xs
xsm
sm
md
lg

ธกส.ร้อยเอ็ด หนุนเกษตรกร ลดปัญหาเหลื่อมล้ำ-ยากจน ปล่อยกู้ดอกจิ๊บจิ๊บ 0.01 %

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘ธกส.’ สนับสนุนเงินกู้แก่เกษตรกรทำบ่อบาดาลน้ำตื้นสูบน้ำด้วยโซล่าเซลล์ ทั้งกู้เป็นรายกลุ่มและรายบุคคล โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย เกษตรกรผู้กู้เสียดอกเบี้ยเพียงล้านละ 100 บาทต่อปี

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พร้อมคณะ ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน และประชุมเปลี่ยนข้อคิดเห็น ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผัก และโคกหนองนาโมเดล หมู่ที่ 7 บ้านหนองบัวห้าว ตำบลแคนใหญ่ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์คณะกรรมาธิการ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายชวนมินทร์ ตรีเนตร ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด พร้อมหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ให้การต้อนรับ

นายสุริยัน โพธิบุรี กำนันตำบลแคนใหญ่ นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นของตำบลแคนใหญ่ว่า ประกอบด้วย 11 หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ 4,300 คน มีพื้นที่ 15,660 ไร่ มีพื้นที่ทำการเกษตร 13,600 ไร่ และเป็นที่อยู่อาศัย 2,060 ไร่ มีโรงเรียน 4 แห่ง วัด 10 แห่ง ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 2 แห่ง ศูนย์เรียนรู้โคกหนองนาโมเดล 1 แห่ง ศูนย์เรียนรู้จิตอาสาพัฒนาชุมชน 1 แห่ง อาชีพหลักคือการทำนาปลูกข้าว อาชีพรองคือการปลูกพืชผักสวนครัว

'กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงผักใหญ่มีนางเต็มดวง สีลาดเลา เป็นหัวหน้ากลุ่ม และเป็นเจ้าของศูนย์เรียนรู้โคกหนองนาโมเดลจำนวน 3 ไร่ กลุ่มประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 108 คน มีสมาชิกที่ปลูกผักได้มาตรฐาน GAP จำนวน 26 ราย และกำลังยกระดับขึ้นเป็นผักอินทรีย์ปลอดสารพิษจำนวน 2 แปลง ผลผลิตส่วนใหญ่นำออกขายภายในชุมชน ตลาดนัดประชารัฐทุกตำบล ตลาดนัดหน้าอำเภอ และส่งเข้าห้าง TOP ซุปเปอร์มาร์เก็ต จังหวัดร้อยเอ็ด สมาชิกในกลุ่มมีรายได้เฉลี่ยวันละประมาณ 2-3 พันบาท'

ส่วนโครงการโคกหนองนาโมเดลมีเกษตรกรเข้าร่วม 172 ราย โดยร้อยละ 80 มีความคุ้มค่า แต่มีปัญหาพื้นฐานคือ”ไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่”เพื่อใช้ในการเกษตรช่วงฤดูแล้ง

เกษตรกรในพื้นที่ได้รับการสนับสนุนหลายอย่างจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น มีรถไถพร้อมอุปกรณ์ต่อพ่วงจำนวน 2 คัน จาก ส.ป.ก. นอกจากนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดยังเข้ามาสนับสนุนการปลูกมะระขี้นก เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์

พื้นที่ตำบลแคนใหญ่เป็นพื้นที่รับน้ำ แต่น้ำไม่ท่วมขัง มีลำห้วยสำคัญ 2 ลำห้วย ส่วนน้ำที่ใช้ในการเกษตรเป็นน้ำบาดาล ที่เจาะลึกลงไปประมาณ 40 เมตร โดยมีบ่อบาดาลที่ใช้โซล่าเซลล์ในการสูบน้ำที่มีถังพักน้ำ 9 จุด ใน 11 หมู่บ้าน โดยมีระบบท่อกระจายน้ำทั้ง 9 จุดรวมเป็นระยะทางประมาณ 1,300 เมตร ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำของเกษตรกรในพื้นที่ จึงมีความต้องการให้มีการ”ขยายเขตไฟฟ้าเพื่อการเกษตร” จำนวน 25 จุด “เพื่อใช้ไฟฟ้าสูบน้ำทำการเกษตร” นายสุริยัน กล่าว


นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ เสนอแนะว่า “การใช้ไฟฟ้าสูบน้ำจะมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก และต้นทุนสูงขึ้นจนไม่คุ้มค่า “โดยยกตัวอย่างทุ่งชมพูโมเดล อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีการเจาะบ่อบาดาลน้ำตื้นและสูบน้ำด้วยโซล่าเซลล์ โดยใช้ระบบน้ำหยดในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ที่สามารถขายผลผลิตและมีรายได้ดีทุกวัน โดยเมื่อเดือนมกราคม 2563 คณะกรรมาธิการฯได้ลงพื้นที่ทุ่งชมพู ได้รับทราบว่าเกษตรกรมีรายได้จากการขายผลผลิตวันละ 2 - 3 พันบาท และลงพื้นที่ทุ่งชมพูอีกครั้งในต้นปี 2565 ปรากฏว่าเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 - 5 พันบาทต่อวัน ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 5-7 พันบาทต่อวัน ในขณะที่ทำทุกอย่างเท่าเดิม แต่มีการจดสถิติว่าช่วงใดพืชผลใดมีราคาสูงที่สุด เกษตรกรก็จะปลูกพืชผักเหล่านั้น ทำให้ได้ราคาดีและมีรายได้เพิ่มขึ้น เรื่องการขอไฟฟ้าเพื่อใช้ในการเกษตรอาจจะต้องใช้ระยะเวลายาวนานและไม่คุ้มค่ากับต้นทุนการผลิต 

นายสังศิตเสนอให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรที่ "ไม่ใช้สารเคมีเด็ดขาด" เพื่อสุขภาพของตัวเอง ของผู้บริโภค และเพื่อผลประโยชน์สุของสังคม โดยใช้เงินกู้ของ ธกส. ลงทุนทำโซล่าร์เซลล์ และใช้ระบบน้ำหยดเพื่อเพิ่มผลผลิต และราคาผลผลิต โดยการส่งเข้าห้างสมัยใหม่ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรเห็นด้วยจึงได้ตกลงกันว่าจะเชิญ ธกส. มาหารือกันในวันรุ่งขึ้นเพื่อนำเสนอเงินกู้ดอกเบี้ยราคาถูก ( 0.01 เปอร์เซ็นต์ต่อปี )

ด้านนางสัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ ประธานมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ ในฐานะอนุกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ กล่าวเสริมว่า 'จะเข้ามาส่งเสริม และให้องค์ความรู้เกี่ยวกับ การทำการเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมีตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์วิถีไทย ซึ่งมีเงื่อนไขในการปฏิบัติที่ไม่ยุ่งยาก พร้อมทั้งการส่งเสริมและให้ความรู้ด้านการตลาดอีกด้วย'

วันต่อมา (2 มี.ค.) นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ และคณะ เดินทางกลับมาที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผัก อีกครั้งหนึ่ง โดยมีนายเจริญ สิทธิประภากูล รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด และนายประพันธ์ ศรีจันทร์ รองผู้อำนวยการ ธกส.จังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย

นายประพันธ์ กล่าวว่า 'ทาง ธกส. ยินดีที่จะสนับสนุนเงินกู้แก่เกษตรกรเพื่อทำบ่อบาดาลน้ำตื้นสูบน้ำด้วยโซล่าเซลล์ ทั้งที่กู้เป็นรายกลุ่มและรายบุคคล โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยนั้น เกษตรกรผู้กู้เสียดอกเบี้ยเพียงล้านละ 100 บาทต่อปี (ดอกเบี้ยเท่ากับ 0.01 เปอร์เซนต์ต่อปี) โดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยสมทบร้อยละ 3.5 ต่อปี โดยในสัปดาห์หน้าทาง ธกส. จะลงพื้นที่เพื่อพูดคุยในรายละเอียดกับพี่น้องเกษตรกรต่อไป'

นายสุภัทรดิศ ราชธา อนุกรรมาธิการด้านคุณภาพชีวิตได้ประมาณการค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบสูบน้ำโซล่าเซลล์ 3 แผ่น 750-1,100 วัตต์ โดยมีถังพักน้ำขนาด 2000 ลิตร 4 ถัง ที่ตั้งอยู่บนฐานสูงไม่เกิน 1.7 เมตร โดยมีปั๊มสูบน้ำ 1,100 วัตต์ รวมทั้งระบบท่อในการกระจายน้ำเข้าสู่แปลงเกษตร อุปกรณ์ทั้งหมด น่าจะอยู่ในวงเงินไม่เกิน 40,000 บาท และยินดีที่จะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมด

นอกจากนั้น เกษตรกรยังได้ขอให้ทาง อบจ. สนับสนุนเรื่องการขุดบ่อน้ำบาดาลจำนวน 33 จุดในพื้นที่ตำบลแคนใหญ่ ซึ่งรองนายก อบจ. ได้ตอบรับ ว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเพราะ อบจ. ให้การสนับสนุนเรื่องการทำแหล่งน้ำให้แก่ทุก อปท. อยู่แล้วและรับจะไปดำเนินการให้ตามขั้นตอนต่อไป

ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวเชิญชวนให้พี่น้องเกษตรกรเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ทุ่งชมพูอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ในวันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม 2566 ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ จะลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำเรื่องการตลาดแก่เกษตรกรทุ่งชมพู เป็นเรื่องน่าดีใจว่ามีเกษตรกรที่สนใจจะร่วมเดินทางไป ศึกษา เรียนรู้ประสบการณ์ การทำการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีเด็ดขาดที่ทุ่งชมพูเป็นจำนวนมากด้วย ผมคิดว่าการให้เกษตรกร ที่บ้านหนองบัวห้าว ได้พบกับเกษตรกรที่ทุ่งชมพูเพื่อไปดู ไปเห็น ไปคุย และไปถามน่าจะเป็นกระบวนการเรียนรู้ ที่เป็นธรรมชาติที่สุด

การได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นกับพี่น้องเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผัก หมู่ที่7 บ้านหนองบัวห้าว นับเป็นโอกาสที่ดี ที่ คณะกรรมาธิการ ฯจะมีส่วนช่วย เสนอแนะเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรกลุ่มนี้ให้ดีขึ้นกว่าเดิม ผมพบว่าพี่น้องเกษตรกร ตื่นตัวขึ้นและเห็นพิษภัยของการใช้สารเคมีในการทำการเกษตรว่าเป็นต้นเหตุของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่นโรคมะเร็งที่คนไทยตายด้วยโรคนี้มากที่สุดในขณะนี้ พี่น้องได้เข้าใจแล้วว่าแม้กระทั่งการทำการเกษตรมาตรฐานGAP ของทางราชการนั้น ก็มิได้ปลอดภัยจริง และมิได้ช่วยให้ชีวิตของพี่น้องเกษตรกรดีขึ้นแต่อย่างใด การเลือกทำการเกษตรที่ปลอดจากการใช้สารเคมีเด็ดขาดเท่านั้น ที่คุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรจึงจะดีขึ้นจริง และยังเป็นการช่วยเหลือประเทศอีกทางหนึ่งด้วย


ที่ผมเสนอแนะให้พี่น้องเกษตรกรกู้เงินจากธกส. เพื่อมาทำการเกษตรผสมผสานและไม่ใช้สารเคมีเด็ดขาดด้วยเหตุผล ดังนี้

ประการแรก การทำการเกษตรแบบผสมผสานโดยไม่ใช้สารเคมีเด็ดขาดช่วยให้พี่น้องเกษตรกรมีสุขภาพดีขึ้นและสุขภาพของผู้บริโภคได้รับประโยชน์ด้วย

ประการที่สอง การปรับเปลี่ยนแบบแผนการทำเกษตรที่นี่ เป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เป็นการยกระดับคุณภาพของการทำการเกษตรให้มีความปราณีตมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือมีตลาดที่เป็นห้างสมัยใหม่รองรับ ในราคาที่สูงกว่าราคาในท้องถิ่นหลายเท่า ซึ่งน่าจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรดีขึ้นได้ภายในเวลาเพียงปีเดียว

ประการที่สาม การรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรที่นี่มีความเข้มแข็ง ผมพบว่าการรวมตัว โดยมีการมีส่วนร่วมของสมาชิกสูง ผมจึงมีความมั่นใจว่าการเดินไปข้างหน้าของเกษตรกรกลุ่มนี้จะมีลักษณะเป็นหมู่คณะ มิใช่เป็นการนำเดี่ยว

ประการที่สี่ พี่น้องเกษตรกรมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวให้สูงขึ้น

ประการที่ห้า เกษตรกรกลุ่มนี้มีพื้นฐานที่ดี เพราะมีเกษตรกรหนึ่งรายที่เห็นพิษภัยของการใช้สารเคมี จึงได้เลิกใช้สารเคมีในการทำการเกษตรเด็ดขาด นอกจากนี้ยังมีเกษตรกร อีก 26รายที่ ปลูกผักจนได้มาตรฐาน GAP ดังนั้นการต่อยอดให้เป็นเกษตรที่ไม่ใช้เคมีเด็ดขาดจึงอยู่ในวิสัยที่ทำได้ และ

ประการสุดท้าย เงินกู้ธกส. ในโครงการนี้รัฐบาลเป็นผู้จ่ายเงินอุดหนุน (subsidy) ดอกเบี้ยร้อยละ 3.5 ต่อปีให้แก่เกษตรกรผู้กู้ ดังนั้นในทางปฏิบัติสำหรับเกษตรกรแล้วเงินกู้จำนวนนี้ จึงถือได้ว่าไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยแต่อย่างใด

"ผมหวังว่าในอนาคต พื้นที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรที่ไม่ใช่สารเคมีเด็ดขาดที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดร้อยเอ็ดได้ ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นการพึ่งตัวเอง โดยใช้ศักยภาพภายในของกลุ่มเกษตรกร"


กำลังโหลดความคิดเห็น