xs
xsm
sm
md
lg

“ฉลามหูดำ” โชว์ตัวเริงร่าในอ่าวมาหยา พบเฉลี่ยวันละ 15 ตัว [ชมคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





อาจารย์ธรณ์ เผยพื้นที่อ่าวมาหยาในวันนี้ไม่ใช่โดดเด่นเพียงทัศนียภาพความสวยงาม แต่คือพื้นที่ใช้ประโยชน์แบบแบ่งปันกันระหว่างคนกับฉลาม ชวนลงมือทำให้ยั่งยืนทั้งด้านการอนุรักษ์และการท่องเที่ยว เพื่อเป็นตัวอย่างที่ใครมาใครเห็น ใครก็ตะลึง ทึ่งกันทั่วโลก

เพราะพื้นที่อ่าวมาหยาวันนี้ยังเป็นแหล่งให้กำเนิด แหล่งอนุบาลฉลามครีบดำที่สำคัญมากๆ ของประเทศไทย และยังมีศักยภาพเป็นแหล่งอนุรักษ์ แหล่งศึกษาวิจัย และแหล่งท่องเที่ยวดูฉลามที่มีความสำคัญระดับโลกได้ หากมีการจัดการพื้นที่อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ

เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จังหวัดตรัง ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เจ้าหน้าที่ศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติที่ 7 จังหวัดสตูล และเจ้าหน้าที่ส่วนจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเล กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ทำการสำรวจติดตามประชากรและพฤติกรรมของฉลามครีบดำ (Carcharhinus melanopterus) ภายใต้โครงการสำรวจจำนวนและพฤติกรรมตามธรรมชาติของฉลามครีบดำในอ่าวมาหยา อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ (Shark Watch Project)

โดยใช้วิธีถ่ายภาพทางอากาศ (อากาศยานไร้คนขับ) แบบ Transect เพื่อนับประชากรฉลาม และตั้งกล้องถ่ายใต้น้ำ BRUV (Baited Remote Underwater Video) เพื่อสังเกตพฤติกรรมฉลาม จากการสำรวจเบื้องต้น พบประชากรของฉลามครีบดำเฉลี่ยประมาณ 15 ตัว/วัน โดยจะนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ในเชิงลึกขั้นต่อไป



Hello sharks at Maya bay 🦈 เช้าวันที่ 29 มีนาคม 2566
#mnpoctrang #sharkwatchproject

ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์บนเพจ Thon Thamrongnawasawat เพื่อชวนให้นักท่องเที่ยวได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์ฉลามหูดำ ว่า

ใครที่ไปอ่าวมาหยา อาจได้ยินเสียงนกหวีดปรี๊ดๆ ของพี่เจ้าหน้าที่เป่าเตือนเป็นระยะ เมื่อนักท่องเที่ยวบางคนทำท่าว่าจะลงทะเลลึกเกินเข่า

บางคนอาจสงสัยในใจ ไปไกลกว่านั้นได้ไหม เดี๋ยวถ่ายภาพไม่สวย ขอสักแค่เอวก็น่าจะได้ ฉลามคงไม่เข้ามาใกล้ฝั่งขนาดนั้นหรอกมั้ง

ภาพจากคลิปของศูนย์อุทยานทางทะเล ถ่ายเมื่อเช้าวันที่ 29 มีนาคม คงพอบอกเราได้ว่าฉลามเข้ามาใกล้ขนาดนั้นครับ
เฉพาะในวงแดง ผมนับฉลามได้ 13 ตัว อยู่ใกล้ฝั่งขนาดไหน ดูภาพก็บอกได้ ยังมีอยู่นอกวงอีกหลายตัว

เพราะฉะนั้น ยังมีฉลามที่อ่าวมาหยา มีเยอะด้วย และเข้ามาใกล้ฝั่งด้วย

การศึกษาของอุทยานทางทะเลร่วมกับกลุ่มนักวิจัยฉลามที่อ่าวมาหยา พบว่าฉลามแบ่งเป็น 2 กลุ่มง่ายๆ กลุ่มแรกเป็นลูกฉลามตัวเล็กมักอยู่ใกล้ฝั่ง หลายท่านไปก็คงเห็น

อีกกลุ่มคือพวกตัวใหญ่ จะอยู่แนวนอกห่างฝั่งออกไป 200/300 เมตร แต่ก็มีช่วงเข้ามาใกล้ฝั่งเหมือนกันนะ เหมือนในภาพนี้
เป้าหมายหลักของการจัดการท่องเที่ยวอ่าวมาหยาคือคนเที่ยวได้ ฉลามอยู่ได้ เราไม่เบียดเบียนกันและกัน

เราไม่รุกรานบ้านฉลามลึกเกินเข่า แม้เราจะไม่เคยคิดทำร้ายพวกเธอ แต่เธอๆ และลูกเธอๆ อาจตกใจ อาจว่ายหนีไปก็หนีมา รบกวนพฤติกรรม

ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องของความปลอดภัย ฉลามไม่คิดทำร้ายคน แต่ขนาดหมาแมวที่เราเลี้ยงยังเผลอกัดข่วนเราได้เลยครับ

เพราะฉะนั้น ลึกแค่เข่าจึงเป็นเส้นแบ่งอย่างสันติระหว่างคนกับฉลาม ทำให้แม้นักท่องเที่ยวกลับมาเยอะแล้ว แต่ยังคงมีฉลามหลายสิบอยู่ในอ่าวมาหยา

เป็นการแบ่งปันกันระหว่างคนกับฉลาม ยั่งยืนทั้งการอนุรักษ์และการท่องเที่ยว เป็นตัวอย่างที่ใครมาใครเห็นใครก็ตะลึง ทึ่งกันไปทั่วโลกา

จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านคงเข้าใจความหมายของ “แค่เข่า” และปฏิบัติตามกฏกติกา เพื่อให้ฝูงฉลามคงอยู่คู่มาหยาได้ตลอดไปนะครับ

อ้างอิง :
ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง
เพจเฟซบุ๊ค Thon Thamrongnawasawat


กำลังโหลดความคิดเห็น