จับตาเลย การเปลี่ยนรถเมล์สันดาปเป็นรถเมล์ไฟฟ้า (EV Bus) ภายใน 7 ปี นับจากนี้
กฎหมายรถเมล์อนาคตจะบังคับให้เปลี่ยนเป็นรถเมล์ไฟฟ้าทั้งหมดซึ่งนับว่าเป็นการยกระดับคุณภาพการให้บริการรถเมล์ที่สะอาด ปลอดฝุ่น ปลอดมลภาวะ และยังช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายเป็นประเทศ Net Zero ในปี พ.ศ. 2593
เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เห็นชอบหลักการญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ พ.ศ. ... วาระที่ 1 ด้วยคะแนน 33 ต่อ 3 เสียง มีเนื้อหากำหนดให้รถเมล์ใหม่ในกรุงเทพทุกคันต้องเป็นรถเมล์ไฟฟ้า (EV) และภายใน 7 ปี รถเมล์ในกรุงเทพต้องเป็นรถเมล์ไฟฟ้าทั้งหมด
สืบเนื่องจากสาเหตุสำคัญ คือฝุ่นในกทม.เกิดจากยานพาหนะ 60% และ 90% ของไอเสียจากรถคือ ฝุ่นละออง PM 2.5 การปรับปรุงให้รถเมล์ดีขึ้น จะทำให้คนหันมาใช้บริการมากขึ้น ใช้รถส่วนตัวน้อยลง ฝุ่นจะน้อยลง ปัญหาก็จะหายเป็นโดมิโน
ทั้งนี้ เพื่อควบคุมปริมาณมลพิษที่ออกจากรถยนต์ ไม่ให้เกินเกณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อประชาชน จึงเห็นควรมีมาตรการกำหนดให้รถโดยสารประจำทาง ปรับปรุงเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ไม่ส่งผลกระทบต่อมลภาวะทางอากาศ และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาทางเทคโนโลยีของรถยนต์ทั่วโลก บังคับใช้ในกรุงเทพมหานคร
หลังจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติดังกล่าว จำนวน 17 คน กำหนดเวลาแปรญัตติภายใน 7 วัน และพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 60 วัน
กฎหมายรถเมล์อนาคต หรือร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ นำเสนอโดย นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา พรรคก้าวไกล โดยเป็นกฎหมายที่จะยกระดับคุณภาพการให้บริการรถเมล์ให้สะอาด ปลอดฝุ่น ปลอดมลภาวะ และช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายเป็นประเทศ Net Zero หรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2593
นายพุทธิพัชร์ กล่าวว่าเนื้อหาสำคัญของกฎหมายรถเมล์อนาคต คือการเปลี่ยนรถเมล์สันดาปเป็นรถเมล์ไฟฟ้า (EV Bus) ภายใน 7 ปี
ภายหลังจากที่กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภา กทม. จะมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 1 ปี ถ้าพ้นจาก 1 ปีไปแล้ว นอกจากรถเมล์ที่ยังมีสัมปทานเดินรถ รถเมล์ไฟฟ้าเท่านั้นที่จะสามารถเดินทางสัญจรได้ในพื้นที่ กทม.
ส่วนรถเมล์ที่มีสัมปทานเดินรถเดิมก็จะทยอยหมดอายุสัมปทาน ซึ่งอายุสัมปทานนานที่สุดที่มีการต่อคือ 7 ปี นั่นหมายความว่าภายใน 7 ปี รถเมล์ทั้งหมดที่วิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ จะเป็นรถเมล์ EV ทั้งหมด
สำหรับข้อบัญญัติรถเมล์อนาคต หลังจากที่ผ่านวาระ 1 รับหลักการในวันนี้แล้ว คาดว่าจะผ่านวาระ 3 ได้ในสมัยประชุมหน้า ต้นเดือนก.ค. 66 ที่จะถึงนี้
"เรื่องนี้เป็นการใช้อำนาจของท้องถิ่นปกป้องชีวิตคนในเมือง ในอดีตก็เคยมีการใช้อำนาจแบบเดียวกันมาแล้วในสมัย อดีตผู้ว่า กทม. พิจิตร รัตกุล ที่เคยสั่งห้ามรถเมล์ที่ก่อมลพิษเกินค่ามาตรฐานเข้ามาวิ่งในกรุงเทพฯ"
"ปัญหาสิ่งแวดล้อมของคนกรุงเทพฯ เป็นปัญหาที่เรารอไม่ได้ ทุกวันนี้คนกรุงเทพฯ แม้แต่คนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ก็กำลังสูดมลพิษทางอากาศเข้าไป เท่ากับสูบบุหรี่วันละ 3.2 มวน อากาศในกรุงเทพฯ เป็นสิ่งที่ทุกคนใช้ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน ข้อบัญญัติแบบนี้จึงสมควรมีตั้งนานแล้ว"นายพุทธิพัชร์ กล่าว
หลังจากที่ข้อบัญญัติรถเมล์อนาคตผ่าน พรรคก้าวไกลจะเดินหน้าต่อในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมืองหลวง ไม่ว่าจะเป็นการยื่นร่างแก้ไขข้อบัญญัติควบคุมอาคาร ที่จะมีข้อกำหนดเรื่องการควบคุมการปล่อยความร้อนและพื้นที่สีเขียว หลังจากนั้นจะเดินหน้าต่อเรื่องการลดการปล่อยฝุ่นควัน PM2.5 จากแหล่งอื่นๆ
อ่านเพิ่มเติม https://pr-bangkok.com/?p=108825&fbclid=IwAR150nWT1pqEmULW6jIFq4LWxQSq_wTLuptN_JirGEY-Xj9y7gWHrJ6KoSA
ก่อนหน้านี้ ครม. เห็นชอบเปลี่ยนโฉมรถเมล์ไทยเป็น “รถเมล์พลังงานไฟฟ้า” ในพื้นที่ กทม. คาด 10 ปี ลดก๊าซเรือนกระจก 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
โดยที่ประชุม ครม. (เมื่อ 31 ม.ค. 66) เห็นชอบหนังสือการอนุญาต (Letter of Authorization: LoA) ให้ดำเนินโครงการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางสาธารณะของภาคเอกชนเป็น “รถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (รถร่วมบริการ)” ในพื้นที่ กทม.
โครงการฯ ดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากรถโดยสารสาธารณะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นรถโดยสารสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ครอบคลุมเส้นทางเดินรถฯ ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางจากกรมการขนส่งทางบก
คาดว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2564 - 2573 (10 ปี) จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ 100 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/คัน/ปี หรือประมาณ 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชน
นอกจากนี้ ครม. ได้มอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ลงนามในหนังสืออนุญาตให้แก่บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เพื่อ "ถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต" ที่ได้จากการดำเนินโครงการตั้งแต่ พ.ศ. 2564 - 2573 ให้แก่มูลนิธิ KLiK (The Foundation for Climate Protection and Carbon Offset) ของสมาพันธรัฐสวิส
การดำเนินการดังกล่าวนั้น เป็นไปตามความตกลงปารีสระหว่างราชอาณาจักรไทยและสมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็น "กรอบความร่วมมือ" สำหรับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังสอดรับกับแผนนโยบายพลังงานและยุทธศาสตร์พลังงานแห่งชาติ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะการปรับตัวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ
อ่านเพิ่มเติม https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/64383