ก่อนวันแห่งความรักเพียงวันเดียว (วันวาเลนไทน์) คือ “วันรักนกเงือก” บทเรียนสอนความรัก การใช้ชีวิตคู่ แบบผัวเดียวเมียเดียวไปตลอดชีวิต เสมือนแบบอย่างเตือนใจให้มนุษย์รู้จักตระหนักคำว่า รักแท้นั้นฉันใด
ทว่าอีกมุมหนึ่งของนกเงือกที่สร้างประโยชน์มหาศาลต่อระบบนิเวศป่า สิ่งแวดล้อม รวมถึงมนุษย์โลก หลายคนยังไม่รู้ว่า “นกเงือก” คือกลไกสำคัญ ที่บ่งชี้ว่าป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด หากใครรู้แล้วก็เชื่อว่าจะทำให้คนหันมาใส่ใจถึงส่วนเล็กๆ ของผืนป่าที่ควรอนุรักษ์ไว้ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ที่ยั่งยืนของธรรมชาติสืบไป
เหตุผลดังกล่าว “มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก” คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มองถึงความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือก เป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนทั่วไป เข้ามาร่วมอนุรักษ์นกเงือก พร้อมกับได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น วันรักนกเงือกของประเทศไทย ที่เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 แต่ปีนี้งดจัดกิจกรรม แต่ว่าทุกท่านสามารถมีส่วนร่วม หรือเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยและอนุรักษ์นกเงือกได้ โดยสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากนกเงือก ร่วมอุปการะครอบครัวนกเงือก เข้าไปชมรายละเอียดได้ที่เพจเฟซบุ๊ก THAILAND HORNBILL PROJECT
อย่างไรก็ตามอยากย้ำให้รู้ว่า ผืนป่าในเขตร้อนที่มีความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย มาจนถึงปีนี้ เรายังมีนกเงือกอาศัยอยู่ถึง 13 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
- นกกก (Great Hornbill)
- นกเงือกกรามช้าง (Wreathed Hornbilll)
- นกแก๊ก (Oriental Pied Hornbill)
- นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว (White-throated Brown Hornbill)
- นกเงือกหัวแรด (Rhinoceros Hornbill)
- นกชนหิน (Helmeted Hornbill)
- นกเงือกหัวหงอก (White-crowned Hornbill)
- นกเงือกปากดำ (Black Hornbill)
- นกเงือกดำ (Black Hornbill)
- นกเงือกสีน้ำตาล (Brown Hornbill)
- นกเงือกปากย่น (Wrinkled Hornbill)
- นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Plain-pouched Hornbill)
- นกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill)
นกเงือก ไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ของรักแท้ หรือรักเดียวใจเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ระบบนิเวศของป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย ในวันรักนกเงือก จึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะทำให้เราหันมาตระหนักถึงส่วนเล็กๆ ของผืนป่าที่ควรอนุรักษ์ไว้ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ที่ยั่งยืนของธรรมชาติสืบไป