xs
xsm
sm
md
lg

ศศินทร์ เปิดตัวนโยบาย IDEALS - ศูนย์วิจัย NWRC แห่งแรกในอาเซียน สนับสนุนความหลากหลาย - การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin School of Management) มีความภูมิใจที่จะได้เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกในประเทศไทย ที่ประกาศใช้นโยบายสนับสนุนความหลากหลาย การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม และความเสมอภาค หรือ IDEALS (Inclusion, Diversity, Equity, and Access to Learning at Sasin)

ในการนี้ ศศินทร์ ร่วมกับ Steps องค์กรที่ปรึกษาด้านการเตรียมความพร้อมในการเข้าทำงานให้กับผู้มีความแตกต่างทางการรับรู้ เปิดตัว Neurodiversity at Work Research Centre (NWRC) ศูนย์วิจัยแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยบุคคลที่มีความแตกต่างทางการรับรู้ได้มีโอกาสเข้าถึงการทำงาน

“ที่ศศินทร์ เราเชื่อว่าความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ความเป็นเลิศด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่การสร้างวัฒนธรรมที่สนับสนุนความหลากหลาย การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม และการเชื่อมโยงระหว่างกัน นโยบาย IDEALS แสดงถึงความมุ่งมั่นในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ยอมรับความแตกต่างและการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคม” ศ.ดร.เอียน เฟนวิค ผู้อำนวยการศศินทร์ กล่าว

ผศ.ดร.Drew B. Mallory ผู้อำนวยการ NWRC และ Inclusion Ambassador ของศศินทร์ กล่าวถึงความมุ่งมั่นของศศินทร์ในการชูนโยบายสนับสนุนความหลากหลาย การมีส่วนร่วมและความเสมอภาค หรือ IDEALS รวมถึงการก่อตั้งศูนย์ NWRC

“IDEALS” เกิดจากความตั้งใจของศศินทร์ที่จะสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมให้มากขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียน ในการทำธุรกิจ และในชุมชน” ผศ.ดร. Drew B. Mallory กล่าว

“ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกชี้ให้เห็นว่าประมาณ 15% ของจำนวนประชากรโลก หรือประมาณ 1 พันล้านคน เป็นบุคคลที่มีความพิการในแบบใดแบบหนึ่ง รวมถึงกลุ่มออทิสติก ดาวน์ซินโดรม และผู้ที่มีความแตกต่างทางการรับรู้แบบอื่นๆ สำหรับในประเทศไทย บุคคลที่มีความแตกต่างทางการรับรู้มักมีปัญหาในการหางานแม้ว่าพวกเขาจะมีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ศูนย์ NWRC จึงต้องการเพิ่มโอกาสในการเข้าทำงาน และเพิ่มการมีส่วนร่วมให้กับบุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัติ”

ผู้อำนวยการ NWRC กล่าวเพิ่มเติมถึง วัตถุประสงค์ของการร่วมมือในครั้งนี้ว่า เนื่องจากประเทศไทยไม่มีงานวิจัยในเรื่องนี้ และแม้จะมีกฎหมายของไทยระบุให้บริษัทต้องรับผู้แตกต่างเข้าทำงานตามอัตราส่วนที่กำหนด แต่บริษัทไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก จึงต้องการกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ หันมาเห็นความสำคัญในเรื่องนี้และจ้างงานผู้แตกต่างที่มีความสามารถ นอกจากนี้ ยังต้องการช่วยผู้แตกต่างเหล่านี้ได้มีโอกาสมากขึ้น ด้วยการฝึกอบรมให้มีความสามารถมากขึ้นและหางานที่เหมาะสม โดยเชื่อมั่นว่า Steps จะช่วยพัฒนาคนเหล่านี้ได้ดีจากประสบการณ์ที่ทำมาถึง 10 ปีแล้ว และเป็นผู้นำมาตลอด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้งการพัฒนาศักยภาพและการมีงานทำของคนเหล่านี้ จึงยังต้องการพันธมิตรอีกหลายส่วนเพื่อมาร่วมกันขับเคลื่อน เช่น องค์กรหรือธุรกิจรายใหญ่ และสถาบันการศึกษา เป็นต้น ส่วนงานวิจัยที่จะเกิดขึ้นจะเป็นการสัมภาษณ์ครอบครัวคนไทยถึงประสบการณ์การหางานของคนเหล่านี้เพื่อจะได้รู้ถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขหรือทางออก


ทั้งนี้ ศศินทร์จะให้การสนับสนุนด้านงานวิจัยและให้คำปรึกษาแก่ศูนย์ NWRC โดยทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจาก Steps “จากประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาด้าน inclusivity (การไม่แบ่งแยก) ให้กับธุรกิจต่างๆ เราเห็นว่าศูนย์ NWRC นี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับภาคเอกชน สังคม และที่สำคัญที่สุดกับผู้ที่มีความหลากหลายทางการรับรู้ที่มักถูกสังคมกีดกันในการเข้าทำงาน” Max Simpson - Founder & CEO ของ Steps กล่าว

ด้าน กนกวรรณ โชว์ศรี ผู้อำนวยการ โครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศไทย ที่เน้นสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคสังคมต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งอยู่ภายใต้มูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าวถึงการสร้างบรรยากาศของสังคมและที่ทำงานในแบบที่เรียกว่า Inclusive คือการไม่แบ่งแยก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความหลากหลายด้านการรับรู้ให้อยู่ร่วมกับผู้คนในสังคมได้ว่า สำหรับโครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศมีความตั้งใจและต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ ด้วยการช่วยเชื่อมโยงผู้ที่สนใจประเด็นในด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาคีเครือข่ายที่เป็นพันธมิตรกันอยู่ รวมทั้งหน่วยงานภาคเอกชนหรือสังคมต่างๆ ที่อยากจะมีส่วนเข้ามาร่วมพัฒนาทั้งงานวิจัยหรือกลไกต่างๆเพื่อพัฒนาสังคม ด้วยการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาสนับสนุน

“ในฐานะหนึ่งในหน่วยงานเพื่อสังคม และได้มาร่วมรับรู้ในครั้งนี้ คิดว่าเมื่อมีโอกาสจะช่วยเชื่อมโยงผู้ที่สนใจให้เข้ามาช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ นอกจากนี้ ยังเห็นว่างานวิจัยของศศินทร์เมื่อได้ผลงานวิจัยออกมาจะเป็นไกด์ไลน์ หรือแนวทางให้องค์กรเอกชนต่างๆ ได้เล็งเห็นว่า การสร้างบรรยากาศหรือสังคมร่วม ไม่ใช่เรื่องยาก หากมีความเข้าใจและรู้ว่าจะทำอย่างไร จึงเห็นว่าการทำวิจัยและไกด์ไลน์มีความสำคัญ รวมถึง อาจจะพบส่วนที่ต้องนำมาเพิ่มเติมอีก หรือในอนาคตอาจจะก้าวไปถึงการออกนโยบายของภาครัฐก็เป็นได้ เชื่อว่าผลงานวิจัยที่จะได้มาจะเป็นองค์ความรู้ที่เปิดให้คนทั่วไปรู้ว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ได้อย่างไร เพราะเราคงไม่ต้องการสังคมที่แบ่งแยก”

เกี่ยวกับ “สเตปส์” คือทีมผู้เชี่ยวชาญ นักบำบัด และผู้ฝึก (เทรนนี) จัดทำโปรแกรมการศึกษาที่ได้รับรางวัลแก่เยาวชนที่มีความหลากหลายด้านการรับรู้ และยังดำเนินธุรกิจแบบไม่แบ่งแยก เช่น ธุรกิจร้านกาแฟ และการให้คำ ปรึกษา เพื่อช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถสร้างความหลากหลายในการจ้างงานยิ่งขึ้น

สำหรับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ Sasin School of Management เป็นสถาบันสอนบริหารธุรกิจหลักสูตรนานาชาติแห่งแรกของประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้นในภายใต้ความร่วมมือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Kellogg School of Management และ The Wharton School โดย “ศศินทร์”ให้ความสำคัญกับความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) และความยั่งยืน (Sustainability) และวางเป้าหมายของสถาบันในการสร้างแรงบันดาลใจ (inspire) เชื่อมต่อ (connect) และเปลี่ยนแปลง (transform) เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้น ฉลาดขึ้น และยั่งยืนขึ้น (for a better, smarter, sustainable world)

“ศศินทร์” สร้างผู้บริหารที่จะสร้างอิมแพคเชิงบวกให้กับโลกนี้ได้อย่างยั่งยืน และเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่ประกาศใช้นโยบายสนับสนุนความหลากหลาย การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม และความเสมอภาค หรือ IDEALS (Inclusion,Diversity, Equity, and Access to Learning at Sasin)


กำลังโหลดความคิดเห็น