อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง แจ้งความคืบหน้า "การติดตามสำรวจประชากร “วาฬบรูด้า” สัตว์ทะเลหายากที่เข้ามาหากินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง"
โดยพบวาฬบรูด้า จำนวน 3 ตัว คือ แม่วันดีกับเจ้าวันรุ่งซึ่งเป็นลูกที่เกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 และอีกตัวยังไม่ทราบชื่อ (ชมคลิป)
จากกรณีที่ นายสาธิต ตันติกฤตยา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ได้รับรายงานการพบ ”วาฬบรูด้า” จำนวน 2 ตัว เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการออกสำรวจติดตามประชากรวาฬบรูด้าในพื้นที่ฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อการจัดเก็บข้อมูลสถิติสัตว์ทะเลหายากรวมทั้งประชาสัมพันธ์ป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนต่อการดำรงชีวิต จากเรือนำเที่ยวหรือกิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ฯ
เมื่อวานนี้ (3 ก.พ.66) เวลาประมาณ 10.30 น. ได้สำรวจพบวาฬบรูด้าเข้ามาหากินในพื้นที่ฯ รวมจำนวน 3 ตัว จึงได้ตรวจสอบรายชื่อโดยเปรียบเทียบอัตลักษณ์กับฐานข้อมูลการจำแนกประชากรวาฬบรูด้าในอ่าวไทย ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยสองตัวพบว่าเป็นแม่วันดีกับเจ้าวันรุ่ง ซึ่งเป็นลูกที่เกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 และอีกตัวยังไม่สามารถระบุอัตลักษณ์
ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลในอดีตพบว่ามีวาฬบรูด้าเข้ามาหากินในพื้นที่เฉลี่ย 1-2 ตัว ต่อปี จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงมีการประกาศปิดการท่องเที่ยวและพักแรมในอุทยานแห่งชาติ ในช่วงปี 2563 – 2564 ทำให้ระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติได้รับการฟื้นฟู ซึ่งในช่วงต้นปีจะเป็นฤดูกาลที่วาฬบรูด้าเข้ามาหากินอย่างต่อเนื่อง
โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2564 พบวาฬบรูด้าเข้ามาหากินในพื้นที่ร่วม 4 ตัว คือ แม่วันดี เจ้าวันหยุด เจ้าอิ่มเอม และเจ้าเปรมปรีดิ์ และในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 พบวาฬบรูด้าเข้ามาหากินในพื้นที่ร่วม 6 ตัว คือ เจ้าเปรมปรีดิ์ เจ้าสาคู เจ้าเมษา แม่สดใสและลูกชื่อเจ้าแสนดี และอีกตัวไม่ทราบชื่อ
"น่าติดตามว่าจะมีวาฬบรูด้าเข้ามาหากินเพิ่มเติมหรือไม่และจะเวียนว่ายหากินอยู่ในพื้นที่นานเท่าไหร่ ซึ่งนอกจากจะชี้วัดได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติแล้ว ยังสะท้อนให้เกิดกระแสด้านการอนุรักษ์ การดึงดูดการท่องเที่ยว จึงต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้ร่วมกันปฏิบัติตามกฎ/ระเบียบ ตลอดจนข้อแนะนำของอุทยานแห่งชาติในการเดินเรือ การประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวและอื่นๆอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยกันดูแลสัตว์ทะเลหายาก
จึงขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้ร่วมกันปฏิบัติตามกฎ/ระเบียบ โดยเฉพาะจากข้อแนะนำของอุทยานแห่งชาติในการเดินเรือ การประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวและอื่นๆ อย่างเคร่งครัด เนื่องจากวาฬบรูด้าเป็นสัตว์ทะเลหายาก ถือเป็นทรัพยากรล้ำค่าของท้องทะเลอ่าวไทยที่เราควรร่วมปกป้องรักษาให้ยั่งยืนตลอดไป”
อ้างอิง ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช