● โครงการ Plastic Waste to Value Southeast Asia Challengeได้สนับสนุน 5 โซลูชันที่เน้นการรีไซเคิลและอั
● พร้อมมอบเงินทุนเพื่อนำไปใช้เพิ่
โครงการ Plastic Waste to Value Southeast Asia Challenge ประสบความสำเร็จแล้วหลังจากที่ได้ดำเนินการขยายโซลูชันที่เน้นสร้างผลกระทบเชิงบวกจากการรีไซเคิลและการนำพลาสติกที่ใช้แล้วมาแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (อัพไซเคิล) ที่ครอบคลุม 5 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา
พร้อมอัดฉีดเงินทุนสนับสนุนรวม 72,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือมากกว่า 2.5 ล้านบาท เพื่อมอบให้ผู้เข้าร่วมโครงการนำไปใช้เพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานและปรับปรุงสภาพการทำงาน อันจะนำไปสู่ประสิทธิภาพการจัดการ การแปรรูป และการรีไซเคิลขยะพลาสติกในปริมาณที่มากขึ้นได้
นายนาโน โมแรนท์ ผู้ก่อตั้ง Plastic People กล่าวว่า “เงินทุนสนับสนุนที่ได้รับจากโครงการทำให้เราสามารถจ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำหน้าที่วิเคราะห์และประเมินการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ นำเสนอวิธีการปรับปรุงกระบวนการทำงานของเรา ทั้งยังเอื้อให้เราสามารถจ้างบุคลากรมาดูแลแผนธุรกิจและโครงการขยายตัวต่างๆ อีกด้วย นอกจากนี้เรายังใช้เงินสนับสนุนดังกล่าวในการบำรุงรักษาเครื่องจักร และซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อปลดล็อกปัญหาคอขวดต่างๆ ในการปฏิบัติงาน รวมทั้งว่าจ้างบุคลากรเพิ่มเติมเพื่อการขยายตัวของเราต่อไป”
ด้านนางเฟย์ เฟปบรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Bank Sampah Bersinar กล่าวว่า “เงินสนับสนุนจากโครงการนี้จะนำไปลงทุนซื้อรถบรรทุกเพื่อเก็บขยะคันใหม่ โดยจะช่วยให้เราสามารถรวบรวมขยะจากพันธมิตรธนาคารขยะประจำหน่วยของเราได้มากขึ้น”
โครงการดังกล่าวนำโดย The Incubation Network ร่วมกับ the Global Plastic Action Partnership, UpLink by the World Economic Forum และ Alliance to End Plastic Waste ซึ่งให้การสนับสนุนการพัฒนาที่เหมาะสมกับผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคาร Bank Sampah Bersinar (อินโดนีเซีย) Envirotech (ฟิลิปปินส์) Kibumi (อินโดนีเซีย) Plastic People (เวียดนาม) และมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล (ประเทศไทย)
๐ การสนับสนุนเพื่อการขยายตัวทางธุรกิจที่ออกแบบขึ้นเฉพาะราย
ผู้เข้าร่วมโครงการล้วนได้รับสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรและการสนับสนุนมากมายตลอดโครงการ อาทิ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด และโอกาสในการสร้างเครือข่ายพันธมิตร ผู้เข้าร่วมโครงการยังได้เข้าร่วมการอบรมที่เน้นการจัดการขยะและการรีไซเคิล การตลาด และอื่นๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปรับขยายขนาดธุรกิจ โดยข้อมูลเชิงลึกและคำแนะนำที่ได้รับจากการอบรมต่าง ๆ ที่ผ่านมาได้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำไปปรับกลยุทธ์การตลาดให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ รวมทั้งพัฒนาความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของตลาดที่หลากหลายอีกด้วย
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ 9 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้นำทางธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ โดยให้คำแนะนำและทิศทางที่เฉพาะเจาะจงเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายการเติบโต “โครงการที่ออกแบบมาเฉพาะนี้ได้แนะนำให้เรารู้จักกับผู้เชี่ยวชาญที่สามารถสนับสนุนความต้องการที่เฉพาะของเรา ผู้เชี่ยวชาญกับเราได้ทำงานเชื่อมโยงสอดคล้องกันเป็นอย่างดี ผลลัพธ์ของการเรียนรู้ผ่านการได้รับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิดนำไปสู่การพัฒนากลยุทธ์การตลาดและแคมเปญของเรา” นายเจมส์ สกอทท์ กรรมการบริหารมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล (ประเทศไทย) กล่าว
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้สำเร็จลุล่วงเป็นที่เรียบร้อยแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พร้อมกับการนำเสนอผลการปฏิบัติงานต่อ Uplink Global Plastic Action Partnership และ Alliance to End Plastic Waste ผ่านการประชุมแบบออนไลน์ โดยผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดได้รายงานผลการเติบโตและการพัฒนา การนำเสนอผลงานที่ผ่านมายังส่งเสริมการสร้างเครือข่ายพันธมิตรอีกด้วย นับเป็นการสร้างโอกาสที่ดีในการทำงานร่วมกันในอนาคต
“เราสนับสนุนโครงการ Plastic Waste to Value Southeast Asia Challenge ควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือสตาร์ตอัปอีก 358 รายในการขยายขนาดธุรกิจในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้จำนวนขยะพลาสติกลดลงไปแล้วเกือบ 148,000 เมตริกตัน” นายไซมอน บอลด์วิน หัวหน้าระดับโลกด้าน Circularity ของ SecondMuse กล่าว พร้อมทั้งเผยอีกว่า “SecondMuse มีความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าของขยะพลาสติกและส่งเสริมการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำต่อไป โดยมุ่งเน้นในการผลักดันความก้าวหน้าและนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาวิกฤตดังกล่าวนี้”
