วันที่ 12 เมษายน ของทุกปี กำหนดให้เป็น “วันป่าชุมชนชายเลนไทย” (Thai Mangrove Community Forests Day) #IMPORTANTDAY เพื่อให้ชุมชนตระหนักถึงคุณค่าของผืนป่าชายเลน ว่ามีประโยชน์อย่างมากต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเล พร้อมกับรณรงค์ให้ชุมชนร่วมมือ ช่วยกันอนุรักษ์ผืนป่าชายเลนของไทยให้คงอยู่สืบไป
รู้หรือไม่! ป่าชายเลน เกิดจากตะกอนที่มากับแม่น้ำสะสมรวมตัวกันเป็นหาดเลนกว้าง บริเวณรอยต่อ ของทะเลกับพื้นดิน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและสัตว์บก นอกจากนี้ยังเป็นบริเวณที่เต็มไปด้วยพืชหลากชนิดและหลายตระกูล โดยเฉพาะไม้ใบที่เขียวตลอดปี
จากอดีตถึงปัจจุบัน พบว่าพื้นที่ป่าชายเลนของประเทศไทยลดจำนวนลงอย่างมาก เนื่องจากอดีตพื้นที่ป่าชายเลนถูกบุกรุกและเปลี่ยนสภาพไปเพื่อการใช้ประโยชน์ต่างๆ จนทำให้พื้นที่ป่าชายเลนลดลง สำหรับอัตราการลดลงของพื้นที่ป่าชายเลนนั้นอยู่ในอัตราค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ป่าชายเลนทั้งประเทศ
จากข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พบการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนโดยการแปลภาพถ่ายทางอากาศในปี พ.ศ. 2504 มีป่าชายเลนทั้งหมดประมาณ 3,679.00 ตารางกิโลเมตร ต่อมาในปี 2518 ปรากฏว่ามีพื้นที่ป่าชายเลนเหลือประมาณ 3,127.32 ตารางกิโลเมตร และในปี 2522 มีพื้นที่ป่าชายเลนเหลือประมาณ 2,873.08 ตารางกิโลเมตร ส่วนปี 2528 มีเนื้อที่ป่าชายเลนเหลืออยู่ 2,686.96 ตารางกิโลเมตร และจากการสำรวจปี 2539 พบว่าพื้นที่ป่าชายเลนของประเทศเหลืออยู่ 1,675.82 ตารางกิโลเมตร และจากการสำรวจครั้งล่าสุดปี 2547 พบว่า ป่าชายเลนของประเทศไทยมีเนื้อที่ 2,758.05 ตารางกิโลเมตร โดยช่วงปี 2522-2528 เป็นช่วงที่มีอัตราการทำลายป่าชายเลนสูงที่สุด
เดิมในปี 2504 มีป่าชายเลนทั้งหมด 22 จังหวัด แต่มาปี 2532 เหลือพื้นที่ป่าชายเลนเพียง 19 จังหวัดเท่านั้น โดยจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม พื้นที่ป่าชายเลนได้หมดลงอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากการพัฒนาการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง โดยเฉพาะการทำนากุ้ง รวมถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนจำนวนมาก
ปัจจุบันประเทศไทย มีป่าชายเลนพื้นที่รวม 2.86 ล้านไร่ โดยพื้นที่ที่ยังคงเป็นป่าชายเลนคงสภาพประมาณ 1.534 ล้านไร่ พบมากสุดในเขตอันดามันตอนล่างประมาณ 651,161 ไร่ รองลงมาพบในเขตอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตะวันออก เท่ากับ 449,767 และ 157,064 ไร่ ตามลำดับ
สำหรับแนวทางการอนุรักษ์ป่าชายเลนให้ยั่งยืน คือการให้ชุมชนมามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นของการฟื้นฟู นำองค์ความรู้ดั้งเดิมและวิถีชีวิตของชุมชนมาประยุกต์ใช้ในการฟื้นฟูและจัดการทรัพยากรป่าชาเลน สร้างจิตสำนึกและเสริมสร้างแรงจูงใจต่างๆ ให้กับชุมชน ให้ความรู้และประสบการณ์ต่างๆ แก่ชุมชนในการฟื้นฟูและจัดการทรัพยากรป่าชายเลน สร้างผู้นำและเครือข่ายเพื่อให้องค์กรชุมชนมีความเข้มแข็ง จัดกิจกรรมเกี่ยวกับป่าชายเลน เช่น การปลูกป่าชายเลน การอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลน ทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น
เพราะสาเหตุสำคัญของป่าชายเลนถูกรุกล้ำ ทำลาย เกิดจากมนุษย์เข้ามาปรับเปลี่ยนพื้นที่ ทําให้ระบบนิเวศต่าง ๆ เสียไป การกําหนดให้วันที่ 12 เมษายนของทุกปี เป็น “วันป่าชุมชนชายเลนไทย จึงคาดหวังให้ชุมชนได้ร่วมกันตระหนักถึงการอนุรักษ์ป่าชายเลนให้คงอยู่ต่อไป
ประโยชน์ของการอนุรักษ์ป่าชายเลน
- เป็นแหล่งอาหาร แหล่งอนุบาลสัตว์ที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น
- เป็นส่วนสำคัญในการป้องกันหน้าดินพังทลายชายฝั่ง
- ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มออกซิเจนในบรรยากาศ
- ช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศทะเลและชายฝั่ง
- เป็นตัวกรองของเสียที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม