xs
xsm
sm
md
lg

รุกหนัก!! เอสซีจี ชู 3 จุดเด่น ลุยธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจร หนุนเศรษฐกิจฟื้น มุ่งกลุ่มโรงงานใหญ่ทั่วอาเซียน ตั้งเป้าโต 4 เท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(จากซ้าย) นายวิสุทธ  จงเจริญกิจ Green Circularity Business Director และนายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด เอสซีจี
เอสซีจี รุกธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจร มุ่งลดต้นทุน แก้ปัญหาพลังงานและค่าไฟพุ่งสูง หนุนเศรษฐกิจอาเซียนฟื้นตัว พร้อมรองรับเมกกะเทรนด์รักษ์โลก ปักธง “เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่” ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ชู 3 จุดเด่นขยายธุรกิจ มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้านิคมอุตสาหกรรม โรงงาน และบริษัทขนาดใหญ่ ตั้งเป้าโต 4 เท่าในปีนี้ พร้อมเดินหน้าพัฒนาเม็ดพลังงานชีวมวลคุณภาพสูง จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงทดแทน

นายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กล่าวถึงแนวทางขยายธุรกิจพลังงานสะอาดว่า จากความสำเร็จของเอสซีจีในการลดต้นทุนด้วยการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตท่ามกลางวิกฤตต้นทุนพลังงานและค่าไฟฟ้าพุ่งสูง ประกอบกับความเชี่ยวชาญ ทำให้สามารถต่อ
ยอดเป็น “ธุรกิจให้บริการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดครบวงจร” โดยมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่ใช้ไฟฟ้าปริมาณมากและต่อเนื่อง แต่ต้องการลดต้นทุนค่าไฟฟ้า อาทิ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เครือข่ายโรงงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และโรงพยาบาล โดยมี 3 จุดเด่นที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

Solar Robot Cleaning (หุ่นยนต์ทำความสะอาดแผงโซลาร์ และ Drone Inspection (โดรนสำรวจแผงโซลาร์)
ข้อแรก “ซื้อ-ขายไฟ Smart Grid” สร้างความคุ้มค่า เพราะการลดต้นทุนพลังงานจากกระแสไฟฟ้าที่ผลิตโดยแผงโซลาร์ซึ่งติดตั้งทั้งบนพื้นดิน หลังคา ผืนน้ำ และที่ดินว่างเปล่า และสามารถซื้อ-ขายไฟฟ้าได้ เมื่อผลิตเกินความต้องการใช้ด้วยการใช้นวัตกรรมระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid)

ข้อสอง “คู่คิดครบวงจร” อำนวยความสะดวก ด้วยทีมวิศวกรมืออาชีพที่ให้คำปรึกษาทั้งก่อนและหลังติดตั้งแผงโซลาร์ตลอดอายุสัญญา อาทิ การขออนุญาตติดตั้งแผงโซลาร์ การคำนวณต้นทุนกับกำลังการผลิตที่เหมาะสม และการซ่อมบำรุง

ข้อสาม “ดูแลทุกขั้นตอนด้วยโรบอท” สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ด้วยเทคโนโลยีโดรนบินสำรวจแผงโซลาร์ที่ชำรุด (Drone Inspection) แจ้งเตือนให้ซ่อมบำรุง และหุ่นยนต์ทำความสะอาดแผงโซลาร์ (Robot Cleaning)

สำหรับโอกาสการขยายธุรกิจในต่างประเทศมองว่า ประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะอินโดนีเซียและเวียดนามมีความเป็นไปได้อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาถึงปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ อาทิ นโยบายและกฎระเบียบของภาครัฐ เป็นสำคัญ นอกเหนือจากความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

ระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจริยะ Smart Grid ที่กลุ่มบริษัท สหยูเนี่ยน บางปะกง
นายอรรถพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ มีฐานลูกค้าหลักซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำขนาดใหญ่ทั้งในไทยและอาเซียน อาทิ โตโยต้า ศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย และกลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน บางปะกง โดยสามารถช่วยลดต้นทุนพลังงานร้อยละ 30 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 3,700 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี มีกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์รวมกว่า 234 เมกกะวัตต์ แบ่งเป็น การผลิตเพื่อใช้ในกลุ่มเอสซีจีประมาณ 200 เมกกะวัตต์ และกลุ่มลูกค้า 30 เมกกะวัตต์ โดยตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนของลูกค้าเป็น 4 เท่าภายในปี 2566 ปัจจุบันมีลูกค้าที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้และกำลังจะดำเนินการ เช่น โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลเปาโล และธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทฯ มีการจัดเตรียมงบลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เม็ดพลังงานชีวมวล (Energy Pellet)
ด้านนายวิสุทธ จงเจริญกิจ Green Circularity Business Director เอสซีจี กล่าวถึงแนวทางธุรกิจพลังงานทางเลือกว่า เพื่อลดการใช้พลังงานที่มีราคาพุ่งสูง ประกอบกับประเทศไทยมีเศษวัสดุทางการเกษตรมากมาย เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย เปลือกข้าวโพด ประมาณ 21 ล้านตันต่อปี หากกำจัดด้วยวิธีการเผาจะก่อให้เกิดมลภาวะทั้งหมอก ควัน ฝุ่นละออง PM 2.5 และภาวะโลกร้อน เอสซีจีจึงนำความเชี่ยวชาญด้านพลังงานโดยใช้เทคโนโลยีการบีบอัดเศษวัสดุที่ทันสมัยให้เป็นเม็ดพลังงานชีวมวล (Energy Pellet) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน 

ที่ผ่านมา เอสซีจีได้รับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกว่า 300,000 ตัน ทั้งใบอ้อย เปลือกข้าวโพด รากยางพารา ฟางข้าว แกลบ และอื่นๆ จากพื้นที่จังหวัดรอบโรงงานปูนซีเมนต์ในจังหวัดสระบุรี ลพบุรี กาญจนบุรี อยุธยา ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย นครศรีธรรมราช นครราชสีมา ซึ่งในปี 2565 เอสซีจีสามารถเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนเป็นร้อยละ 34 จากร้อยละ 26 ในปีก่อน และเร่งพัฒนาชีวมวลในหลายรูปแบบ ทั้งเม็ดพลังงานชีวมวลประสิทธิภาพสูง (High Efficiency Renewable Fuel) ด้านการใช้งาน และค่าพลังงาน เพื่อขยายเป็นธุรกิจในอนาคต

ทั้งนี้ การขยายธุรกิจพลังงานสะอาดของเอสซีจี ทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวมวลจะมีศักยภาพสูง ตอบโจทย์ความคุ้มค่าและความสะดวกของลูกค้าตามเมกกะเทรนด์รักษ์โลก พร้อมทั้งแนวทาง ESG 4 Plus ของเอสซีจีและเครือข่ายผู้ประกอบการต่างๆ จะมีส่วนร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ตามเป้าหมายของประเทศไทยและของโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น