"พระนักพัฒนา" ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม หรือ “โรงเรียนเสียดายแดด” พระปัญญาวชิรโมลี (พระครูวิมลปัญญาคุณ) ย้ำว่าวัดควรเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ด้วยความรู้คู่คุณธรรม นำหลักธรรมสู่การเติมเต็มให้แก่ชุมชนทั้งใกล้และไกล
ล่าสุด พระปัญญาวชิรโมลี เปิดสอนสองหลักสูตรให้ความรู้ประชาชนทั้งคนทั่วไปและพระสงฆ์ ณ โคกอีโด่ยวัลเล่ย์ วัดป่าศรีแสงธรรม หลักสูตรแรก ให้ความรู้จาก 9 ฐานการเรียนรู้ตลอดชีวิตพิชิตความยากจน กับหลักสูตรที่สองอบรมโซลาร์เซลล์ให้พระภิกษุสามเณร
พระปัญญาวชิรโมลี บอกว่า หลักสูตรแรกได้ผลิดอกออกผลกระจายความรู้ให้ฆราวาสญาติโยมมาแล้ว ล่าสุดจึงจัดให้มีการอบรมพระสงฆ์ในฐานคนรักษ์สุขภาพ ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมพระภิกษุสามเณรจำนวน 50 รูปเข้าอบรมด้วย เน้นไปที่ดูแลพระป่วยหรือพระผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ จากที่เคยเห็นบางทีพระผู้เฒ่าช่วยเหลือตัวเองลำบากในวัดก็มีแต่พระสูงอายุด้วยกันดูแลกันไม่ได้ ลูกหลานมารับไปอยู่บ้านด้วยไม่นานก็ต้องสึกไปทั้งที่ใจอยากตายคาผ้าเหลือง แต่เนื่องด้วยพระวินัยจึงอยู่ในบ้านไม่สะดวก ก็สลดสังเวชใจ ถ้ามีพระหนุ่มช่วยดูแลได้ก็น่าจะดี จึงให้โรงพยาบาล 50 พรรษามาช่วยอบรมให้ความรู้เบื้องต้น
ส่วนหลักสูตรที่สอง อบรมโซลาร์เซลล์ให้พระภิกษุสามเณร นำความรู้ไปใช้ในสำนักสงฆ์ หรือที่พักสงฆ์ที่อยุ่ห่างไกลไฟฟ้าเข้าไม่ถึง บางที่มีใช้อยู่แล้ว แต่ซ่อมบำรุงไม่เป็น หรือแม้กระทั่งวัดที่ต้องการประหยัดค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนก็สามารถเข้ามาอบรมได้ที่ฐานการเรียนรู้ที่สร้างไว้ได้ใช้ตามเจตนารมณ์ และฐานการเรียนรู้บ้านดินก็เข้าพักอาศัยได้ ทุกอย่างทำใช้ไม่เน้นการโชว์ เมื่อคนมาดูมากเข้าก็เป็นที่โชว์อัตโนมัติ
พระคุณท่าน ฝากบอกว่า "ท่านใดมีศรัทธาจะถวายภัตตาหารเช้า เพล(บางรูปฉันเพล) หรือน้ำปานะถวายพระภิกษุผู้เข้าอบรมโปรดติดต่อที่วัดป่าศรีแสงธรรม"
"ส่วนทีมงานช่างติดตั้งโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นทีมงานนักเรียนโรงเรียนศรีแสงธรรม กำลังจะตั้งกลุ่มเป็นกิจการธุรกิจเพื่อสังคม หาทุนติดตั้งให้กับผู้ที่อยากจะลดค่าไฟ ยังเปิดรับงาน โดยเฉพาะช่วงนี้ปิดเทอมน่าจะไปได้ทุกแห่ง"
พระครูโซลาร์เซลล์ อธิบายเพิ่มเติมว่า นอกจากเรื่องพลังงานโซลาร์เซลล์ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนแล้วยังนำความรู้ทางการเกษตรมาพัฒนาชุมชนพื้นที่ 20 ไร่ ของวัดป่าศรีแสงธรรม นั้น มีพื้นที่แปลงนา เพื่อให้โรงเรียนศรีแสงธรรม ใช้เป็นแปลงนาสาธิตให้นักเรียนรู้จักวิชาดำนาและเกี่ยวข้าวเอง จนได้ผลผลิตข้าวเปลือกมาเป็นอาหารกลางวัน ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นแปลงสาธิตโคก หนอง นา และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อโครงการว่า ‘’โครงการพระราชทานโคกหนองนา แห่งน้ำใจและความหวัง” วัดป่าศรีแสงธรรม และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ มาสนับสนุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ชื่อ ศาลาปฏิบัติธรรมโคก หนอง นา ณ วัดป่าศรีแสงธรรม เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและเป็นการสืบทอดบวรพุทธศาสนาด้วย
ดังกล่าว วัดป่าศรีแสงธรรมและโรงเรียนศรีแสงธรรม จึงเป็นทั้งศาสนสถานและสถาบันการศึกษาที่มีวิวัฒนาการทางการพัฒนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พูดได้ว่า เป็นสถาบันที่มีโครงสร้างและหน้าที่เกื้อกูลให้เกิดภารกิจแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ในการแก้ปัญหาภัยแล้ง ลดปัญหาความอดอยากหิวโหย หรืออาจกล่าวได้ว่ามีผลสัมฤทธิ์และผลผลิตทั้งรูปธรรมและนำมาทำจากการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติ จนเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลและแก่สังคมในทุกมิติ