เครดิตคลิป - พี่ๆ คนเรือหน้าหาด Saii Village
เมื่อเช้านี้ (24 มี.ค.66) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์คลิป “กระเบนนกจุดขาว” ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายาก และเสี่ยงสูญพันธุ์ บนเพจส่วนตัว Thon
Thamrongnawasawat บอกว่า
#ทะเลจัดหนักส่งกระเบนนกยักษ์มาเยี่ยมอาจารย์ธรณ์ถึงหน้าหาดเกาะพีพี
เมื่อเช้านี้ที่หน้าหาดโรงแรม Saii Village อ่าวโละบาเกา เกาะพีพีดอน ผู้คนต่างพากันกรี๊ดเมื่อกระเบนนกจุดขาวบุกเข้ามาตอนเช้าที่น้ำกำลังขึ้น และผมนอนอยู่ที่นี่พอดีครับ เย้ !
กระเบนนกจุดขาวมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ เป็นที่หมายปองของนักดำน้ำ ปรกติจะเจอตอนดำน้ำลึกตามพื้นทราย เป็นข่าวมาหลายหนแล้ว
แต่นี่ ผมไม่ต้องดำน้ำก็ได้ครับ น้ำแค่เข่าก็เจอเลย ซึ่งยืนยันว่าทะเลพีพีสมบูรณ์จริง ว่ายกันเข้ามาหน้าหาด แขกต่างชาติดีใจกันใหญ่ เรียกว่าเร้าใจตั้งแต่เช้าเลยก็ว่าได้
น้องกระเบนว่ายอวดโฉมอยู่ครู่หนึ่งก็จากไป เข้าใจว่าเข้ามาหากินอาหารตอนน้ำขึ้น อีกเดี๋ยวผมจะไปสำรวจทั่วอุทยาน แต่วันนี้ฤกษ์ดีมากครับ ไม่นึกว่าจะมีของดีโผล่มาตั้งแต่ก่อนลงน้ำ ทะเลไทยจัดหนักจริงๆ ด้วยจ้ะ
ปลากระเบนนกจุดขาว บ้างเรียกว่า ปลากระเบนนกหรือปลากระเบนค้างคาว (spotted eagle ray; ชื่อวิทยาศาสตร์: Aetobatus Ocellatus) เป็นปลากระเบนนกชนิดหนึ่งที่พบได้ในทะเลไทย
พวกมันได้รับสมยานามว่า “จานบินแห่งท้องทะเล” นั่นเพราะว่ายดำน้ำและบินถลาเก่งมาก
ลักษณะรูปร่าง ผิวหนังเรียบ ใกล้โคนหางด้านบนมีเงี่ยง 1–4 เงี่ยง พบมากที่สุด 6 เงี่ยง เรียงอยู่ชิดกัน ด้านหลังสีดำมีจุดสีขาวกระจายอยู่ส่วนท้าย ด้านท้องสีขาว หางเรียวยาวมาก มีส่วนหัวที่แยกออกจากครีบเห็นได้ชัดเจน ต่างจากแมนต้า
ขนาดกว้างได้ถึง 1.5 เมตร เคยพบสูงสุดถึง 3 เมตร น้ำหนัก 230 กิโลกรัม แต่ปรกติพบขนาดเล็กกว่านั้นเกือบครึ่ง พวกมันหากินจำพวกสัตว์น้ำหน้าดิน เช่น หอย กุ้ง, กั้ง, ปู บริเวณใต้พื้นน้ำเป็นอาหาร โดยใช้ปากคุ้ยเขี่ยพื้นทรายตามพื้นทะเล
ทั้งนี้กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ระบุว่าปลากระเบนนกจุดขาวมักถูกพบบริเวณใกล้ชายฝั่งมากกว่าในทะเลเปิด และมักพบติดเครื่องมือประมงได้ง่าย เนื่องจากพื้นที่อาศัยมีการทับซ้อนกับพื้นที่ทำการประมงหนาแน่นทั้งบริเวณใกล้ฝั่งและนอกชายฝั่ง
เครดิตคลิป พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา Natural History Museum