xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวสำคัญ!! สมาชิกยูเอ็นกว่า 100 ชาติ บรรลุข้อตกลงคุ้มครอง"ทะเลหลวง"ภายในปี 2030 ปกป้อง"ความหลากหลายทางชีวภาพ" หลังหารือกว่า 15 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ก้าวสำคัญ!! UN บรรลุข้อตกลงสนธิสัญญาคุ้มครอง"ทะเลหลวง" จะมีผลผูกพันทางกฎหมาย เพื่อปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล หลังหารือนานกว่า 15 ปี "อันโตนิโอ กูเตอร์เรส" เลขาธิการยูเอ็น ระบุช่วยต่อต้านการทำลายมหาสมุทร และเพื่อคนรุ่นต่อไป

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่าสมาชิกองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น กว่า 100 ประเทศ บรรลุ "ข้อตกลงในสนธิสัญญาทะเลหลวง" ที่จะทำให้พื้นที่ทางทะเลของโลกราวร้อยละ 30 อยู่ภายใต้การคุ้มครองภายในปี พ.ศ.2573 (ค.ศ.2030) เพื่อปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล หลังดำเนินการหารือเกี่ยวกับสนธิสัญญาดังกล่าวมานานกว่า 15 ปี

ภายใต้ข้อตกลงสนธิสัญญาทะเลหลวง จะมีการจำกัดเส้นทางเดินเรือ การทำประมง และกิจกรรมการสำรวจทางทะเล ในทะเลหลวง ขณะที่ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็น ระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าว เป็นชัยชนะของการดำเนินการตามกรอบความร่วมมือพหุภาคี และความพยายามระดับโลก ในการต่อต้านการทำลายมหาสมุทร และยังเป็นการทำเพื่อคนรุ่นต่อไป

“ผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่ประเทศต่างๆ ได้เห็นชอบกับสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมายของสหประชาชาติ เพื่อรับประกันการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในพื้นที่ที่อยู่นอกเขตอำนาจศาลของแต่ละประเทศ นี่เป็นก้าวสำคัญในการปกป้องมหาสมุทรของเรา”นายกูเตอร์เรส ระบุในแถลงการณ์


ทั้งนี้ ทะเลหลวงเริ่มต้นที่พรมแดนของเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศต่างๆ และตกอยู่ภายใต้เขตอำนาจของประเทศใดประเทศหนึ่ง แม้ว่าทะเลหลวงจะประกอบด้วยมหาสมุทรมากกว่า 60% ของโลกและเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นผิวโลก แต่ก็ได้รับความสนใจน้อยกว่าน่านน้ำชายฝั่งและสปีชีส์ที่มีชื่อเสียงเพียงไม่กี่ชนิด ระบบนิเวศในมหาสมุทรสร้างออกซิเจนครึ่งหนึ่งที่มนุษย์ใช้ในการหายใจ และจำกัดภาวะโลกร้อนด้วยการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีเพียงประมาณ 1% ของทะเลหลวงเท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครอง

สนธิสัญญาฉบับใหม่ เมื่อได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ลงนาม และให้สัตยาบันโดยประเทศต่างๆ เพียงพอแล้ว จะอนุญาตให้มีการสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในน่านน้ำสากลเหล่านี้ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ประเทศต่างๆ ดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของกิจกรรมที่เสนอในทะเลหลวงอีกด้วย

ในระหว่างการพูดคุย มีความตึงเครียดเกิดขึ้นในหัวข้อการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลที่มีการค้นพบใหม่ในน่านน้ำสากล โดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากังวลว่าตนจะพลาดการหาประโยชน์ทางการค้าจากทรัพยากรเหล่านี้หากตนถูกกีดกันออกจากข้อตกลง แต่ในที่สุด ประเทศต่างๆ ก็ตกลงกันในประเด็นดังกล่าวได้ที่นิวยอร์กเมื่อ 4 มี.ค. ซึ่งพ้นกำหนดเวลาการเจรจาเดิมไปหนึ่งวัน

เช่นเดียวกับการอภิปรายเรื่องภาวะโลกรวนในฟอรัมระหว่างประเทศอื่นๆ การถกเถียงเกี่ยวกับสนธิสัญญาทะเลหลวงก็มุ่งเน้นไปที่เรื่องการรับรองความเสมอภาคระหว่างกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยทางซีกโลกเหนือและกลุ่มประเทศที่ยากจนทางซีกโลกใต้ เพื่อเป็นการสร้างความไว้วางใจระหว่างสองกลุ่มประเทศนี้ สหภาพยุโรป (EU) จึงให้คำมั่นว่าจะให้เงิน 40 ล้านยูโร (42 ล้านดอลลาร์) เพื่อช่วยสนับสนุนการให้สัตยาบันในสนธิสัญญาและช่วยให้เกิดการปฏิบัติตามสนธิสัญญาในช่วงแรก

ข้อตกลงในสนธิสัญญาทะเลหลวงครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ และเมื่อได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการแล้ว จะช่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในมหาสมุทรอย่างยั่งยืนเพื่อคนรุ่นต่อไปในอนาคต

เว็บไซต์คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอธิบายว่า "ทะเลหลวง" หมายถึง ทุกส่วนของทะเลซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zone) ในทะเลอาณาเขต (territorial sea) หรือในน่านน้ำภายใน (internal waters) ของรัฐ หรือในน่านน้ำหมู่เกาะ (archipelagic waters) ของรัฐหมู่เกาะ (อนุสัญญาฯ ข้อ 86) 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ห้วงน้ำ (water column) และผิวน้ำเหนือไหล่ทวีปที่อยู่นอกเขตเศรษฐกิจจำเพาะยังคงเป็นเขตทะเลหลวง ถึงแม้ไหล่ทวีปและทรัพยากรบนไหล่ทวีปจะตกอยู่ภายใต้สิทธิอธิปไตย (sovereign rights) ของรัฐชายฝั่งก็ตาม ทะเลหลวงเปิดให้แก่รัฐทั้งปวง ไม่ว่ารัฐชายฝั่ง (coastal states) หรือรัฐไร้ฝั่งทะเล (landlocked states) 

เสรีภาพแห่งทะเลหลวงใช้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้โดยอนุสัญญาฯ และหลักเกณฑ์อื่นๆ ของกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น เสรีภาพในการเดินเรือ (freedom of navigation) เสรีภาพในการบิน (freedom of overflight) เสรีภาพในการทำประมง (freedom of fishing) โดยหน้าที่ประการสำคัญของรัฐต่างๆ ที่ทำการประมงในทะเลหลวง คือ ต้องร่วมมือกันเพื่อกำหนดมาตรการในการอนุรักษ์ และจัดการทรัพยากรที่มีชีวิตในท้องทะเล

ที่มา - กรีนพีซ
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
สำนักข่าวเอเอฟพี
สำนักข่าวอินโฟเควสท์


กำลังโหลดความคิดเห็น