xs
xsm
sm
md
lg

‘ลุงหมู สาลิกา’ เผยวิถีสร้างเผ่าพันธุ์ นกปลูกป่าเขาใหญ่ที่คนควรเรียนรู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





เพจเฟซบุ๊ค บดินทร์ จันทศรีคำ หรือ ลุงหมู สาลิกา ผู้ก่อตั้งชมรมคนรักสัตว์-ป่า และผู้ก่อตั้งทีมอาสาช่วยเหลือสัตว์ป่า อช.เขาใหญ่ โชว์คลิปภาพนกกกเขาใหญ่ แสดงความรักและการเริ่มต้นสร้างครอบครัวที่แสนอบอุ่นอีกปี

“ในฤดูกาลผสมพันธุ์และต้องหาโพรงรังเลี้ยงลูฏ อยากเชิญชวนทุกคนทำความเข้าใจธรรมชาติ ระบบนิเวศ การอนุรักษ์ป่า และสัตว์ป่าที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตมนุษย์โลก อย่างการดำรงอยู่ของนกเงือก โดยนกกกเป็น 1 ใน 13 สายพันธุ์ที่มีอยู๋ในประเทศไทย”

ลุงหมู บอกว่า ได้คลิปภาพนกกกเขาใหญ่กำลังแสดงความรักและเริ่มต้นสร้างครอบครัวเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งไม่ใช่เพียงเพื่อขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนให้กับสายพันธุ์ของมันเองเท่านั้น มันกลับเผื่อแผ่ความรักของมันให้กับป่า ให้กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวของมัน ซึ่งมนุษย์เราก็ได้รับประโยชน์จากความรักครั้งนี้ในทางอ้อมเป็นความสมบูรณ์ของระบบนิเวศนะครับ

“ชีวิตรักของนกเงือกเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และเป็นการแสดงออกของความรักที่แท้จริง ที่สรรพสิ่งสร้างสรรค์ได้สะท้อนให้เราเห็นถึงวิถีแห่งการดำรงอยู่ของความรักที่แท้จริงและยิ่งใหญ่”

นกกกหากินตามเรือนยอดไม้ มักชอบอยู่เป็นคู่ บางครั้งนอกฤดูผสมพันธุ์อาจรวมฝูงถึง 150 ตัว นอนอยู่ตามต้นไม้ในหุบเขา แต่บางครั้ง ก็ลงมาหากินบนพื้นดิน เสียงร้องดัง กก กก กก กาฮังๆๆๆ หรือ กะวะ ๆๆ จนมาเป็นที่มาของชื่อ นกกกมักพบอยู่ในป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง หรือป่าเบญจพรรณ ส่วนใหญ่ชอบอยู่บนป่าที่ราบ ระดับความสูงต่ำ 1000 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ก็อาจพบตามภูเขาสูงถึง 2000 เมตร เช่นทางภาคเหนือของไทย ปัจจุบันนกกสูญพันธุ์ไปแล้วจากทางภาคเหนือเพราะว่าถูกล่าและที่อยู่อาศัยถูกโค่นถางเพื่อทำไร่เลื่อนลอย

นกกก ชอบผลไม้ป่าต่างๆ โดยเฉพาะลูกไทร ยางโอน พิพวน ตาเสือใหญ่ ตาเสือ ฯลฯ นั่นเป็นสาเหตุของการเรียกพวกมันว่า “นกปลูกป่า” และผลไม้ที่เลือกกินมักเป็นผลสุก ดังนั้นเมล็ดพันธุ์ที่เหลือและทิ้งลงมาบนพื้นจึงเหมาะต่อการงอกเติบโต นอกจากนี้พวกมันยังกิน งู หนู นก แมลง ฯลฯ

มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ให้ข้อมูลว่าฤดูกาลนี้อยู่ในช่วงการทำรังและเลี้ยงลูก นกกก ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตัวเมียจะปิดรังในเดือนมกราคม ลูกนกออกจากโพรงราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน นั่นหมายความว่านกกกคู่นี้ เข้ารังล่าช้า

