xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิสังคมสุขใจ ผนึกเครือข่ายเร่งขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ ตอบโจทย์ “BCG Economy Model”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มูลนิธิสังคมสุขใจ ร่วมกับภาคีเครือข่ายเดินหน้าตอบโจทย์ BCG Economy Model เผยภาพความเคลื่อนไหวในการผลักดันสังคมอินทรีย์ ทั้งที่ผ่านมา และทิศทางข้างหน้าของเครือข่ายสำคัญทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคมหรือชุมชน พร้อมเชิญชวนทุกคนร่วมงาน “รวมพลังขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ เพื่อเรา เพื่อโลก” กับงานสังคมสุขใจ ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ 2566 ณ สวนสามพราน จ.นครปฐม โดยมุ่งหวังกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนร่วมกันลงมือทำ ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนใดของห่วงโซ่คือต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้การขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ขยายวงกว้างและนำไปสู่สังคมแห่งความยั่งยืน

นายอรุษ นวราช เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ และนายกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย หรือ TOCA
นายอรุษ นวราช เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ และนายกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย หรือ TOCA กล่าวว่า การขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์สอดรับอย่างชัดเจนกับหลักการ "BCG Economy Model" ซึ่งใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกระแสโลก นั่นคือการพัฒนาที่ยั่งยืน เกษตรอินทรีย์เป็น BCG โดยปริยาย เพราะการทำเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องเดียวกันกับ Bio Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เนื่องจากทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ส่วน Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน คือการใช้ประโยชน์จากการหมุนเวียนทรัพยากรในแปลงเกษตร และGreen Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว คือการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม


“เราในฐานะสมาคมฯ และกลุ่มสามพรานโมเดลทำงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ภายใต้การสนับสนุนจาก ททท. และ สสปน. เราไม่ได้อยู่เฉพาะในจังหวัดนครปฐมเท่านั้น แต่ขยายพื้นที่ไปทำงานกับเกษตรกรทั่วประเทศ เชิญชวนให้เข้าร่วมใน TOCA Platform ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่มาช่วยให้ Demand กับ Supply ได้มาพบกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคก็สามารถค้นหาเกษตรกรอินทรีย์ และซื้อผลผลิตอินทรีย์ได้อย่างสะดวก หรือการไปเที่ยวฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ก็สามารถค้นหาผ่าน TOCA Platform นอกจากนี้ ยังมีการสะสมแต้มที่เรียกว่า Earth Point เมื่อใช้จ่ายหรือทำกิจกรรมผ่าน TOCA Platform ทำให้การขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ทำได้รวดเร็วขึ้น”


ด้านนายยงยุทธ สวนทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวถึงการขับเคลื่อน BCG Economy ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในวันนี้ว่า เนื่องด้วยจังหวัดนครปฐมมีความโดดเด่นด้านการเกษตร โดยมีพื้นที่เพาะปลูกรวมกว่า 6.5 แสนไร่ และมีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรในแต่ละปีรวมกว่า 4,500 ล้านบาท ซึ่งหนึ่งในแนวทางสำคัญตลอดหลายปีที่ผ่านมานั้น จังหวัดนครปฐมได้สนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ร่วมกับกลุ่มสามพรานโมเดล เพื่อยกระดับการพัฒนาการเกษตรของจังหวัดนครปฐมมาอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นได้ว่าภาคการเกษตรของจังหวัดนครปฐมมีการบูรณาการเชื่อมโยงตลอดทั้งห่วงโซ่ พร้อมทั้งมีการพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองแห่งอาหารปลอดภัยและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนสอดรับกับแนวทาง BCG Economy หรือเศรษฐกิจรักษ์โลก

นางสาวปิยพัชร์ วงศ์โดยหวัง ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานราชบุรี
ด้านนางสาวปิยพัชร์ วงศ์โดยหวัง ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานราชบุรี กล่าวถึง BCG Economy และการขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ว่าช่วยเกื้อหนุนด้านการท่องเที่ยวได้อย่างแน่นอน โดยหนึ่งในแผนกลยุทธ์หลักในปีนี้ของ ททท. คือเรื่องอาหาร ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทยอยู่แล้ว ทั้งยังมีความแตกต่างและสามารถนำเสนอเป็นจุดขายให้กับนักท่องเที่ยวได้อย่างดี ยกตัวอย่าง ผลผลิตต่างๆ ทางการเกษตร ซึ่งมีจำนวนมากเป็นสินค้า GI ที่โดดเด่นดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ เช่น จังหวัดนครปฐมมีส้มโอ จังหวัดราชบุรีมีสัปปะรดบ้านคากับมะพร้าวน้ำหอม เป็นต้น โดยนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติมักจะถามหาซิกเนเจอร์ หาความพิเศษหรือเอกลักษณ์ซึ่งที่อื่นไม่มี สินค้า GI นอกจากจะกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวอยากมาแล้ว ยังเป็นสินค้าที่เพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย ถือเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ

