xs
xsm
sm
md
lg

โขลงแม่เท ! ย้ายพังน้อย “มีนา” ลูกช้างป่าพลัดหลง ไปอยู่กับ “น้องตุลา” ที่กระบกคู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





ทีมงานสัตวแพทย์ และสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติฯ ตัดสินใจทำการเคลื่อนย้าย “น้องมีนา” ลูกช้างป่าพลัดหลง จากหน่วยพิทักษ์ป่าเขากระป็อด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จังหวัดบุรีรัมย์ มาอนุบาลดูแลต่อที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) เพื่อความปลอดภัย หลังกั้นคอกรอโขลงแม่ตั้งแต่วันที่พลัดหลงแล้วไม่มารับ

เมื่อวานนี้ (5 เม.ย.66) นางสาวมัชฌมณ แก้วพฤหัสชัย หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) รายงานว่า ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ร่วมกับสัตวแพทย์ประจำส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าเขากระป็อด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ และสัตวบาลจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน เข้าติดตามอาการและดูแลลูกช้างป่า "น้องมีนา" ณ หน่วยพิทักษ์ป่าเขากระป็อด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จังหวัดบุรีรัมย์

จากการตรวจสุขภาพพบว่า สุขภาพโดยรวมของลูกช้างป่าปกติ ค่าคะแนนความสมบูรณ์ของร่างกาย = 2/5 (1 = ผอมมาก 2 = น้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน 3 = น้ำหนักมาตรฐาน 4 = น้ำหนักเกินมาตรฐาน 5 = อ้วน)

ถือว่าเกณฑ์ขนาดตัวต่ำกว่ามาตรฐาน และร่างกายขาดน้ำ พฤติกรรมลูกช้างร่าเริง ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมได้ดี กินนม และขับถ่ายได้ปกติ ทำการเสริมวิตามินซีและแคลเซียมให้กิน สำหรับการนอนหลับลูกช้างนอนหลับได้ดีในช่วงกลางวัน สามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ดี แต่เริ่มมีพฤติกรรมติดคน ติดพี่เลี้ยงและวิ่งเข้าหาคน

กั้นคอกรอโขลงแม่ แต่ก็เสี่ยงอันตรายจากผู้ล่า จนท.ต้องดูแล 24 ชม.

เจ้าหน้าที่ ออกติดตามพบโขลงช้างที่คาดว่าใช่ แต่ไม่มารับน้องมีนา
โดยเมื่อคืนวันก่อน วันที่ 30, 31 มีนาคม 1, 2 เมษายน 2566 ได้ทำการตามหาโขลงช้างที่มีลูกช้าง โดยได้รับความอนุเคราะห์โดรนตรวจจับความร้อนจากกลุ่ม save ฅน save ช้าง เพื่อหาโอกาสกลับเข้าฝูง พบว่ามีช้างฝูงอยู่ 1 ฝูง (ประมาณ 18 ตัว มีลูกช้างป่าเล็กๆ อยู่ด้วย คาดว่าเป็นโขลงเดียวกับที่ลูกช้างป่า "น้องมีนา" พลัดหลงออกมา) ที่อยู่ใกล้ๆ หน่วยพิทักษ์ป่าเขากระป็อด แต่โขลงช้างป่าดังกล่าวไม่มารับลูกช้างป่ากลับแต่อย่างใด

ด้านหมอล็อต นายภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า ได้เข้าเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งหารือแนวทางในการจัดการและดูแลน้องมีนาต่อไป ในกรณีปล่อยคืนสู่ธรรมชาติไม่สำเร็จ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดภาวะวิกฤตของลูกช้างป่าที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะเกรงว่าลูกช้างป่าจะเกิดการบอบช้ำและมีความเครียดทำให้เกิดอาการป่วยหรือทรุดลงได้ จึงเห็นควรพิจารณาเคลื่อนย้ายลูกช้างป่าไปทำการรักษาและอนุบาลฟื้นฟูร่างกายในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป

เหตุผลที่ต้องมีการวางแผนในการเคลื่อนย้ายนั้นเนื่องจากข้อกำจัดที่พบ คือ สภาพอากาศในพื้นที่หน่วยพิทักษ์ป่าเขากระป็อด มีอากาศร้อนจัดในเวลากลางวัน อาจทำให้ลูกช้างป่าเกิดภาวะขาดน้ำได้ ประกอบกับในบริเวณใกล้เคียงมีผู้ล่า ได้แก่ เสือโคร่ง และมีช้างป่าโทน เดินวนเวียน ซึ่งอาจทำอันตรายต่อลูกช้างป่าในคอกชั่วคราวได้ ระหว่างนั้นต้องให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

“เมื่อฝูงไม่มารับ มีนาชอบวิ่งตามเจ้าหน้าที่อาการร้อน ร่างกายขาดน้ำ ขนาดร่างกายต่ำกว่าเกณฑ์ มีนาก็เครียด ตอนนี้ต้องเอาให้รอดไว้ก่อน อีกทั้งผลการตรวจโรคไวรัสครั้งที่สอง ผลก็ออกมาแล้ว เป็นลบในทุกตัวอย่าง แดดร่มลมตกวันนี้ น้องมีนาจะไปเคลื่อนย้ายไปอยู่กับพี่ตุลา (ตุลาตัวเล็กกว่ามาก เพราะมีนาได้กินนมแม่เต็มที่) ไม่รู้ว่าน้องมีนาจะพาพี่ตุลาเรียนรู้เรื่องมารยาท หรือจะแสบคูณสอง คงได้รู้กัน สถานที่เตรียมไว้พร้อมแล้ว มาถึงยังไม่ให้เจอกัน แยกกันเลี้ยงไว้ก่อน กลัวห้ามใจไม่อยู่ หยอกกันแรง ช้างเชือกไหนมาเป็นแม่รับ ปวดหัวแน่ๆ ให้กำลังใจกันครับ”

ทั้งนี้จากข้อสั่งการของผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า และความเห็นทางการแพทย์ เห็นตรงกันที่จะให้ทำการเคลื่อนย้าย "น้องมีนา" ไปรักษาและอนุบาลฟื้นฟูร่างกาย ณ ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ซึ่งสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) ได้เข้าทำการเจาะเลือดตรวจสุขภาพและตรวจเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 ก่อนทำการเคลื่อนย้าย โดยได้รับการสนับสนุนรถเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน จังหวัดสระแก้ว

อ้างอิง ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


กำลังโหลดความคิดเห็น