xs
xsm
sm
md
lg

พลิกบทเรียน “ตัดไม้ แต่ได้ป่า-เศรษฐกิจ-คน” แนวคิดใหม่ จาก “สวีเดน” สู่ “ไทย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ ปกคลุมทั่วสวีเดนกว่า 70% จากที่เคยเสื่อมโทรม เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา
จากประสบการณ์การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนของประเทศสวีเดนที่ประสบความสำเร็จ ถือเป็นโมเดลจัดการป่ายั่งยืนระดับโลก โดยสามารถพลิกฟื้นคืนผืนป่าที่เหลืออยู่เพียง 25% ให้กลับเพิ่มขึ้น 70% สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับธรรมชาติและสภาพแวดล้อมอีกครั้ง ทั้งยังเป็นประเทศส่งออกไม้เศรษฐกิจรายใหญ่อันดับ 3 ของโลกในปัจจุบัน มูลค่ารวมกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี


ความสำเร็จดังกล่าวมีปัจจัยสำคัญ คือการใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ (Forestry Act) ที่ทำให้ “ตัดไม้ แต่ได้ป่า” ถ้าตัดต้นไม้ 1 ต้น ต้องปลูกเพิ่มอย่างน้อย 3 ต้น นอกจากเพิ่มพื้นที่ป่า ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ช่วยดูดซับคาร์บอน และลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังช่วยให้คนอยู่ร่วมและใช้ประโยชน์จากป่า พร้อมกับมีส่วนร่วมฟื้นฟูป่า ช่วยสร้างป่าไม้ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ สร้างงานและรายได้ให้ประชาชน เช่น ไม้สำหรับก่อสร้างอาคารสมัยใหม่ ไม้แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ และเศษไม้เหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล เป็นต้น

พันธมิตรร่วมผลักดันโมเดลการจัดการป่ายั่งยืนระดับโลก
ดังนั้น “สัปดาห์แห่งความยั่งยืนไทย-สวีเดน" หรือ Thailand and Sweden Sustainability Week 2023 ระหว่างวันที่ 16-22 มีนาคม 2566 เพื่อ “สร้างสรรค์นวัตกรรม สู่อนาคตเมืองยั่งยืน” จึงเกิดหนึ่งในกิจกรรม โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย-สวีเดน ร่วมกับเอสซีจีและพันธมิตร ซึ่งร่วมผลักดันโมเดลจัดการป่ายั่งยืนระดับโลกจากสวีเดน จัดงาน “Redesign Sustainable Forestry” : The Innovative Forest Management Forum ระดมผู้เกี่ยวข้องมาเสวนาเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ องค์ความรู้ และแนวทางจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ซึ่งทางสวีเดนโดย Mr. Berty Van Hensbergen, Partner of the Eco Innovation Foundation กล่าวว่า “ป่าที่มีการจัดการที่ดี เช่น เลือกปลูกพันธุ์ไม้ที่ตรงตามความต้องการของตลาด และดูแลพื้นที่เพาะปลูก จะให้ผลผลิตที่ดี ทำให้ไม้มีคุณค่าสูงขึ้น 50% แต่ป่าที่ไม่มีการจัดการ จะใช้คุณค่าจากไม้ได้ไม่เต็มที่ บางประเทศไม้ที่ตัดแล้วใช้ได้ในแวลูเชนมีแค่ 10% เท่านั้น เพราะผู้ซื้อซื้อไม้ที่เป็นท่อนตามมาตรฐานเท่านั้น ไม้ที่เหลือจึงสูญเปล่าไปเพราะขายไม่ได้ในท้องตลาด ทำให้เสียคุณค่าจากป่าไปมาก และยากที่จะสร้างผลกำไรทางเศรษฐกิจ”

Mr. Christer Bladh Vice President of Sale, Södra กล่าวว่า “นวัตกรรมเป็นกุญแจสำคัญของอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน หนึ่งในนั้นคือการนำวัสดุเหลือใช้จากป่า มาแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวล นอกจากเกิดประโยชน์ต่อชุมชน ยังช่วยลด CO2 ในสวีเดนและทั่วโลก”
และ Mr. Aaron Kaplan Director of Eco Innovation Foundation ให้มุมมองว่า “การนำไม้มาใช้ก่อสร้าง ต้องคิดแบบบูรณาการ มองให้รอบด้านตั้งแต่จุดเริ่มต้นการปลูกป่าอย่างถูกวิธี รวมถึงร่วมมือกับคนในชุมชนและภาคธุรกิจ เพื่อให้เราใช้ไม้ได้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน”

สถาปัตยกรรมไม้ภายในบริษัท NCC สำนักงานใหญ่ ที่สวีเดน ผลงานของ Pi Ekblom (Gaia Architecture) ขณะที่ทำงานกับบริษัท White Arkitektur3
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดเพิ่มเติมด้านความยั่งยืนจากสถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและก่อสร้างจากสวีเดนมาให้แนวทาง Ms.Pi Ekblom, Partners of Gaia architects และ Ms.Ulrika Stenkula, Partners of Gaia architects มองว่า “มนุษย์และธรรมชาติมีความสัมพันธ์กันมายาวนาน นอกจากการที่คนได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีต้นไม้จะช่วยผ่อนคลาย ลดความเครียดได้ สถาปัตยกรรมที่มีไม้เป็นหลัก ยังทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้นด้วย”

Mr. Magnus Emilsson CEO of Limträteknik กล่าวว่า “ไม้เป็นวัสดุก่อสร้างที่ดัดแปลงง่าย หากจัดวางเหมาะสม ก็แข็งแรงกว่าเหล็กได้ แม้ความท้าทายของการใช้มีหลายอย่าง แต่ปัจจุบันมีระบบต่างๆ ที่ช่วยป้องกันได้”

Ms.Anna-Lena Gull Design and implementation of mass wood production systems, Luleå university of technology กล่าวว่า “ช่วงแรกไม้ถูกใช้เป็นเพียงวัสดุทดแทน แต่ตอนนี้ไม้เป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างมากขึ้น เราจึงต้องใช้และจัดการให้ถูกวิธีเพื่อให้ไม้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโตได้”

อาคารไม้ Sara Kulturhus ณ เมือง Skellefte? ทางตอนเหนือของสวีเดน
ในส่วนการนำแนวทางของสวีเดนมาปรับใช้จัดการป่าไทยสู่ความยั่งยืนมีการเสนอแนะจากส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ โดย ดร.สุวรรณ ตั้งมิตรเจริญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กรมส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ มองว่า “ควรจะทำให้เกิด “seed to export” เพราะจะทำให้เกิดแรงจูงใจที่แท้จริงในการปลูกแล้วขายในตลาดได้จริงจัง ไทยมีอุตสาหกรรมไม้สัก ซึ่งกรมป่าไม้มีเว็บไซต์เพื่อให้ผู้ซื้อกับผู้ขายได้พบกัน มีแหล่งรับซื้อไม้และผู้ปลูกไม้ กำลังพัฒนาอยู่ในขั้นเติมเต็มข้อมูลให้สมบูรณ์ โดยมี มอก. เป็นมาตรฐานระดับชาติ และนำไปรับรอง FSC ของอเมริกา แต่ยังต้องทำ standard code เป็นมาตรฐานของไม้แต่ละชนิด และยังขาดกลางน้ำคือการแปรรูปผลิตภัณฑ์ กับปลายน้ำคือตลาดส่งออก”

สุนิตย์ เชรษฐา ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Change Fusion Group กล่าวว่า “การจะทำให้เป็น “แวลูเชน” เป็น “eco system” ต้องมีการออกแบบตั้งแต่ต้น โดยนำเครือข่ายชุมชนที่ทำเรื่องนี้ได้ นำบริษัทเอกชนที่มีความต้องการชัดเจน และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง มาออกแบบร่วมกัน เพื่อทำ “โครงการนำร่อง” ให้เกิดรูปธรรมเป็นจริงขึ้นมา”

ณภัทร สุพัฒนกุล Senior Vice President ,MQDC ย้ำว่า “การมีต้นไม้อยู่ในโครงการทำให้ well-being ดีขึ้นแน่นอน จากนั้น เรื่องการสร้างอาคารด้วยไม้และการมีป่าอยู่ในโครงการทำให้มูลค่าโครงการเพิ่มขึ้น แม้ว่าต้นทุนจะเพิ่ม แต่มูลค่าโครงการเพิ่มขึ้นตามไปด้วย มีตัวอย่างมากในต่างประเทศ. นอกจากตึกมีมูลค่าเพิ่ม ชุมชนรอบข้างมีมูลค่าเพิ่มไปด้วย และเรื่อง net zero มีส่วนช่วยโลกลด climate change แต่สำหรับธุรกิจอสังหาฯ ต้องการเรื่องไฟแนนซ์ ซึ่งปัจจุบันมี Green fund ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ มีต้นทุนต่ำลงได้ องค์ประกอบเหล่านี้ ทุกภาคส่วนสามารถสร้างดีมานด์พร้อมกันได้”

นิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี
ปิดท้ายด้วยหัวข้อ ‘Together to Sustainable Forestry for Better Environment and Better Living’ โดย นิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า จากการเดินทางไปสวีเดนเมื่อกลางปีที่แล้ว ประทับใจมากกับอาคารสูงที่ทำด้วยไม้ทั้งหมด มีเพียงรากฐานที่เป็นคอนกรีตของทาง Eco Innovation จึงอยากนำนวัตกรรมที่ได้พบกลับมาสร้างแรงบันดาลใจและหาโอกาสที่ดีให้กับเมืองไทย ทำให้เกิดเป็นงานสัมมนาในครั้งนี้

“ส่วนที่ได้จากงานสัมมนา ข้อแรก คือ “สวีเดนโมเดล” เหมาะกับสวีเดน จึงต้องสร้าง “ไทยโมเดล” ที่เหมาะกับเมืองไทย ข้อสอง ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน เช่น ภาครัฐ ทำเรื่องกฎหมาย ภาคเอกชนมองเรื่องความต้องการ ภาคการศึกษาคิดค้นนวัตกรรม และภาคประชาสังคม เพราะทุกคนมีบทบาทของตัวเองแล้วมาร่วมมือกัน ก็มีโอกาสที่จะเกิดอะไรใหม่ๆ business model ใหม่ๆ หรือว่า demand ใหม่ๆ ทั้งได้ใช้ผลิตภัณฑ์จากไม้ ช่วยเพิ่มทรัพยากรป่าไม้ไทยและเกิดประโยชน์โดยรวม ข้อสาม ต้องนำนวัตกรรมมาใช้ ถ้าทำแบบปกติบางครั้งต้นทุนสูงและขายไม่ได้ จึงต้องนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่า มา upcycling ทำ wood engineering เพื่อใช้ไม้ให้ได้ประโยชน์เต็มที่”

ข้อสี่ ต้องสร้าง eco system หรือระบบนิเวศ เช่น ต้องมีโรงเรียนสอนเรื่องดีไซน์ไม้ ต้องมีการก่อสร้างเกี่ยวกับไม้ ฯลฯ จากประสบการณ์เอสซีจีทำเรื่องความยั่งยืนมานาน พบว่าเมื่อทำเหมืองแล้วต้องฟื้นฟูป่า แต่ไม่มีน้ำ ต้นไม้ตายหมด ดังนั้น ฟื้นฟูป่าต้องมีน้ำ ตอนนี้เราปลูกป่ากว่า 1 ล้านต้น ทำ 115,000 ฝาย เพราะน้ำช่วยให้เกิดป่า เกิดความชุ่มชื้น ป่าก็ช่วยรักษาน้ำ และพบอีกว่าต้องมีคนดูแล จึงต้องให้ชุมชน ป่า น้ำ อยู่ด้วยกัน เราทำตั้งแต่จากภูผาสู่มหานที คือตั้งแต่ต้นน้ำ ช่วยกันปลูกป่า ทำฝายลงมาแม่น้ำ รักษาความสะอาดแม่น้ำ แล้วมาถึงทะเลคือป่าชายเลน หญ้าทะเล ช่วยดูดซับคาร์บอน ทำครบวงจร ให้มี eco system พึ่งพากัน แบบนี้ถึงยั่งยืน แล้วเอาเทคโนโลยีมาใช้ เอาโดรนมาบินเพื่อรักษาป่า กระทั่งวิธีปลูกก็ไปสอนชาวบ้าน เพราะเรามีป่ายูคาลิปตัสเป็นป่าเศรษฐกิจ และเพิ่มอาชีพให้เขา เราทำสระพวง ทำให้เพาะปลูกได้ มีรายได้เพิ่ม 5 เท่า จากปีละไม่กี่หมื่นเป็น 2-3 แสนบาท เป็น eco system ที่ยั่งยืน และข้อสุดท้าย ก้าวต่อไปคือต้องเริ่มลงมือทำวันนี้เพื่อเกิดผลที่ดีในอนาคตซึ่งอยู่ในมือของทุกคนต้องร่วมกัน”


กำลังโหลดความคิดเห็น