นางประหยัด ปานเจริญ เกษตรกรอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรอินทรีย์บางช้าง หนึ่งในเกษตรกรอินทรีย์ต้นแบบ หรือ “Organic Hero”
นางประหยัด ปานเจริญ เกษตรกรอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรอินทรีย์บางช้าง หนึ่งในเกษตรกรอินทรีย์ต้นแบบ หรือ “Organic Hero” ที่ร่วมขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์กับกลุ่มสามพรานโมเดลมาสิบสามปีตั้งแต่เริ่มแรก เล่าว่า ความสำเร็จจากการทำเกษตรอินทรีย์นอกจากจะปลดหนี้กว่า 7 แสนบาท ยังสามารถตั้งราคาผลผลิตได้เอง สำหรับก้าวต่อไปกำลังช่วยกลุ่มฝรั่งแปลงใหญ่ สนับสนุนเกษตรกร 30 ราย บนพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ เพื่อเปลี่ยนฝรั่งเคมีเป็นฝรั่งอินทรีย์ โดยจะช่วยแก้ปัญหาระยะปรับเปลี่ยน ในมีตลาดรับซื้อ เพื่อให้เกษตรกรมีกำลังใจที่จะเปลี่ยนแปลง

“ส่วนเรื่อง BCG ตอนแรกก็งงว่าเราจะไปทำอะไรได้ เพราะเราเป็นเกษตรกร เรียนจบ ป.7 แต่เมื่อได้เรียนรู้กับเขา กลายเป็นว่าเราทำได้เกือบครบ เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะในแปลง เราก็พยายามนำกลับมาหมุนเวียน อย่างการปลูกฝรั่ง ถ้ายอดไหนไม่ออกดอก ปกติต้องตัดทิ้งให้แตกใหม่ แต่เราตัดเอาใบกลางใบอ่อนไปทำเป็นชาใบฝรั่ง ส่วนผลที่ไม่สวยก็นำไปทำน้ำฝรั่งกับไวน์ฝรั่ง และต่อไปอาจจะมีฝรั่งผง เพราะเราต้องใช้เขาให้หมด แม้กระทั่งต้นที่ต้องตัดทิ้งเราก็เอาไปเผาเป็นถ่าน ซึ่งก็จะได้น้ำส้มควันไม้นำไปรักษาโรคพืช ป้องกันเชื้อรา ขี้เถ้านำไปทำน้ำด่างไล่แมลงศัตรูพืชได้ แม้กระทั่ง ใบมะพร้าวที่หล่นอยู่โคนต้นก็เอาเข้าเครื่องย่อยเพื่อทำปุ๋ย ระบบแบบนี้เราทำครบ ไม่ให้เกิดการสูญเสียหรือทำลายสิ่งแวดล้อม”


และเพื่อรวมพลังคนทั้งห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ เกษตรกร กลางน้ำคือ ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และปลายน้ำคือ ผู้บริโภค มาร่วมกันขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ มูลนิธิสังคมสุขใจ จึงผนึกกำลัง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) และ ภาคีภาครัฐและเอกชน เกษตรกรอินทรีย์ ร่วมกัน จัดงาน: ขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ เพื่อเรา เพื่อโลก กับงานสังคมสุขใจ ครั้งที่ 8 เปิดพื้นที่ให้มาพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซื้อขายสินค้า และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ในงานตื่นตากับ 8 ไฮไลท์กิจกรรม เต็มอิ่มกับองค์ความรู้มากมาย สนุกกับเวิร์คช็อปดีดี และช้อปสินค้าเกษตรอินทรีย์คุณภาพดีจากเครือข่ายทั่วประเทศกว่า 200 บูธ


เข้างานฟรี!! ระหว่างวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ 2566 ณ สวนสามพราน จ.นครปฐม ตั้งแต่ เวลา 09.00-17.00 น. สามารถสอบถามข้อมูลการเดินทางได้ที่ โทร 034 322 588-93 หรือติดตามกิจกรรมที่ Facebook/งานสังคมสุขใจ สวนสามพราน https://www.facebook.com/SangkomSukjai