xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัวเว็บไซต์ "Trees4All" ระบบติดตามผลการปลูกต้นไม้ "รีคอฟ - เกษตรกรน่าน - ภาคีสู้โลกร้อน" ร่วมจัดการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รีคอฟ ประเทศไทย องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่เชี่ยวชาญด้านวนศาสตร์ชุมชน เปิดตัวเว็บไซต์ trees4allthailand.org ภายใต้โครงการต้นไม้ของเรา (Trees4All) ซึ่งเชื่อมผู้บริจาคเงินอุปถัมภ์ต้นไม้จากปลายน้ำสู่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกต้นไม้ฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศต้นน้ำน่าน เพื่อให้เราทุกคนสามารถติดตามการเติบโตของต้นไม้และผลดีจากการปลูกได้อย่างต่อเนื่องและสร้างความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ 


รีคอฟ ประเทศไทย สถาบัน ChangeFusion คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกลุ่มรักษ์สันติสุข มองเห็นปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่าจากการปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยวในอำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน และปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อย ทั้งที่พื้นที่ต้นน้ำน่านมีสัดส่วนของน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาถึงร้อยละ 40 แต่ระบบนิเวศกลับเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยยังตั้งเป้าที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าให้ถึงร้อยละ 40 ของประเทศภายในพ.ศ. 2580 เพื่อรับมือวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ รีคอฟ ประเทศไทยและองค์กรภาคี จึงริเริ่มโครงการต้นไม้ของเราเพื่อระดมทุนปลูกต้นไม้แบบติดตามผลได้อย่างยั่งยืน


นางสาววรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อำนวยการรีคอฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการเริ่มมาจากแนวคิดที่ว่าพวกเราทุกคนเกี่ยวข้องกัน ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนในโลกนี้ เราต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันและต้องพึ่งพิงระบบนิเวศ วันนี้เราเห็นปัญหาคือ เมื่อป่าต้นน้ำเสื่อมโทรมลง เราต้องพบกับผลกระทบโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหมอกควันหรือปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม เมื่อชีวิตของพวกเราต้องพึ่งพิงกัน เราก็ต้องช่วยเหลือกันในการรับผิดชอบและแบ่งเบาภาระการดูแลระบบนิเวศ ไม่ใช่เพียงคนที่อยู่ต้นน้ำเท่านั้นที่ต้องรับภาระ ดังนั้นจะต้องมีสะพานเชื่อมให้เราสามารถช่วยเหลือคนต้นน้ำในฐานะคนปลายน้ำ ถ้าเรายื่นมือออกมาช่วยเหลือกันโดยปลูกต้นไม้ 1 ต้น ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่เราจะช่วยคนต้นน้ำดูแลระบบนิเวศได้"

"การปลูกต้นไม้เป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์และทั่วโลกได้ให้ความเห็นแล้วว่าเป็นหนึ่งในวิธีช่วยโลกเราจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกมาจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้น การปลูกต้นไม้เป็นวิธีการที่ง่าย แต่สิ่งที่ยากคือการดูแลและทำให้ต้นไม้อยู่รอดต่อไป ดังนั้นเกษตรกรจึงเป็นหัวใจของการปลูกต้นไม้ โครงการต้นไม้ของเราจึงมุ่งสนับสนุนเงินให้ส่งตรงไปถึงเกษตรกร ซึ่งเป็นตัวเอกในการดูแลต้นไม้ของเรา”

การปลูกต้นไม้และติดตามผลการปลูกกับโครงการต้นไม้ของเรามีการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยเงินบริจาคผ่านเว็บไซต์ระดมทุนเทใจดอทคอมจะเป็นทุนช่วยเกษตรกรต้นน้ำน่านปรับลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาสู่การปลูกไม้ยืนต้นหลากหลายชนิดที่เหมาะสมกับที่ดินของเกษตรกร จากนั้นเกษตรกรจะดูแลต้นไม้เป็นอย่างดี พร้อมรายงานพิกัด ข้อมูลการเติบโต ภาพถ่าย และคะแนนสุขภาพของต้นไม้แต่ละต้นให้กับผู้บริจาคเงินทุก 6 เดือนตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปีต่อจากนี้ เกษตรกรจะรายงานข้อมูลของต้นไม้ผ่านแอปพลิเคชันในมือถือ และข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งเข้ามาที่เว็บไซต์ trees4allthailand.org ที่จับคู่ยอดบริจาคเงินของผู้บริจาคแต่ละรายกับจำนวนต้นไม้ที่ปลูกได้ ทำให้ผู้บริจาคสามารถติดตามพิกัดและการเติบโตของต้นไม้ที่ตนเองอุปถัมภ์ โดยใช้ข้อมูลการล็อกอินที่ระบบจะส่งไปยังอีเมลที่ใช้บริจาคเงินในเว็บไซต์เทใจดอทคอม 


