นายอรรถพล เจริญชันษาอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่าพื้นที่ที่กรมอุทยานฯ ดูแลส่วนใหญ่ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ สาเหตุของการเกิดไฟไหม้ป่ามากที่สุดประมาณ 80% ไหม้ในป่าธรรมชาติและไหม้ในที่ทำกินที่อยู่ในเขตป่า
หากสามารถควบคุมจุดความร้อนไว้ได้ ไม่ให้ขยายออกไปมากหรือหากเกิดไฟไหม้แล้วสามารถดับได้อย่างรวดเร็ว จะทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น โดยเฉพาะ PM 2.5 ฉะนั้นช่วงก่อนถึงฤดูไฟไหม้ป่าใน 2 เดือนที่ผ่านมา กรมอุทยานฯ ได้จัดทำแนวกันไฟและการเอาเชื้อเพลิงไปใช้ประโยชน์ คือการจัดการเชื้อเพลิงก่อนถึงฤดูไฟ ในบางพื้นที่ที่จำเป็นต้องลดปริมาณเชื้อเพลิงและลดความต่อเนื่องของเชื้อเพลิง
สำหรับพื้นที่ที่ไหม้ซ้ำซากทุกปี ก็จะลดความรุนแรง โดยลดปริมาณเชื้อเพลิงด้วยการชิงเผาก่อน ซึ่งเป็นหลักวิชาการทางไฟป่า เรียกว่าชิงเผา เมื่อมาถึงฤดูไฟหากเกิดไฟขึ้นก็จะไม่รุนแรง แต่ตอนนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูไฟแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดลำปาง และเชียงใหม่ ซึ่งเริ่มมาแล้วประมาณ 15 วัน ตอนนี้เจ้าหน้าที่พยายามสับเปลี่ยนกำลังเนื่องจากมีกำลังคนจำกัด จึงนำกำลังทั้งหมดมาช่วยทำงานในพื้นที่ที่เกิดเหตุก่อน เช่น ที่ออบหลวง อมก๋อย แม่ตื่น แม่ปิง หรือแม้แต่สาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วจะย้ายคนไปเรื่อย ๆ ในพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์ ซึ่งถือเป็นเทคนิคของการปรับกำลัง ไม่ใช่กระจายกำลังไปทั่วทั้งหมดแต่เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ก็ดับไม่ได้เพราะต้องใช้คนเยอะ
อีกวิธีคือใช้เครือข่ายที่เป็นกลุ่มชุมชนคือประชาชนที่อยู่ติดกับพื้นที่ป่าให้ช่วยดูแล ซึ่งมีงบอุดหนุนชุมชนละ 50,000 บาท ให้ช่วยเข้ามาดูแลเฝ้าระวังไฟ หรือแม้แต่ดับไฟในกรณีเกิดเหตุช่วงเริ่มต้นก็สามารถดับได้ทันที ส่วนที่เหลือจะเป็นอาสาสมัครชุมชนที่ตั้งกันขึ้นมาเอง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการขอความร่วมมือจากประชาชนเพราะสาเหตุของไฟป่า 100% เกิดจากคน ที่จุดในพื้นที่ไร่ทำกินที่อยู่ในเขตป่า เผาไร่แล้วไม่ควบคุมก็ลุกลามเข้าป่า หรือจุดเพื่อล่าสัตว์ เพื่อเก็บหาของป่า หรือเพื่อบุกรุกป่า บางครั้งเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย มีการจับกุมมาก ก็อาจเกิดการโกรธแค้นจึงเผาป่าเพื่อกลั่นแกล้งเจ้าหน้าที่ ส่วนนี้ก็ต้องใช้มาตรการจากเบาและไปหาหนัก เริ่มด้วยการขอความร่วมมือก่อนจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ในกรณีที่เตือนแล้วไปแอบเผาก็ต้องจับกุมดำเนินคดี ซึ่งแต่ละปีสามารถจับได้นับร้อยคดี โทษสูงสุดปรับ 2 ล้านบาท หากความเสียหายมาก จะมีโทษจำคุกถึง 20 ปี
นายอรรถพล ย้ำว่า ขอฝากถึงประชาชนที่ทำการเกษตร แม้แต่ทำมาหากินที่อยู่ในพื้นที่ป่า ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าแล้ง อยากให้ช่วยระมัดระวัง หากไม่จำเป็นอย่าจุดไฟโดยเฉพาะการจุดไฟในป่า เพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับป่าไม่สามารถประเมินค่าได้ และในพื้นที่เกษตร ก่อนจะจุดไฟให้แจ้งผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันว่าสามารถจุดได้หรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะชี้แจงว่าสถานการณ์ขณะนั้นจุดได้หรือไม่ได้ หากจำเป็นต้องจุด จะมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมทำแนวกันไฟไม่ให้ลุกลาม หากทุกคนช่วยกันจัดระเบียบการเผา สภาพอากาศที่มีอากาศปิดและสามารถควบคุมไม่ให้การเผาเกิดขึ้นพร้อมกัน ก็จะทำให้คุณภาพอากาศไม่รุนแรง ค่า PM 2.5 เบาบางลง อย่างไรก็ตาม หากประชาชนพบเห็นเหตุลักลอบเผาป่า จุดไฟ ล่าสัตว์ สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล 1362