องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา มีบทบาทหน้าที่ในการบริหารและพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเชิงบูรณาการ เป็นองค์กรกลางในการประสาน ส่งเสริม สนับสนุนการบริหารจัดการเพื่อบูรณาการการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศ และยกระดับเมืองในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้มีศักยภาพและความพร้อมเพื่อสมัครเข้าเป็น เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network - UCCN) ตามเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการท่องเที่ยว (การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม)
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า การผลักดันเมืองในพื้นที่พิเศษหรือพื้นที่เตรียมการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ อพท. จะเข้าไปศึกษาศักยภาพและความเหมาะสมของเมืองและร่วมพัฒนาและยกระดับเมืองให้มีความพร้อมตามหลักเกณฑ์ในการสมัครเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายการดำเนินงานของ อพท. ในปี 2566 เพื่อยืนยันถึงภารกิจหลักและความสำเร็จตามมาตรฐานการดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. ให้ได้รับการยอมรับในระดับเวทีสากล ซึ่งประโยชน์ของการเป็นเมืองสร้างสรรค์ จะสอดคล้องกับการพัฒนาของ อพท. และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย คือ การพัฒนาเมืองสร้างสรรค์เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Sustainable Development Goals : SDGs) และเป็นไปตามเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี รวมทั้งเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเมืองและพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่ สามารถแก้ปัญหาของสังคมได้ อาทิ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน การศึกษาและสิ่งแวดล้อม
การเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกนั้น เมืองจะถูกพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมที่เอื้อให้เกิดการสร้างสรรค์งาน มีการจัดเตรียมปัจจัยพื้นฐาน (Infrastructure) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจสร้างสรรค์ เกิดการนำความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Culture Diversity) มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่สำคัญจะเป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนทุกวัยได้เข้ามาร่วมคิด ร่วมออกแบบ ร่วมขับเคลื่อนและร่วมรับผลประโยชน์จากการสร้างสรรค์เมืองร่วมกัน
สำหรับประโยชน์ของการเป็นเมืองสร้างสรรค์ นอกจากการพัฒนาเมืองให้เกิดความยั่งยืนตามแนวทาง SDGs แล้ว ยังจะนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ส่งผลให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และนักท่องเที่ยวได้เรียนรู้เข้าใจทรัพยากรทางวัฒนธรรมของเมืองนั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากเมืองที่เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์จากทั่วโลกให้เดินทางมาเยือนเพิ่มขึ้น เกิดการมีส่วนร่วมในโครงการระหว่างประเทศและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายที่อยู่ในเมืองสร้างสรรค์อื่นๆ ส่งเสริมเอกลักษณ์ที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวของเมือง
ในปีงบประมาณ 2566 อพท. มีเป้าหมายการพัฒนาและร่วมผลักดันเมืองในพื้นที่พิเศษ เพื่อส่งเข้าชิงเมืองสร้างสรรค์ 3 แห่ง ได้แก่ จังหวัดน่าน (ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน) จังหวัดสุพรรณบุรี (ด้านดนตรี) และจังหวัดเชียงราย (ด้านการออกแบบ) ซึ่งเมืองที่ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก จะส่งผลให้เมืองนั้นเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยที่ผ่านมา อพท. ได้ผลักดันเมืองเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกแล้ว 2 เมือง ได้แก่ ปี 2562 จังหวัดสุโขทัย ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (City of Crafts and Folk Art) และปี 2564 จังหวัดเพชรบุรี ด้านอาหาร (City of Gastronomy)
นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2564 - 2565 ที่ผ่านมา อพท. ได้คัดเลือกเมืองที่มีศักยภาพและความเหมาะสมที่จะพัฒนาและเสนอชื่อเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ได้ไว้แล้ว 6 เมือง ได้แก่ เมืองพัทยา อุบลราชธานี เลย ยะลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช โดย อพท. ได้ดำเนินการศึกษาศักยภาพและความเหมาะสมตามองค์ประกอบของการสมัครเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO และจะเป็นหน่วยงานสนับสนุนในการผลักดันการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ร่วมกับเมืองและหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องต่อไป และมุ่งหวังให้นำไปสู่การสร้างและกระจายรายได้ให้กับเมืองและชุมชนท้องถิ่น ที่จะขับเคลื่อนไปเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกต่อไป