แต่ทางแถบเทือกเขาบูโด (นราธิวาส) ตัวเมียปิดโพรงเดือนมีนาคม ลูกนกออกจากโพรงเดือนกรกฏาคม ต้นไม้ที่ใช้เป็นโพรงรัง ส่วนใหญ่ได้แก่ ต้นยาง (Dipterocarpaceae) และหว้า ตัวเมียกกไข่อยู่ในโพรงจนลูกนกฝักออกจากไข่ เมื่อลูกนกอายุราว 1-1.5 เดือน แล้วตัวเมียจะกระเทาะปากโพรงออกมาช่วยตัวผู้เลี้ยงลูก ลูกนกจะปิดปากโพรงเสียใหม่นกกกเลี้ยงลูกเพียงตัวเดียวเท่านั้น พฤติกรรมการเลี้ยงลูกเป็นแบบ พ่อ-แม่ช่วยกันเลี้ยง


ลุงหมู สาลิกา ชวนให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์สัตว์ป่าได้ เพียงลงมือทำดังนี้


1. ยุติการให้อาหารสัตว์ป่า การให้อาหารสัตว์ป่า ไม่ใช่การทำบุญนะครับ แต่เป็นการทำร้ายชีวิตสัตว์ป่าทางอ้อมเพราะจะทำให้สัตว์ป่าคุ้นชินกับรสชาติของผลไม้หรืออาหารที่คนเอาไปให้

“แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือ เกิดความคุ้นเคยกับคนที่นำอาหารมาล่อจนลดสัญชาตญาณระแวงไพร ทำให้สัตว์ป่าถูกล่าง่ายขึ้นครับ”

2. ยุติการกินอาหารป่า ชาวบ้านป่าในยุคเก่าต้องพึ่งพาเนื้อสัตว์ป่าเป็นแหล่งอาหารโปรตีนเพราะไม่มีทางเลือกอื่น แต่ทุกวันนี้ เนื้อสัตว์รวมทั้งปลา เป็นอาหารที่หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก การล่าสัตว์ในทุกวันนี้จึงไม่ใช่เพื่อการยังชีพแต่เพื่อป้อนเข้าตลาดการค้าเนื้อสัตว์ป่า

“การค้าเนื้อสัตว์ป่า ลูกค้าคือคนเมือง ไม่ใช่คนในป่า อีกทั้งเนื้อสัตว์ป่าอุดมด้วยพยาธิ เชื้อโรคต่างๆ การระบาดของโรคซาร์สเมื่อหลายปีก่อน คาดว่าเกิดจากการกินเนื้ออีเห็นที่ปรุงสุกไม่พอในประเทศจีน”

3. ยุติการล่าสัตว์ป่า สัตว์ป่าทุกชนิดถูกกำหนดมาให้มีหน้าที่ในระบบนิเวศ การล่าสัตว์ป่าเป็นการทำลายโอกาสที่จะสืบทอดสายพันธุ์หรือทำลายโอกาสการแพร่กระจายพันธุ์ไม้ใหญ่ยืนต้นที่สำคัญ

“ช้างตัวหนึ่งที่ถูกยิงล้มเพื่อเอางา อาจหมายถึงการลดโอกาสแพร่สายพันธุ์ที่ดี จนในที่สุดอาจไม่เหลือนักกรุยทางและนักปลูกต้นไม้ที่ช่วยพยุงระบบนิเวศและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ป่าไม้ เช่นเดียวกับนกกกคู่นี้”

4. ยุติการนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง สัตว์ป่าควรอยู่ในป่า สัตว์ป่าที่ถูกนำมาขายในตลาดค้าสัตว์เลี้ยง ส่วนใหญ่ผ่านประสบการณ์ที่โหดร้ายจากการพรากพ่อพรากแม่ด้วยการล่าหรือขโมยจับลูกสัตว์ป่าจากรัง

“เมื่อนำมาขาย สัตว์ป่าบางชนิดมีอาการตกใจกลัว บางชนิดตื่นกลัวไม่ให้เข้าใกล้ ทุกตัวมักมีความเครียดสะสมอยู่ทั้งสิ้น การซื้อหาสัตว์ป่าเหล่านี้ไม่ใช่การแสดงความรักที่ถูกต้องแต่เป็นการเพิ่มปริมาณความต้องการในตลาดค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายอีกด้วยครับ”


กำลังโหลดความคิดเห็น