีที่คุณอ่านบทความนี้ โลกได้สูญเสียพื้นที่ป่าที่เท่ากับสนามฟุตบอลประมาณ 100 สนามไปแล้ว

บทความโดย Geert-Jan (GJ) van der Zanden
Visiting Faculty และ Senior Advisor Sustainability Leadership, Sasin School of Management
กำลังโหลดความคิดเห็น