นางเบญจกร ทุ่งสุกใส หนึ่งในผู้สนับสนุนโครงการและอินฟลูเอนเซอร์สายครอบครัวและเด็ก ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับระบบติดตามต้นไม้ของเราว่า “พอเรารู้พิกัดว่าต้นไม้ที่เราบริจาคเงินปลูกอยู่ที่ไหน เราอาจจะพาลูกไปดูต้นไม้ในที่ปลูกจริงว่าเป็นอย่างไร และเด็กจะได้สัมผัสจากชาวบ้านด้วยว่าสภาพพื้นที่ตรงนั้นเป็นอย่างไร เขาอยู่กันอย่างไร เพื่อให้เด็กได้ซึมซับและเกิดความประทับใจ ต้นไม้อายุยืนกว่าเรา จึงอยากเชิญชวนทุกคนมาสร้างโลกใบนี้ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นเพื่อเด็กรุ่นต่อไป” 

นางสาวเอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการเว็บไซต์เทใจดอทคอม กล่าวเสริมว่า “นอกจากประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อม ประโยชน์ทางเศรษฐกิจคือเกษตรกรจะได้ใช้ประโยชน์จากต้นไม้ที่ปลูก และถ้ามีคนตามไปดูต้นไม้ที่ตนเองปลูกเยอะก็คงกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดน่านได้เยอะด้วย”

นอกจากนี้์ trees4allthailand.org ยังมีไฮไลท์อยู่ที่การรายงานผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืน โดยผู้บริจาคจะสามารถดาวน์โหลดรายงานการปลูกต้นไม้และผลดีจากการปลูกตามยอดบริจาคของตนเองหรือองค์กร รวมถึงทราบปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่คาดการณ์ว่าจะสามารถดูดซับได้เมื่อต้นไม้โตขึ้น ซึ่งนางสาวทิพย์สุดา นาคทั่ง ตัวแทนผู้บริจาคเงินปลูกต้นไม้ในนามกลุ่มแฟนคลับของศิลปินชื่อดัง เป๊ก ผลิตโชค มองว่า “เป็นระบบที่เข้าใจง่าย ใช้ง่าย และฟังก์ชั่นยังเหมาะกับสังคมแฟนคลับ อย่างในกลุ่มแฟนคลับเป๊ก ผลิตโชคจะมีการทำบุญวันเกิดทุกปีและบริจาคเงินอยู่แล้ว แต่ในปีที่ผ่านมาเราเพิ่มเรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติเข้ามา ทางเราภูมิใจและอยากจะเป็นตัวอย่างให้แฟนคลับกลุ่มอื่นได้เข้ามาร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ การมีฟังก์ชั่นที่เราติดตามได้ว่าเงินที่เราลงไปนั้นเกิดประโยชน์ในระยะยาวจริงและใช้งานง่ายแบบนี้ถือว่าดีมากและเหมาะกับสังคมยุคใหม่”

เว็บไซต์trees4allthailand.org รวมถึงแอปพลิเคชันรายงานข้อมูลต้นไม้สำหรับเกษตรกร พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือกับนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโครงการต้นไม้ของเราได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกอย่าง Global EbA Fund และ Wyss Academy for Nature

งานเปิดตัวระบบติดตามต้นไม้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2566 ที่ห้องไชน่ารูม สำนักงานใหญ่รีคอฟ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน พร้อมกิจกรรมสนทนากับผู้ร่วมสนับสนุนโครงการและเวทีเสวนาเรื่องกลไกการเงินเพื่อป่าและคนที่ดูแลป่า
โครงการต้นไม้ของเรามีเป้าหมายการระดมทุนอยู่ที่ปีละ 1,100,000 บาท เพื่อให้เกษตรกรมีทุนปลูกต้นไม้ในช่วงฤดูฝนจำนวน 10,000 ต้นต่อปีและดูแลต้นไม้จนเติบโต ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 สามารถระดมทุนได้แล้วกว่า 700,000 บาท ปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 4,000 ต้น และมีเกษตรกรน่านเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 30 ราย 

นางสาววรารัตน์ วุฒิ ตัวแทนเกษตรกร เผยความคืบหน้าในการปลูกต้นไม้ว่า “โครงการช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรสร้างพื้นที่ปลูกไม้ที่ยั่งยืนได้อย่างน้อยร้อยละ 10 ของพื้นที่ของเราเพื่อให้เกิดป่าตรงนั้น ต่อไปอาจจะเพิ่มมากกว่าร้อยละ 10 ได้” ในระยะเวลาทำโครงการอีก 34 เดือนต่อจากนี้ รีคอฟ ประเทศไทย จะเดินหน้าค้นหาเกษตรกรมาเข้าร่วมโครงการและพัฒนาศักยภาพต่อไป พร้อมร่วมมือกับทีมพัฒนาระบบติดตามต้นไม้ให้ดียิ่งขึ้น

ทุกคนสามารถช่วยเกษตรกรปลูกต้นไม้ของเรา โดยบริจาคเงิน 100 บาทต่อการปลูกต้นไม้ 1 ต้นผ่าน taejai.com/th/d/tree-for-all และติดตามผลการปลูกต้นไม้ทาง trees4allthailand.org รวมถึงติดตามข่าวสารเกี่ยวกับโครงการต้นไม้ของเรา (Trees4All) และโครงการอื่นๆ เพื่อคนกับป่าได้ที่เว็บไซต์รีคอฟ ประเทศไทย www.recoftc.org/thailand และเฟสบุ๊ครีคอฟ ประเทศไทย www.facebook.com/recoftcinThailand (รับชมบันทึกการถ่ายทอดสดงานเปิดตัวระบบติดตามต้นไม้ที่ fb.watch/jPkzNM8Ugd )