xs
xsm
sm
md
lg

“น้องดงตาล” เด็กพะยูนเกาะหลังเต่า จากไปแล้ว!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ลูกพะยูนน้อยได้แม่ใหม่เป็นเต่าตนุ” ชื่อว่า “ดงตาล”ขณะกำลังว่ายเกาะอยู่บนหลังเต่าตนุ บริเวณอ่าวดงตาล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี กลายเป็นอีกภาพแห่งความประทับใจในท้องทะเลไทย หลังมีคนโพสต์จำนวนมากแสดงความปลื้มใจที่น้องพยายามมีชีวิตให้รอดได้ ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง และมนุษย์คือปัจจัยตัวแปรสำคัญที่ก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศทะเล

แต่แล้วผ่านมาได้ 2-3 วันเท่านั้น เรื่องก็จบด้วยความเศร้าใจ เมื่อวานนี้ (3 ก.พ.2566) มีรายงานผ่าน เพจเฟซบุ๊ค Bee
Saegung
และ Sakanan Plathong โดยอาจารย์บอย ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง แห่งภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่า “น้องดงตาลจบชีวิต เพราะติดอวนของชาวประมง”


เด็กพะยูนติดอวน
ก็คือเด็กพะยูนที่จมน้ำ


เด็กพะยูนน้อยที่เราเพิ่งพาเค้ามาแนะนำตัวให้หลายๆ คนได้เห็นความน่ารัก ความอ้วนท้วนแข็งแรงของเค้า ว่ายออกจากดาวโลกของเราไปตั้งแต่วันที่พวกเราได้เห็นภาพว่ายน้ำสนุกสนานปีนป่ายกับผู้เฒ่าเต่าแล้ว

สิ่งที่ทำให้หมดพลังในวันนี้คือ การที่ได้เห็นเด็กพะยูนน้อยเพิ่งได้กินหญ้าทะเลกับผู้เฒ่าเต่าเป็นอาหารหลัก ฉลาดพอที่จะเอาตัวรอดมีสุขภาพดี ร่างกายสมบูรณ์แม้ไม่มีแม่คอยตามติดดูแลมาได้เกือบสองเดือน ต้องมาจากไปง่ายๆ ด้วยอวนที่ใช้จับสัตว์น้ำนั่นเอง..

พะยูนติดอวน ไม่ใช่แค่มีแผล ไม่ใช่แค่เลือดออก...
เด็กพะยูนติดอวน คือเด็กพะยูนที่จมน้ำ
พะยูนจมน้ำได้ด้วยเหรอ ว่ายน้ำเก่งขนาดนี้..

เพราะว่าพะยูน ต้องขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำทุกๆ 1-2 นาที การที่เด็กพะยูนติดพันอยู่กับอวนใต้ผิวน้ำ ทำให้น้องไม่สามารถว่ายขึ้นมาที่ผิวน้ำเพื่อหายใจได้ ยิ่งดิ้นรนยิ่งติดพันและสุดท้าย ก็หายใจเอาน้ำทะเลจมน้ำไปเช่นนั้นเอง..
โดยส่วนตัวเชื่อว่าเจ้าของอวนก็เสียใจในสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นกัน คนที่รักทะเล หายากนักที่จะไม่เอ็นดูและรักในความจ้ำม่ำใสซื่อของพวกเค้า..

จากวันนี้ไป ถ้าเธอผ่านไปที่ถนนเลียบทะเล ของอ่าวดงตาลที่สัตหีบ
เธอจะเห็นรูปหล่อพะยูนแม่ลูกสองตัว ที่มีลูกพะยูนน้อยเกาะหลังแม่พะยูนอยู่
ถ้าเธอเห็นเค้า ฝากเธอนึกถึงเด็กพะยูนน้อยกับแม่ของเค้า และผู้เฒ่าเต่า...
และฝากเธอดูแลทะเลด้วย
ทะเลที่เป็นบ้านของพวกเค้า
เป็นอาหารมิชลินของพวกเค้า
เป็นสายน้ำที่พาร่างเค้าลอยมาหาเรา

และฝากเธอคิดถึง เด็กพะยูนน้อย น้องดงตาล น้องมาเรียม และอีกหลายๆ น้องด้วยนะจ๊ะ....
อยากเห็นหนูโตจัง.....


ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกผ่านเพจส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ด้วยความเศร้าใจว่า

มันเป็นเรื่องเศร้า จึงต้องทำใจก่อนเขียน
ลูกพะยูน “ดงตาล” จากไปแล้วครับ เธอคือตัวที่เจอกับคุณลุงเต่าที่ผมเพิ่งเขียนเรื่องไปเมื่อ 3-4 วันก่อน
ดงตาลเป็นลูกพะยูนเพศผู้ อาศัยอยู่ในอ่าวสัตหีบกับแม่เมื่อปีก่อน
แม่ลูกอยู่ด้วยกันแสนสุข แต่มันไม่ยืนยาว
เมื่อต้นเดือนธันวาคม แม่พะยูนตาย เกยตื้นที่สัตหีบ
หลายคนเชื่อว่าเป็นแม่ของดงตาล เพราะหลังจากนั้นมีรายงานว่าพบลูกพะยูนอยู่เพียงลำพังในอ่าวสัตหีบ
มีข่าวเป็นระยะ เช่น เจอพะยูนอยู่กับเต่า จนท้ายสุด มีการสำรวจร่วมกันระหว่างทหารเรือกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องพะยูน ทำให้เกิดภาพและเรื่องราวที่เขียนให้เพื่อนธรณ์อ่าน
ตอนที่ผมเขียน ผมก็พอทราบอยู่ว่าโอกาสที่ดงตาลจะรอดมีน้อยยิ่งกว่าน้อย
ดงตาลยาวแค่เมตรเดียว ยังไม่น่าจะหย่านม อยู่เพียงลำพัง ธรรมชาติโหดร้าย
แต่อาจไม่โหดเท่ามนุษย์ที่ “อาจ” เป็นสาเหตุทำให้แม่ดงตาลจากไป จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ
และจุดจบไม่ใช่แค่ดงตาล เรื่องเศร้ายังอาจไม่ถึงคำว่าจบบริบูรณ์


รายงานของกรมทะเลในพ.ศ.2565 ที่สัตหีบมีพะยูน 5 ตัว 
เดือนกันยายน ปีก่อน ตาย 1 ตัว
เดือนธันวาคม ปีก่อน ตาย 1 ตัว (อาจเป็นแม่ดงตาล)
เดือนกุมภาพันธ์ ดงตาลตาย
แม้ข้อมูลจากกรมทะเลบางส่วนเป็นการประเมิน อาจไม่ใช่ 5 เป๊ะๆ แต่ก็คงคลาดเคลื่อนไม่มาก
ในเวลา 6 เดือน พะยูนตาย 3 ตัว คงไม่ใช่เรื่องดีเลย
สถานการณ์พะยูนที่สัตหีบกำลังวิกฤตถึงขีดสุด และหากเรายังไม่ทำอะไร
คำว่าจบบริบูรณ์อาจมาถึงอย่างแท้จริง…


หมายเหตุ - ตอนนี้คณะประมง มก. กำลังทำแผนโลมา 14 สุดท้ายที่สงขลา พะยูนตรัง โลมาสีชมพูดอนสัก/ขนอม ร่วมกับกรมทะเลและหลายหน่วยงาน พอเสร็จจากนี้อาจมีส่วนนำไปประยุกต์ใช้ได้ครับ จะพยายามครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น