PwC เผยนักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แม้ยังขาดข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
44% ของนักลงทุนที่ถูกสำรวจกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควรเป็นภารกิจสำคัญห้าอันดับแรกของบริษัทต่างๆ
78% ของนักลงทุนเชื่อว่า ‘การฟอกเขียว’ หรือการอ้างเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและรักษ์โลก แต่ไม่ได้มีการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริง กำลังแพร่หลายในการรายงานความยั่งยืนขององค์กร
การให้ความสำคัญกับสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นวาระสำคัญสำหรับนักลงทุน โดยเกือบสองในสามกล่าวว่าผลตอบแทนจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น คือ แรงจูงใจที่สำคัญ
รายงานความยั่งยืนที่ได้มาตรฐานในประเทศไทย ยังคงจำกัดอยู่ในบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจกับต่างประเทศเท่านั้น
PwC เผยผลสำรวจ Global Investor Survey ประจำปี 2565 ของ PwC ระบุว่า นักลงทุนกำลังจัดการกับภารกิจสำคัญหลายอย่างด้วยข้อมูลที่มีจำกัด โดยแม้ว่าเงินเฟ้อ (67%) และความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค (62%) ถือเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดที่พวกเขามองว่า ธุรกิจจะต้องเผชิญในช่วง 12 เดือนข้างหน้า แต่นักลงทุนเกือบครึ่งหนึ่ง (44%) ที่ถูกสำรวจเชื่อว่า การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควรเป็นภารกิจสำคัญห้าอันดับแรกสำหรับธุรกิจ ตรงกันข้ามกับเปอร์เซ็นต์การจัดอันดับที่ต่ำกว่าของประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เช่น การปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน (27%) และการปรับปรุงความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของกำลังแรงงาน (25%) ขณะที่ลำดับความสำคัญสูงสุดสำหรับธุรกิจที่นักลงทุนระบุ คือ นวัตกรรม (83%) ตามมาด้วยการเพิ่มผลกำไร (69%)
๐ ประเด็นปัญหาความน่าเชื่อถือ
อย่างไรก็ดี นักลงทุนกำลังเผชิญกับสภาพแวดล้อมด้านข้อมูลข่าวสารที่ยุ่งยาก และมีระดับความน่าเชื่อถือในการรายงานความยั่งยืนขององค์กรที่ต่ำ นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่า รายงานขององค์กรประกอบด้วยการกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์เกี่ยวกับประสิทธิภาพและผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัท โดยสามในสี่ (78%) กล่าวว่า ‘คำกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์’ มีอยู่ในระดับปานกลาง มาก หรือมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้นเป็น 87% เมื่อรวมผู้ที่กล่าวว่า มีข้อมูลในระดับจำกัด และมีเพียง 2% เท่านั้นที่กล่าวว่า การรายงานขององค์กร ไม่มีคำกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์เกี่ยวกับประสิทธิภาพและผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน
นายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า ‘จริงอยู่ว่า นักลงทุนไทยเริ่มให้น้ำหนักกับรายงานความยั่งยืนกันมากขึ้น และถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ประกอบการพิจารณาการลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันนักลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในช่วงของการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับรายงานความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน แต่อย่างไรก็ดี รายงานความยั่งยืนของบริษัทไทยที่ได้มาตรฐาน ยังจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจ หรือเป็นคู่ค้ากับต่างประเทศเท่านั้น ดังนั้น การได้รับการตรวจสอบ ESG Assurance จากหน่วยงานหรือผู้สอบบัญชีที่น่าเชื่อถือ จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับรายการที่บริษัทได้ทำการเปิดเผยให้แก่นักลงทุน’
นอกจากนี้ ข้อมูลจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือด้าน ESG ก็ไม่ได้เติมเต็มช่องว่างของความน่าเชื่อถือนี้ โดยมีเพียง 22% ของนักลงทุนที่ถูกสำรวจที่กล่าวว่า พวกเขาใช้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่มาก หรืออย่างมาก
นายนาดจา พิคาร์ด หัวหน้ากลุ่มธุรกิจการรายงานทั่วโลก PwC ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า ‘เมื่อนักลงทุนเกือบแปดในสิบบอกเราว่า พวกเขาสงสัยว่าจะมีการฟอกเขียว [การฟอกเขียว (Greenwashing) คือ การทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาสร้างภาพลักษณ์ให้ผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเชื่อว่า สินค้า เป้าหมาย และนโยบายขององค์กร มีความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม] ในรายงานความยั่งยืนขององค์กร บริษัทและหน่วยงานกำกับดูแลควรต้องตระหนักในเรื่องนี้ การขาดความไว้วางใจกำลังเป็นเป็นปัญหา เนื่องจากข้อมูลด้านความยั่งยืนมีความสำคัญมากขึ้นต่อการตัดสินใจของทั้งนักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ จึงมีความจำเป็นที่บริษัทต่างๆ จะต้องปรับปรุงข้อมูล ระบบ และการกำกับดูแลของตนเอง ในส่วนของหน่วยงานกำกับดูแล ควรมุ่งเน้นไปที่การรายงานและมาตรฐานการรับรองรายงานที่สอดคล้องกันทั่วโลกและทำงานร่วมกันได้’