“วิธีแก้ปัญหาที่ใช้นวัตกรรมมีความสำคัญต่อการลดมลพิษจากพลาสติก ผู้ริเริ่มในการแก้ไขปัญหาที่สร้างผลกระทบและแรงบันดาลใจในวงกว้างคือประกายแห่งความหวังในการรับมือกับวิกฤตการณ์ด้านขยะพลาสติกที่กำลังจะมาถึงผ่านนวัตกรรม เราพร้อมที่จะสนับสนุนสุดยอดนักประดิษฐ์ขยายผลกระทบผ่านการส่งเสริมให้องค์กรเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจมากขึ้น ความเชี่ยวชาญ และโอกาสในการเรียนรู้ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่เกี่ยวข้องผ่านแพลตฟอร์มของ UpLink” นายพูนาม วาทีน ผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบของ UpLink กล่าว
“ทาง Alliance ได้สนับสนุนสตาร์ตอัปในภูมิภาคมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรขึ้นมา โดยได้เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการจำนวนมากที่บุกเบิกและสร้างสรรค์นวัตกรรมและรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงการจัดการขยะพลาสติกและการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ เรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนสตาร์ตอัปให้สามารถกำหนดรูปแบบการแก้ปัญหาที่มีความเป็นไปได้ในเชิงเทคนิคและเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุน การต่อยอดธุรกิจ และการขยายตัวต่อไป ทั้งนี้ โครงการของ The Incubation Network เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสตาร์ตอัปเป็นจำนวนมาก ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในภูมิภาค และสร้างแรงบันดาลใจให้เราขยายผลการทำงานต่อไป” นายนิโคลาส โคเลซช์ รองประธานโครงการ Alliance to End Plastic Waste กล่าว
๐ ผู้สนับสนุนเงินทุนโครงการ The Plastic Waste to Value Southeast Asia Challenge
โครงการดังกล่าวนี้ได้รับทุนจาก Alliance to End Plastic Waste และการสนับสนุนจาก SecondMuse, The Circulate Initiative, Global Affairs Canada และ DEFRA
ทั้งนี้ The Incubation Network เป็นโครงการที่เน้นแก้ปัญหาผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม โดยให้การสนับสนุนและต่อยอดวิธีการแก้ปัญหาที่ใช้นวัตกรรมแบบองค์รวมในการแก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศของผู้ประกอบการผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรที่หลากหลาย
The Incubation Network คือส่วนหนึ่งของชุมชนที่ทำงานร่วมกันระหว่างสตาร์ทอัปและผู้ประกอบการ นักลงทุน พันธมิตร และโครงการต่าง ๆ The Incubation Network ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเพื่อขจัดอุปสรรคในการแก้ปัญหาการรั่วไหลของพลาสติกและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงสนับสนุน และต่อยอดวิธีการแก้ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการลงทุนหรืออยู่ในระยะเริ่มต้น และเชื่อมโยงผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างห่วงโซ่คุณค่าในการจัดการของเสียและการรีไซเคิล
The Incubation Network ก่อตั้งขึ้นในปี 2562 จากความร่วมมือระหว่าง The Circulate Initiative ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร และ SecondMuse ซึ่งเป็นบริษัทที่เน้นด้านนวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลง The Incubation Network พร้อมร่วมมือกับผู้ที่สนใจเข้าร่วมเครือข่าย องค์กรธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงผู้ให้คำปรึกษา (Mentor) ที่ต้องการแก้ปัญหาการรั่วไหลของขยะพลาสติก และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้าน Global Plastic Action Partnership คือ กลุ่มพันธมิตรระดับโลกเพื่อต่อสู้กับมลพิษพลาสติก (Global Plastic Action Partnership: GPAP) เปิดตัวเมื่อเดือนกันยายน 2561 ณ งานการประชุมสุดยอดว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นส่วนหนึ่งของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ที่มีเป้าหมายในการเร่งสร้างผลกระทบด้านบวกภายใต้ข้อตกลงปารีสและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) GPAP ร่วมมือกับประเทศต่างๆ และพันธมิตรระดับโลกเพื่อส่งเสริมการเดินหน้าเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจพลาสติกใหม่ (New Plastics Economy) โดยจัดการที่ต้นเหตุของมลภาวะพลาสติก ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการบริโภคและการนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการปรับปรุงระบบการจัดการขยะที่ปลายน้ำ GPAP ได้ร่วมมือกับรัฐบาล หน่วยงานระดับภูมิภาค องค์กรระหว่างประเทศ และภาคธุรกิจ ตลอดจนนักนวัตกรรมและองค์กรภาคประชาสังคมบนแพลตฟอร์มความร่วมมือที่เป็นกลาง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มุ่งมั่นและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก
สำหรับ Alliance to End Plastic Waste (Alliance) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลก ที่มีภารกิจในการยุติปัญหาขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม ซึ่งมุ่งดำเนินโครงการและลงทุนในโซลูชันด้านนวัตกรรมเพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงการบริหารจัดการขยะพลาสติก โดย ณ เดือนมิถุนายน 2565 องค์กรได้ดำเนินโครงการมากกว่า 50 โครงการใน 30 ประเทศทั่วโลก