PM 2.5 คือ ฝุ่นที่มีอนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนซึ่งมีขนาดเล็กมากเกินกว่าที่ขนจมูกจะกรองฝุ่นชนิดนี้เอาไว้ได้ โดยฝุ่นชนิดนี้จะเดินทางผ่านทางเดินหายใจของเด็ก ผ่านจมูกเข้าไปยังคอ หลอดลม หลอดลมฝอย และถุงลมปอดได้ง่ายดาย และสามารถแทรกซึมผ่านเข้าไปยังระบบหลอดเลือดได้ด้วยเช่นกัน ฝุ่น PM 2.5 นั้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่ฝุ่นที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หรือการระคายเคืองเท่านั้น แต่ยังนำพาของแถมซึ่งก็คือ สารก่อมะเร็ง สารโลหะหนักชนิดต่างๆ เชื้อโรคระบบทางเดินหายใจทั้งไวรัสและแบคทีเรีย
บทความให้ความรู้ สำหรับเป็นคู่มือให้กับผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลาน โดย พญ.สิริรักษ์
กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children's Health Center) โรงพยาบาลนวเวช ได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นสาระความรู้ พร้อมคำอธิบายที่เข้าใจได้ง่าย ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ปกครองจะสามารถนำไปปรับใช้ในการดูแล และป้องกันไม่ให้บุตรหลานเกิดการเจ็บป่วยจากฝุ่น PM 2.5 ได้
ฝุ่น PM 2.5 อันตรายต่อเด็กมากน้อยแค่ไหน ส่งผลกระทบต่ออะไรบ้าง ทั้งในผลกระทบต่อสุขภาพระยะสั้นและระยะยาว ผลกระทบต่อสุขภาพระยะสั้น มีทั้งในแง่ความเจ็บป่วยได้ง่าย
ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ ไปจนถึงทำให้ระบบของร่างกายผิดปกติ ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการเรียน การนอน การเจริญเติบโตและการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กๆมากมายทีเดียว
ระบบทางเดินหายใจ
การนำพาเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจไม่ว่าจะเป็นไวรัส หรือ แบคทีเรียนั้น ทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้ง่ายและบ่อยขึ้น
อาการภูมิแพ้ ในเด็กอาจเกิดได้ตั้งแต่อายุเฉลี่ย 2 ปีขึ้นไป
ภูมิแพ้อากาศ หรือ โพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เด็กมีอาการได้ตั้งแต่น้ำมูกใส ๆไหล หายใจครืดคราด คัดจมูก หายใจไม่สะดวก น้ำมูกไหลลงคอ จามบ่อย ๆ คันจมูกร่วมกับคันตา คันหู
คันเพดานปาก ไอแห้งคันคอ ไอเสมหะ ไปจนถึงการนอนกรน ภูมิแพ้ขึ้นตา หรือ เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ เด็กมักมีอาการคันตา ขยี้ตาหรือกระพริบตาบ่อย ๆ จากอาการระคายเคือง บางรายมีผื่นขึ้นรอบๆ ดวงตา แสบตา แพ้แสง ภูมิแพ้ผิวหนัง หรือ ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้
เด็กมักมีอาการผื่นคัน แห้ง ลอกตามบริเวณข้อพับต่างๆ โดยเฉพาะแขนขา อาจมีลมพิษขึ้นเป็นๆ หายๆ มีอาการเจ็บคันคล้ายๆมีแมลงกัดได้เช่นกัน
โรคหอบหืด ในเด็กเล็กมักพบร่วมกับการติดเชื้อทางเดินหายใจ
มักมีอาการไข้ร่วมกับหายใจเหนื่อยส่วนที่เป็นโรคหอบหืดอยู่แล้ว อาจทำให้อาการกำเริบได้บ่อยครั้งและทำให้สมรรถภาพทางปอดลดลงได้
ผลกระทบต่อมารดาตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนดและการคลอดทารกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ไปจนถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ในทารก โดยเฉพาะอาการผื่นแพ้ผิวหนังในช่วงขวบปีแรก และส่งผลต่อการพัฒนาเซลล์สมองของทารกในครรภ์ ทำให้ทารกคลอดเสี่ยงต่อพัฒนาการล่าช้า ก่อให้เกิดปัญหาด้านการพูดและอารมณ์ได้
ผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว นำพาสารก่อมะเร็ง สารโลหะหนักต่างๆ ซึ่งลดสมรรถภาพการทำงานและการฟื้นฟูของปอดรบกวนระบบเผาผลาญพลังงาน ลดสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงในคนอายุน้อย ก่อให้เกิดการอักเสบและความเสื่อมสภาพของร่างกายทำให้ร่างกายฟื้นฟูได้ยาก จึงเกิดร่องรอยจากการบาดเจ็บหรือเซลล์เม็ดสีที่ผิวหนังได้มากขึ้น (การตรวจสมรรถภาพปอดเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 5 ปีขั้นไป) วิธีการวินิจฉัยแยกระหว่าง โรคภูมิแพ้ กับอาการจากฝุ่น PM 2.5 ทำอย่างไร
การแยกอาการภูมิแพ้ที่เกิดจากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ จากอาการระคายเคืองจากฝุ่น PM 2.5 นั้นอาจทำได้ยาก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าอาการจาก ฝุ่น PM 2.5 นั้น ส่งผลต่อหลาย ๆ
ระบบในร่างกายได้มากกว่า จึงมีทั้งความเสื่อมสภาพความอ่อนเพลียร่วมด้วย ทั้งนี้การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ สามารถทำได้โดย วิธีการเจาะเลือดตรวจ (Specific IgE Blood testing) และ การสะกิดผิวหนังตรวจ (Skin pricktest) ซึ่งมีประโยชน์ในการรักษาโรคภูมิแพ้ให้หายขาดได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น คือการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ Immunotherapy นั่นเอง
วิธีการป้องกันฝุ่น PM 2.5
แบบระยะสั้น
1. การสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี หน้ากาก N95 คือหน้ากากที่ดีที่สุดในการป้องกันฝุ่น
แนะนำให้เริ่มใส่หน้ากากอนามัยในเด็กเล็ก ได้ตั้งแต่อายุ 1-2 ปี ซึ่งอาจใช้เป็นหน้ากากอนามัยแผ่นกรอง 3 ชั้นแทนได้
2. ตรวจสอบค่าดัชนีคุณภาพในอากาศ (ค่า AQI- Air quality Index) เป็นประจำ
3. การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในอาคาร หรือการใช้เครื่องฟอกอากาศชนิดพกพานั้นสามารถลดปริมาณฝุ่นก่อนเข้าทางเดินหายใจได้
4. Spray พ่นจมูกชนิดผง ใช้พ่นเข้าในโพรงจมูกโดยตรง เพื่อดักจับสารก่อภูมิแพ้ เชื้อไวรัส รวมถึง ฝุ่น PM 2.5 ไม่ให้ถูกดูดซึมเข้าสู่เยื่อบุโพรงจมูกได้
แบบระยะยาว
1. ช่วยกันลดกระบวนการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์
2. ช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวในที่ทำงาน หรือ สิ่งแวดล้อมรอบตัว
3. หมั่นตรวจสภาพอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงสภาพรถยนต์ เพื่อลดการเผาไหม้จนเกิดมลภาวะทางอากาศ
สำหรับสัญญาณเตือนว่า ลูกมีอาการที่ต้องรีบพามาพบแพทย์ ได้แก่
เจ็บป่วยจากโรคทางเดินหายใจบ่อยมากขึ้น หายได้ยาก
มีอาการหอบเหนื่อย ร่วมกับการเป็นไข้ไม่สบายทุกครั้ง
เด็กทำกิจวัตรประจำวันได้ลดลง บ่นเหนื่อย อ่อนเพลีย อารมณ์หงุดหงิด
อาการภูมิแพ้กำเริบบ่อยครั้ง จนต้องใช้ยาควบคุมอาการที่มากขึ้น
สุดท้ายนี้การดูแลสุขภาพของตนเอง เพิ่มความแข็งแรงของสภาพร่างกายของเราโดยการกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารกลุ่มสร้างสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผัก ผลไม้ ที่มีวิตามิน บี ซี อี ธัญพืชที่มี omega และ fish oil การดื่มน้ำสะอาดปริมาณอย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการพักผ่อนให้เพียงพอย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และใกล้ตัวที่สุดในการป้องกันภัยเงียบตัวจิ๋ว ฝุ่น PM 2.5