๐ การมุ่งเน้นด้านสภาพภูมิอากาศ เป็นภารกิจสำคัญเชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ นักลงทุนที่ถูกสำรวจเห็นว่า การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยสองในสาม (64%) กล่าวว่า การมุ่งเน้นการลงทุนด้าน ESG นั้น มาจากความปรารถนาที่ต้องการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน และ 68% กล่าวว่า การปกป้องผลตอบแทนจากการลงทุนก็เป็นแรงจูงใจเช่นกัน ขณะที่นักลงทุนมากถึง 82% กล่าวว่า เป็นการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า
ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึง การตระหนักเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้นในฐานะความเสี่ยงที่สำคัญที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจ โดยหนึ่งในห้า (22%) เชื่อว่า บริษัทต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นอย่างมากที่จะเผชิญกับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในอีก 12 เดือนข้างหน้า และเมื่อมองไปในช่วงเวลาห้าปีข้างหน้า ตัวเลขดังกล่าว ยังสูงขึ้นเป็น 37% ซึ่งเท่ากับความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (37%) และยังพบว่า ในช่วงระยะเวลาสิบปี การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน (50%) เกือบจะสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี (53%) เนื่องจากเป็นแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัย หรือมีนัยอย่างมากต่อความสามารถในการทำกำไร
นอกจากนี้ นักลงทุนยังสนับสนุนมาตรการนโยบายสาธารณะที่สำคัญเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยส่วนต่าง 28 คะแนน พวกเขามีแนวโน้มที่จะคิดว่า การจัดเก็บภาษีสำหรับกิจกรรมที่ไม่ยั่งยืนจะ ‘มีประสิทธิภาพ’ มากกว่า ‘ไม่มีประสิทธิภาพ’ ในการโน้มน้าวให้องค์กรต่างๆ ให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืน ขณะที่ส่วนต่างสำหรับการสนับสนุนให้มีข้อกำหนดการรายงานที่แข็งแกร่งอยู่ที่ 34 คะแนน และการให้เงินสนับสนุนเฉพาะกลุ่มอยู่ที่ 20 คะแนน
ขณะที่นักลงทุน (66%) กล่าวว่า บริษัทต่างๆ ควรเปิดเผยมูลค่าทางการเงินของ ‘ผลกระทบจากการดำเนินงานหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม หรือสังคม’ เนื่องจากจะช่วยให้บริษัทต่างๆ เข้าใจถึงผลทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ของการตัดสินใจทางธุรกิจของพวกเขา และมีเพียง 13% เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ เกือบสามในสี่ (73%) ของนักลงทุน ต้องการให้บริษัทต่างๆ รายงานต้นทุนเพื่อให้เป็นไปตามพันธสัญญาด้านความยั่งยืนที่พวกเขาได้ตั้งเป้าไว้
ด้านนายวิล แจ็คสัน-มัวร์ หัวหน้ากลุ่มธุรกิจ ESG ทั่วโลก PwC ประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ‘แม้ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ท้าทาย นักลงทุนเกือบครึ่งหนึ่งมองว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นภารกิจที่มีความสำคัญสูงสุดห้าอันดับแรกสำหรับธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ถือเป็นขั้นตอนสำคัญต่อการบรรลุความสำเร็จทางการค้าและการดึงดูดเงินทุน นักลงทุนคาดหวังให้ธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่จะช่วยเพิ่มผลกำไร สร้างความไว้วางใจ และส่งมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืนได้’
ทั้งนี้ ความน่าเชื่อถือในการรายงานความยั่งยืน ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักลงทุน ในเรื่องของการตรวจสอบและให้การรับรอง สามในสี่ (75%) ของนักลงทุนกล่าวว่า การให้การรับรองรายงานที่สมเหตุสมผล (ระดับที่ระบุในงบการเงิน) จะให้ความมั่นใจแก่พวกเขาในการรายงานความยั่งยืนขององค์กร นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีมุมมองที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาต้องการจากผู้ให้การรับรองรายงาน โดยเจ็ดในสิบ (72%) กล่าวว่า สิ่งสำคัญ คือ ผู้ให้การรับรองจะต้องมีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานทางจริยธรรม และ 73% เน้นย้ำถึงความสำคัญของการตั้งข้อสังเกตและสงสัยของผู้ประกอบวิชาชีพ โดยการมีความรู้เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการตรวจสอบ ถือเป็นคุณสมบัติอันดับแรก (78%) ที่นักลงทุนต้องการจากผู้ให้การรับรอง
นายเจมส์ ชาลเมอร์ส หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชีทั่วโลก PwC ประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ‘ข้อมูลที่แสดงความมั่นใจได้โดยอิสระ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนและผลการดำเนินงานของบริษัทในประเด็นสำคัญๆ เช่น ความยั่งยืน แต่การสร้างความไว้วางใจอย่างมีประสิทธิภาพ การตรวจสอบจะต้องมีคุณภาพสูง ด้วยมาตรฐานวิชาชีพที่แข็งแกร่ง และการผสมผสานระหว่างการตรวจสอบบัญชีและความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง’