xs
xsm
sm
md
lg

ปลื้มสุด ! เปิดคลิป ช้างป่า กระทิง วัวแดง มากันตรึม ใช้ประโยชน์แหล่งน้ำ-ทุ่งหญ้าที่มนุษย์ช่วยสร้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โขลงช้างป่า เข้ามาใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ เมื่อ 10-11 มี.ค.ที่ผ่านมา




ขสป.เขาอ่างฤาไน โชว์คลิปที่น่าปลื้มใจผลลัพธ์ เมื่อโขลงช้างป่าพาลูกน้อยเข้าไปใช้ประโยชน์แหล่งน้ำ ทุ่งหญ้า ที่จัดสร้างไว้ภายใน ขสป.เขาอ่างฤาไน ตามโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงฝูงกระทิง วัวแดงก็มาร่วมใช้ประโยชน์ด้วย

“โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” มีความหมายว่า “น้ำทิพย์รักษาช้างให้แข็งแกร่งยืนยงดุจเพชร” เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 เป็นโครงการป่ารอยต่อ 5 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดสระแก้ว ซึ่งมีพื้นที่รวมกัน ประมาณ 1,363,323.05 ไร่ หรือ 2,181.32 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันนี้มีหมู่บ้านคชานุรักษ์ เป็นหมู่บ้านนำร่องครบทั้ง 5 จังหวัดดังกล่าวแล้ว

ฝูงกระทิง เข้ามาใช้ประโยชน์ เมื่อ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา

ฝูงวัวแดง เข้ามาใช้ประโยชน์ เมื่อ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา
โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ มีเป้าหมายดำเนินการสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนการธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวง ร.๙) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ในการแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่าง “คนกับช้างป่า” ด้วยการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรให้อุดมสมบูรณ์ เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ รวมทั้งพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตของชุมชน

จึงนำมาสู่แนวปฏิบัติในการฟื้นฟูแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ ให้เพียงพอในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อนำช้างป่ากลับเข้าสู่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด อาทิ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น อุทยานแห่งชาติเขาคิฌชกูฏ และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา - เขาวง รวมถึงสัตว์ป่าอื่นๆ ซึ่งที่เห็นในคลิป จะเห็นฝูงกระทิง และวัวแดง ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ด้วยโดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง

โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ประสบผลสำเร็จด้วยความร่วมแรงรวมใจกันของทุกฝ่ายในการนำช้างกลับเข้าสู่ป่า ไม่ว่าจะเป็นชุมชน จิตอาสา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้ามาช่วยกันฟื้นฟูพัฒนาแหล่งอาหารของช้างให้มีความอุดมสมบูรณ์

ที่มา
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน
โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์


กำลังโหลดความคิดเห็น