xs
xsm
sm
md
lg

“ฤดูวางไข่” เต่าหญ้า-เต่ามะเฟือง ยังเสี่ยงสูญพันธุ์ ‘กรมทะเล’ แนะขั้นตอนช่วยเหลือเต่าเกยตื้น!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ช่วงนี้เป็นฤดูกาลที่แม่เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ ตามชายหาดทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน สะทัอนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในบ้านเราที่เพิ่มขึ้น แต่เต่าหญ้า-เต่ามะเฟือง ในท้องทะเลไทยยังสุ่มเสี่ยงสูญพันธุ์ ‘ดร.ธรณ์’ ย้ำทุกคนช่วยเต่าได้ ถ้าลดขยะพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง


กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เผยภารกิจหนึ่งที่สำคัญของเต่าทะเล คือ การวางไข่ แม่เต่าทะเลจะขึ้นมาวางไข่บริเวณชายหาดที่เงียบสงบ ซึ่งในช่วงฤดูวางไข่แม่เต่าสามารถขึ้นวางไข่ได้มากถึง 10 ครั้ง ในทุกๆ 10-12 วัน และจะกลับมาวางไข่ในทุกๆ 2-4 ปี โดยมีอัตรารอดของลูกเต่าเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์เต่าทะเลได้เพียง 1 ใน 1,000 ตัวเท่านั้น
จะเห็นว่ากว่าลูกเต่าทะเลตัวน้อยๆ เติบโตจนกลายเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้นั้นมีโอกาสน้อยมาก ด้วยหลากหลายสาเหตุปัจจัยในระบบนิเวศทะเลที่ส่งผลต่อการรอดชีวิตของเต่าทะเล ดังนั้นบทบาทที่สำคัญต่อการอนุรักษ์เต่าทะเล ตกมาอยู่ที่มนุษย์ โดยเฉพาะชุมชน ผู้อยู่อาศัยตลอดแนวชายฝั่งทะเลที่แม่เต่าขึ้นมาวางไข่
กรม ทช. แนะนำการช่วยเหลือเต่าทะเล หากพบว่าแม่เต่าติดอวน เบ็ด หรือเกยตื้น และยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ สามารถรีบช่วยได้ทันทีตามวิธีการที่ถูกต้อง และปล่อยคืนสู่ทะเล (ดูภาพ : การช่วยเหลือเต่าทะเลเกยตื้นเบื้องต้น) แต่ถ้าต้องการความช่วยเหลือ ให้รีบแจ้งกรม ทช. หรือสายด่วน 1362 หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นเพื่อประสานหน่วยงานมาที่กรม ทช. ในแต่ละพื้นที่ต่อไป

เผย “เต่าหญ้า-เต่ามะเฟือง” ยังสุ่มเสี่ยงสูญพันธุ์

ปัจจุบันเต่าหญ้าและเต่ามะเฟือง เป็น 2 ใน 5 ชนิดในท้องทะเลไทย ยังอยู่ในภาวะวิกฤตที่ใกล้สูญพันธุ์ ส่วนเต่าตนุและเต่ากระมีแนวโน้มลดลงอย่างช้าๆ อย่างต่อเนื่องเช่นกัน เนื่องจากแหล่งวางไข่เต่าตนุและเต่ากระทั้งในอ่าวไทย และเกาะหูยงทางฝั่งทะเลอันดามัน ล้วนอยู่ในความดูแลของทหารเรือ ผู้คนทั่วไปไม่สามารถขึ้นเกาะได้หากไม่ได้รับอนุญาต

นั่นทำให้ปัญหาเรื่องการลักลอบเก็บไข่เต่าทะเลเกิดน้อยมาก แต่ปัญหาใหญ่มาจากการประมงที่หนาแน่นมากในอ่าวไทย และมีการประมงหลายชนิดที่ขาดความรับผิดชอบและเป็นอันตรายต่อเต่าทะเล นอกจากนั้นยังมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้เกิดการเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่งทะเล เช่น ปริมาณของขยะผลิตภัณฑ์พลาสติกในทะเล การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลต่อแหล่งอาศัยและแหล่งอาหารของเต่าทะเลอย่างต่อเนื่องและทำให้กระทบโดยตรงต่อประชากรเต่าทะเล 

ส่วนทางฝั่งทะเลอันดามันปัญหาใหญ่ที่สุดในเรื่องของการพัฒนาการท่องเที่ยว ทำให้แหล่งวางไข่เต่าทะเลส่วนใหญ่ ซึ่งมีหาดทรายที่สวยงาม ถูกบุกรุกเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และไม่มีความเหมาะสมในการเป็นแหล่งวางไข่เต่าทะเลอีก นั่นที่ทำให้เต่าทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว


ดร.ธรณ์ ย้ำทุกคนร่วมมือช่วยได้ แค่ “ลดขยะทะเล”

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า ช่วงฤดูเต่าวางไข่ในอันดามันตั้งแต่เดือน ต.ค.-ก.พ. ซึ่งหาดไม้ขาวและหาดท้ายเหมืองนั้นเป็นสองหาดสำคัญของประเทศไทยที่มีเต่าขึ้นมาวางไข่ โดยปัจจุบันเต่าหญ้าคือเต่าทะเลหายากที่สุดของไทย

“เต่าทะเลเกือบทั้งหมดประสบชะตากรรมจากขยะทะเล เช่น เศษอวน พลาสติก ฯลฯ ติดที่ขา รัดบาดลึกที่คอ ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่จะตาย แต่ก่อนตายถามว่าทรมานมั้ย ขอตอบว่ามาก เต่ายังไม่ตายหายใจได้เรื่อยๆ แต่เธอไปไหนไม่ได้ ได้แต่ลอยไปกับเศษขยะ หลายต่อหลายวันแดดแผดเผา แผลบาดลึกลงเรื่อยจนบางครั้งขาแม่เต่าขาด พวกเธอมาถึงหาดที่เธออยากมาให้กำเนิดลูกน้อย แต่มาในสภาพของซากศพหรือใกล้ตายเต็มที สภาพที่จบชีวิตเต่าทะเล คือติดขยะหรือกินขยะจนตาย”

"ถ้าเราช่วยกันเพียงลดปริมาณการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ท่านย่อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็ต้องพยายามในส่วนของเราให้ดีที่สุด ช่วยกันลดขยะพลาสติก สนับสนุนสินค้าทางเลือกจากการรีไซเคิลหรือ Upcycling เพื่อให้การตลาดขยับไปข้างหน้าได้ แม้ว่าผลิตภัณฑ์จะหาซื้อยาก แต่เชื่อว่าอีกไม่นานคงมีวางจำหน่ายมากขึ้นครับ”


กำลังโหลดความคิดเห็น